7 เม.ย. 2565 - นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 หลังใช้บังคับครบ 5 ปีเมื่อ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดดังนี้
5 ปี 5 อัปลักษณะ รัฐธรรมนูญ 2560
วันนี้ วันที่ 6 เมษายน ครบรอบ 5 ปีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อมาถึงวาระครบรอบ 5 ปี ก็ควรทบทวนถึงอัปลักษณะ 5 ประการ หรือ “เบญจอัปลักษณะ” ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้
อัปลักษณะ 1 รัฐธรรมนูญที่ทำให้สิ่งซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญกลับชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ 2560 มีบทบัญญัติที่ทำลายหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ รับรองให้การใช้อำนาจของระบอบ คสช.นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปตลอดกาล หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นกระบวนการที่ทำให้สิ่งซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญกลับชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือ “Constitutionalisation of Unconstitutionality”
รัฐธรรมนูญ 2557 มาตรา 47 ได้รับรองให้บรรดาประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2557 เสมอ และในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 ก็ตามมารับรองต่อเนื่องไปอีกว่า อะไรที่รัฐธรรมนูญ 2557 รับรองให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2557 ก็ให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย
ทำให้บุคคลไม่อาจโต้แย้งว่าการกระทำเหล่านี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายได้เลย ในขณะที่ศาลทั้งหลายต่างไม่รับฟ้องกรณีเหล่านี้ โดยอ้างมาตรา 279 ว่ารับรองให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายไว้หมดแล้ว ดังนั้น แม้การกระทำเหล่านี้จะมีเนื้อหาที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ไม่ยุติธรรม การกระทำเหล่านี้ก็ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายเสมอ กรณีเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ อยู่เหนือระบบกฎหมายทั้งหมด
กลายเป็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ทุกมาตราตั้งแต่มาตรา 1 ถึง 279 ใช้กับทุกการใช้อำนาจ เว้นแต่ การใช้อำนาจของ คสช.
กลายเป็นว่า ทุกการใช้อำนาจมีโอกาสขัดรัฐธรรมนูญ 2560 เว้นแต่ การใช้อำนาจของ คสช. ไม่มีวันขัดรัฐธรรมนูญ 2560 เลย
อัปลักษณะ 2 รัฐธรรมนูญไม่ตรงปก
ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 พยายามโฆษณาชวนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” แต่เมื่อนำมาใช้ในทางปฏิบัติ การโกงก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ดังรายงานขององค์กรนานาชาติได้สำรวจไว้ ตรงกันข้าม มันกลับถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ เลือกปฏิบัติ ใช้ปราบปรามนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม
เรื่องไม่ตรงปกอีกประการหนึ่ง ก็คือ มีการอวดอ้างกันใหญ่โตว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านการออกเสียงประชามติมาทำให้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยสูง จนอุปโลกน์กันว่าเป็น “รัฐธรรมนูญของประชาชน” แต่หากสำรวจอย่างละเอียดแล้ว จะพบว่า เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการออกเสียงประชามติไม่ตรงกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะ ภายหลังการออกเสียงประชามติและการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับ “คำถามพ่วง” แล้ว นายกรัฐมนตรีได้ทูลเกล้าฯให้กษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แต่ในระหว่างอยู่ในขั้นตอนการลงพระปรมาภิไธยนั้น ในวันที่ 10 มกราคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงข่าวถึงความจำเป็นในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านการออกเสียงประชามติและกำลังอยู่ในขั้นตอนการลงพระปรมาภิไธยได้อีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าภายหลังทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งลงมาให้แก้ไขใหม่ในบทบัญญัติที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจ จากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 เสียใหม่ เพื่อกำหนดรับรองกรณีพระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดได้ และเพื่อเปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมาเพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกต
เป็นอันว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีเนื้อหาในหลายส่วนที่ไม่ตรงกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการออกเสียงประชามติ และส่วนที่ไม่ตรงนั้น ก็เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามพระราชกระแสรับสั่งของในหลวงรัชกาลที่ 10
การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่มี “ประชาชน” อยู่ในกระบวนการตามที่โฆษณาอวดอ้าง เพราะ คสช.เป็นผู้กำหนดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญไว้ทั้งหมดในรูปของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ตั้งแต่เลือกบุคคลมาเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดทิศทางการยกร่าง และยังมีอำนาจในการริเริ่มให้เปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญกลับไปกลับมาถึง 4 ครั้ง
ถึงแม้ คสช.ยินยอมให้มีการออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ แต่การออกเสียงประชามติดังกล่าวก็ไม่ได้ตามมาตรฐานประชาธิปไตย ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการรณรงค์ได้อย่างเต็มที่ ฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอยู่ภายใต้ข้อจำกัดมากกว่าฝ่ายรับร่างรัฐธรรมนูญ ข้อจำกัดเหล่านี้ปรากฏให้เห็นในรูปของบทลงโทษในกฎหมายการออกเสียงประชามติ คำสั่งหัวหน้า คสช. การใช้กำลังทางทหารเข้าควบคุมการจัดกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ด้วยลักษณะเช่นนี้ กระบวนการที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่การออกเสียงประชามติ ผลของประชามติที่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่มติของประชาชน ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการเรียกหา “ประชาชน” เพื่อใช้อ้างว่ารัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมเท่านั้น
อัปลักษณะ 3 รัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจระบอบ คสช.
รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นผลพวงจากรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 เมื่อคณะรัฐประหารต้องการเปลี่ยนรูปโฉมอัปลักษณ์จากรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารให้กลายเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงจำเป็นต้องวางกลไกการสืบทอดอำนาจของตนไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อประกันว่าพวกตนจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง
กลไกการสืบทอดอำนาจ ก็ได้แก่ วุฒิสภาใน 5 ปีแรก มีสมาชิก 250 คนมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. และมีอำนาจเลือกบุคคลไปเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อกำหนดไว้เช่นนี้ กลไกแบบ “ผลัดกันเกาหลัง” ก็เกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.ตั้ง ส.ว.แล้ว ส.ว.เหล่านี้ก็มาเลือกพล.อ.ประยุทธ์ กลับไปเป็นนายกรัฐมนตรีอีก
นอกจากนั้น สนช.ที่มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. ยังมีโอกาสทำงานสำคัญ “ทิ้งทวน” อีกหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นการปั๊มกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญออกมา หรือการแต่งตั้งบุคคลไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เมื่อ สนช.หมดสภาพไป หน้าที่เหล่านี้ก็ตกเป็นของ ส.ว.ที่หัวหน้า คสช.ตั้งขึ้น วุฒิสภาชุดสืบทอดอำนาจมีอำนาจเลือกคนไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกลุ่มกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ โดยไม่ต้องผ่านทีละสภา
อัปลักษณะ 4 รัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่ใช่ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกชี้นำทั้งด้านกระบวนการจัดทำและด้านเนื้อหาโดย คสช. และอำนาจประกาศใช้แบบ Final Say อยู่ที่กษัตริย์ แม้ประชาชนจะได้ออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นเพียง “การแต่งองค์ทรงเครื่อง” เพื่อทำให้ดูดีขึ้นเท่านั้น เพราะ ในท้ายที่สุด แม้ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะผ่านการออกเสียงประชามติ แต่จะได้ประกาศใช้และมีผลบังคับใช้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจลงพระปรมาภิไธยของกษัตริย์เท่านั้น
อัปลักษณะ 5 รัฐธรรมนูญที่สร้าง “กรงขัง” มิให้ใครมาแก้ไขเปลี่ยนแปลง เว้นแต่พวกตนเองต้องการแก้ไขหรืออนุญาตให้แก้ไข
ในหมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กำหนดกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ยากอย่างยิ่ง ในวาระที่หนึ่ง ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภารวมกัน และจะต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา ซึ่งหมายความว่าแม้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่หรือทั้งหมดเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่หากมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบน้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก็ไม่อาจผ่านวาระที่หนึ่งไปได้ และหากร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมผ่านวาระที่หนึ่งและวาระที่สองไปได้แล้ว ในวาระที่สามนั้นนอกจากจะต้องได้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวมกันแล้ว ผู้ร่างรัฐธรรมนูญยังกำหนดเอาไว้ด้วยว่าในจำนวนผู้เห็นชอบนั้นจะต้องจะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
เมื่อพิจารณาถึงวุฒิสภาในวาระห้าปีแรก พบว่าสมาชิกวุฒิสภามาจากการคัดเลือกที่ คสช. เข้าไปมีบทบาทสำคัญ ดังนั้น จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่สมาชิกวุฒิสภาเหล่านี้ จะเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม ซึ่งหากสมาชิกวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วยแล้ว แม้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนจะเห็นพ้องด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็มีโอกาสตกไปตั้งวาระที่หนึ่ง
ต่อให้มีปาฏิหาริย์ “ฝ่าด่าน” จนผ่านวาระที่สามมาได้ ก็ยังต้องเผชิญหน้ากับ “ยักษ์ถือกระบองด่านสุดท้าย” อย่างศาลรัฐธรรมนูญอีก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนดอาจเสนอคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขัดกับข้อจำกัดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่ อำนาจเช่นนี้ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นองค์กรผู้มีอำนาจผูกขาดการชี้ขาดว่าเรื่องใดไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้
เราจะออกจากรัฐธรรมนูญอัปลักษณ์นี้ได้อย่างไร?
ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญหลายครั้ง และการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งก็เกิดจากรัฐประหารโดยกองทัพเป็นหลัก การก่อตั้งรัฐธรรมนูญของไทยไม่เคยมีครั้งใดที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยเลย ประชาชนไม่เคยก่อตั้งรัฐธรรมนูญโดยปราศจากกรอบเพดาน ประชาชนไม่เคยมีโอกาสเลือกระบอบการปกครองหรือรูปของรัฐก่อนที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญ ประชาชนไม่เคยตัดสินใจก่อตั้งรัฐธรรมนูญได้ด้วยตนเอง แต่ต้องผ่านการตัดสินใจขององค์กรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ คณะรัฐประหาร รัฐสภา สภาร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ด้วยสภาพการณ์เช่นนี้ ยิ่งจำเป็นต้องนำความคิดเรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยมาใช้ เพื่อยืนยันว่า
(1.) ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ
(2.) อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดำรงอยู่ตลอดกาล
(3.) ประชาชนมีสิทธิในการก่อตั้งรัฐธรรมนูญและการยกเลิกรัฐธรรมนูญเสมอ
(4.) การก่อตั้งและการยกเลิกรัฐธรรมนูญต้องเชื่อมโยงกับประชาชนทุกขั้นตอน
รัฐธรรมนูญ 2560 ปราศจากความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง ทั้งในแง่ที่มา (มีจุดกำเนิดจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557) ในแง่กระบวนการจัดทำ (กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญอยู่ภายใต้การครอบงำของคณะรัฐประหาร) และในแง่เนื้อหา (มีวัตถุประสงค์ทำลายพลังทางการเมืองที่เป็นศัตรูกับคณะรัฐประหารและพวกมากกว่าการสร้างประชาธิปไตย) แต่กลับสร้าง “ป้อมปราการ” ปิดล้อมไว้อย่างแน่นหนาจนไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนี้ได้ในทางปฏิบัติ ด้วยสภาพการณ์เช่นนี้ เราจะหาทางออกจาก “กรงขัง” ได้อย่างไร?
หากดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ย่อมไม่มีทางสำเร็จแน่นอน ในทางกระบวนการแก้ไขนั้น เป็นไปได้เสมอที่เสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือศาลรัฐธรรมนูญจะเข้าขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ในทางเนื้อหา การแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละครั้งทำได้เพียงประเด็นปลีกย่อย ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยได้ ด้วยสภาพการณ์เช่นนี้ จึงเหลือเพียงหนทางเดียวเท่านั้น คือ การกลับไปหาอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นของประชาชนอย่างนิรันดรและดำรงอยู่อย่างตลอดกาล
วิธีการกลับไปหาอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนที่เป็นรูปธรรมที่สุด คือ การจัดให้มีการออกเสียงประชามติในประเด็นที่ว่า “ประชาชนเห็นชอบให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามมาตรฐานประชาธิปไตยหรือไม่” โดยการออกเสียงประชามติครั้งนี้ ต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรมตามแบบประชาธิปไตยด้วย เมื่อประชาชนเห็นชอบให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 นั่นก็หมายความว่า ประชาชนผู้ทรงอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญตัดสินใจร่วมกันให้ทำลายระบบรัฐธรรมนูญลง เพื่อก่อตังระบบรัฐธรรมนูญใหม่เข้าแทนที่ จากนั้น ก็เข้าสู่ขั้นตอนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และให้ประชาชนออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไป
กระบวนการยกเลิกรัฐธรรมนูญเดิมและก่อตั้งรัฐธรรมนูญใหม่เข้าแทนที่ ต้องดำเนินการโดยเปิดพื้นที่ทางประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนมากที่สุด ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ เพื่อยืนยันว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน
แน่นอน รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้โดยใช้วิธีการออกเสียงประชามติเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ แต่นี่คือ กระบวนการกลับไปหาอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีอะไรที่จะชอบธรรมไปกว่าการกลับไปสู่ประชาชน กฎเกณฑ์ต่างๆตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่อาจต้านทานขัดขวางการใช้อำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนได้ เพราะ กฎเกณฑ์และองค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญ 2560 ต่างก็เป็นเพียงอำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ (pouvoir constitué) จึงมิอาจสู้กับประชาชนผู้ทรงอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญตัวจริง วิธีการเช่นนี้ เป็นวิธีการเรียกเอาอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญกลับมาโดยสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง และเป็นประชาธิปไตย เราสามารถทำให้ประชาชนปรากฏกายให้เห็นเด่นชัดได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้การปฏิวัติประชาชน การติดอาวุธต่อต้านรัฐ หรือการยึดอำนาจรัฐด้วยวิธีรุนแรง ระบบรัฐธรรมนูญถูกทำลายลงได้ด้วยการตัดสินใจของประชาชนตามวิธีการแบบประชาธิปไตย ซึ่งมีความชอบธรรมสูงเด่นกว่าการทำลายระบบรัฐธรรมนูญโดยรัฐประหารยึดอำนาจโดยกองทัพดังที่เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย
หากการเรียกเอาอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนกลับมาโดยใช้วิธีการออกเสียงประชามติเช่นนี้ ถูกวุฒิสภาหรือศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นใดขัดขวางอีก นั่นหมายความว่า เราจะยินยอมให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญได้ด้วยกำลังอาวุธและการรัฐประหารโดยกองทัพเท่านั้น แต่การแสดงออกซึ่งอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างสันติและชอบธรรม เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญกลับไม่อาจทำได้ อย่างนั้นหรือ? ไม่มีเหตุผลใดทั้งทางการเมืองและทางกฎหมายที่ถูกต้องและชอบธรรมเพียงพอที่จะขัดขวางการใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนได้อีกแล้ว นอกเสียจากว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญในประเทศไทยไม่ได้เป็นของประชาชน อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญในประเทศไทยเป็นของคนอื่น
ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ต้องแสวงหาหนทางเปลี่ยนให้ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญให้จงได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดร.ณัฏฐ์ ชี้ชัด 'ประชามติชั้นเดียว' แค่ยกแรก 'แก้รธน.ทั้งฉบับ' เจอด่านหิน-นโยบายขายฝัน!
“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ กลไกแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับผ่านด่านหินยาก แม้เพื่อไทยใช้เทคนิคช่องทางพ้น 180 วัน ผ่านร่าง พรบ.ประชามติ เป็นเพียงนโยบายในฝัน
'บิ๊กอ้วน' ชี้ 'สนธิ' แค่หนึ่งเสียงการบริหารประเทศไม่ควรโฟกัสแค่คนคนเดียว!
'ภูมิธรรม' ยังไม่เห็นข้อเรียกร้อง 'สนธิ' บอกเป็นแค่ความเห็นหนึ่งต้องรับฟังทุกฝ่าย เปรียบเหมือนมองปี๊บหนึ่งใบ ต้องมองให้รอบด้าน ไม่หมิ่นประมาทม็อบจุดติดหรือไม่
'ธนกร' ดีดปาก 'ปิยบุตร' เลิกเสี้ยมปม กม.จัดระเบียบกลาโหม
'ธนกร' สวน 'ปิยบุตร' หยุดเสี้ยมปม กม.จัดระเบียบกลาโหม ยัน สส.ฟังเสียงประชาชน ปัดมีใบสั่งจากชนชั้นนำ ย้ำชัด กองทัพเป็นความมั่นคงของชาติทุกมิติ ชี้หากทำผิดก็อยู่ยาก ป้องกันรัฐประหารไม่ได้
ดร.ณัฏฐ์ ชำแหละ 92 ปีรัฐธรรมนูญ วัฏจักรการแย่งชิงอำนาจ!
ดร.ณัฏฐ์ วงศ์เนียม ระบุครบรอบ 92 ปีวันรัฐธรรมนูญ ยังวนเวียนอยู่กับวัฏจักรการแย่งชิงอำนาจของนักการเมือง มากกว่าคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
'อนุทิน' สวนเพื่อไทย! จุดยืน 'ภท.' ไม่เอาด้วย กม.สกัดปฏิวัติ
'อนุทิน' ย้ำจุดยืนภูมิใจไทย ไม่เอาด้วยกฎหมายสกัดปฏิวัติ ชี้นักการเมืองอย่าสร้างเงื่อนไข ทำตัวให้ดีอย่าขึ้โกง ชงกฎหมายแค่สัญลักษณ์ ถึงเวลารัฐธรรมนูญโดนฉีกอยู่ดี
ดร.ณัฏฐ์-นักกม.มหาชน ชี้ 'กฎอัยการศึก' สส.ไทยไม่สามารถยกเลิกได้ แตกต่างจากเกาหลีใต้
“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน เผย กฎอัยการศึกสถานะเป็นพระราชบัญญัติ การยกเลิกในประเทศเกาหลีใต้กระทำโดยมติสภา แตกต่างจากประเทศไทย สส.ตัวแทนประชาชน ไม่สามารถยับยั้งยกเลิกได้