มีคำกล่าวว่า “งานจิตอาสา” คือ งานแห่งการให้ความดีงามทั้งปวงแก่เพื่อนมนุษย์ โดยเต็มใจ สมัครใจ อิ่มใจ ซาบซึ้งใจ ปีติสุข ที่พร้อมจะเสียสละเวลา แรงกาย และสติปัญญา เพื่อสาธารณประโยชน์ ในการทำกิจกรรม หรือสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน และมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น
แตกต่างจากงานในหน้าที่ ซึ่งต้องทำด้วย “ความรับผิดชอบ” หรือจำเป็นต้องปฏิบัติตามภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
แต่จะดีมากยิ่งขึ้นไหม? หากเราสามารถผนึกงานจิตอาสากับงานในหน้าที่ให้เป็นเนื้อเดียวกันอย่างกลมเกลียว สมัครสมานสามัคคี ซึ่งบทสรุปสุดท้ายก็เป็นเส้นทางเดียวกันนั่นคือ ความสำเร็จที่ได้มาจากกำลังใจของทุกฝ่าย
คำถามนี้มีคำตอบ และตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้วเมื่อได้มีโอกาสไปเยือน “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลลาดตะเคียน” ของอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพด้านการทำเกษตรอินทรีย์ และมีความตั้งใจในการพัฒนากลุ่มให้เป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยในชุมชน ภายใต้โครงการ “ชุมชนดีมีรอยยิ้ม ปราจีนบุรี”
โอกาสที่ได้เปิดหูเปิดตา และพบคำตอบว่า ภารกิจในหน้าที่ความรับผิดชอบสามารถร่วมด้วยช่วยกันผสานพลังของจิตอาสาให้เกิดผลสัมฤทธิ์สร้างประโยชน์สุขแก่ชุมชนได้อย่างน่าประทับใจนั้น.. เป็นวันที่ โครงการ ไทยเบฟ...ร่วมสร้างชุมชนดีมีรอยยิ้ม ภายใต้ โครงการพัฒนาชุมชน โดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก จำกัด เครือข่ายพันธมิตร พร้อมด้วย คณะผู้บริหารและพนักงานจิตอาสากว่า 200 คน ลงพื้นที่ทำกิจกรรมพัฒนาชุมชน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี นั่นเอง
“โครงการพัฒนาชุมชน” จัดตั้งขึ้นเพื่อต่อยอดแนวคิดการพัฒนาแบบยั่งยืนด้วยความเชื่อมั่นว่า “การสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต” คือรากฐานที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน ตามปณิธานของ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ โดยมีเป้าหมายคือ ต้องการสร้างชุมชนต้นแบบในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อร่วมกันพัฒนา เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ สถาบันวิชาการที่สำคัญต้องการยกระดับชุมชนให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม สร้างเศรษฐกิจ...ปฏิเสธไม่ได้ว่า คือพันธสัญญาในหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานดังกล่าว
การนำพนักงานเข้าไปเป็นจิตอาสา จึงเป็นการทำงานในหน้าที่กับงานเพื่อสังคมได้อย่างกลมกล่อม และมีพลัง นอกจากนั้นยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจ
ทั้งนี้ความในใจจาก นางดารา เข้มกำลัง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ เป็นสิ่งยืนยันได้ โดยเธอเล่าว่า “ตั้งแต่พนักงานจิตอาสาของไทยเบฟเข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่ของเรา ทำให้สมาชิกมีกำลังใจกลับมารวมตัวอีกครั้ง และยังมีเจ้าหน้าที่จากไทยเบฟมาคอยให้คำปรึกษากับเราตลอดเวลา ตั้งแต่กระบวนการคิด การจัดตั้งและบริหารกลุ่มสมาชิก การตลาดและการวางแผนการปลูกด้วยวิธีคิด “เอาตลาดนำการผลิต” เราจะผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาด ทำให้สมาชิกทุกคนมีรายได้ กลับมามีกำลังใจและยิ้มได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง”
ในขณะที่ นายนิกร ไชยวรรณา เปิดเผยว่า “ผมเป็นคนลำปาง แต่ได้ย้ายมาสร้างครอบครัวที่นี่ ผมรักชุมชนแห่งนี้ จึงมีความตั้งใจที่จะพัฒนาชุมชนแห่งนี้ให้กลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวของภาคตะวันออก ในอีก 3 ปีข้างหน้า ด้วยการทำเกษตรแบบวนเกษตร เมื่อก่อนรอบข้างชุมชนมีแต่การใช้สารเคมีในการปลูกพืชไร่พืชสวน ทำให้อากาศที่เราหายใจเข้าไปมีแต่สารเคมี จึงมีความคิดที่อยากจะขยายพื้นที่สีเขียวจึงได้รวมตัวกันตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ขึ้น เพื่อพัฒนาชุมชนของเรา และก็ได้จิตอาสาของไทยเบฟมาช่วยขับเคลื่อนการดำเนินการของกลุ่มด้วย ดีใจที่ไทยเบฟเข้ามาช่วยส่งเสริมให้ความรู้แก่ชุมชนในทุก ๆ อย่าง ทำให้ผมเริ่มมองเห็นว่า เราจะเดินหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตลาดตะเคียนไปได้เร็วขึ้น”
ปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลลาดตะเคียน มีสมาชิกจำนวน 40 คน ได้ดำเนินกิจกรรมกลุ่มด้วยหลักสัมมาชีพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาชุมชนและขยายผลสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกผักอินทรีย์ จำนวน 15 ไร่ ดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
กิจกรรมจิตอาสานับเป็นจุดเริ่มต้นและจุดประกาย เติมพลังให้ชุมชนมีกำลังใจในการร่วมกันพลิกฟื้นพื้นที่แห้งแล้งให้กลับมาชุ่มฉ่ำอีกครั้ง ซึ่งกระบวนการทำงาน ตั้งต้นจากการวิเคราะห์ปัญหาร่วมกับคนในชุมชน จัดระบบการบริหารจัดการกลุ่มการทำแผนธุรกิจ วางแผนการดำเนินงานเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของตลาด อีกทั้งเชื่อมโยงความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดปราจีนบุรี อาทิ สำนักงานพลังงานจังหวัดปราจีนบุรี ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรช่วงฤดูแล้ง ได้แก่ ปั๊มน้ำและแผงโซล่าเซลล์ และตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ และ บริษัท จินหลง คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้มอบศาลาเอนกประสงค์ให้แก่ชุมชน เป็นต้น
ผลความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำให้กลุ่มพัฒนาเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยของชุมชนและเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์สำหรับชุมชน สามารถขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าชุมชนได้มากขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้มากถึง 153,190 บาท สามารถพัฒนาศักยภาพสมาชิกให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน Organic Thailand จำนวน 6 ราย สนับสนุนสมาชิกเข้าอบรมเกษตรกรรุ่นใหม่ ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Young Smart Farmer) จำนวน 3 ราย
ชุมชนดีมีรอยยิ้มปราจีนบุรี และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลลาดตะเคียน ยังมีเป้าหมายขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในระดับตำบลไปในทุกครัวเรือน จัดตั้งเป็นกองทุนเมล็ดพันธุ์เพื่อสนับสนุนสมาชิกพร้อมให้ความรู้อย่างใกล้ชิด และส่งเสริมช่องทางการตลาดแก่สมาชิกทุกคนให้มีรายได้จากการขายผลผลิต และพร้อมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ฯ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรอินทรีย์เพื่อยกระดับให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมในอนาคต
นับเป็นความมุ่งมั่นของภาคเอกชนที่จะร่วมมือร่วมใจกับภาครัฐในการผลักดันสร้างประโยชน์และความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง ตามปณิธานที่ของผู้บริหารไทยเบฟฯที่กล่าวไว้ว่า “แรงบันดาลใจจากทุกคน เพื่อชุมชนที่ยั่งยืน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘กรุณพล’ แจงยิบปมตร.ค้นบ้านผอ.พรรคประชาชน ปราจีนฯ พบอาวุธปืน-กระสุนอื้อ
สืบเนื่องจากกรณีตำรวจภูธรภาค 2 ชุดขยายผล กวาดล้างผู้มีอิทธิพลใน จ.ปราจีนบุรี บุกค้นจับกุมบ้านผู้ต้องสงสัยพบอาวุธปืนเถื่อน พร้อมเครื่องกระสุนเป็นจำนวนมา
'บิ๊กอ้อ' ลุยปราจีนฯ คุมสางคดีฆ่า 'สจ.โต้ง' มั่นใจหลักฐานพอ ไม่พึ่งวงจรปิด
'บิ๊กอ้อ' บินสางปมยิง 'สจ.โต้ง ปราจีน' เชื่อชนวนเหตุสังหารจากการเมืองท้องถิ่น มั่นใจหลักฐานเพียงพอ แม้วงจรปิดที่เกิดเหตุเสีย
'อนุทิน' ลั่นใครผิดว่าไปตามผิดปมเด็ดชีพ 'สจ.โต้ง'
มท.1 ยังไม่ทราบปม 'สจ.โต้ง' ถูกยิงดับคาบ้าน 'สุนทร วิลาวัลย์' ขอให้ ตร.สืบสวนก่อน ยันทุกอย่างเดินตามกฏหมาย ไม่มีช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นพวกใคร
อุตฯเร่งปราบโรงงานเถื่อนชาวจีน อึ้งพบสารอันตราย 41 ตัน
“เอกนัฏ” เอาจริง!! สั่งปราบโรงงานผิดกฎหมายเถื่อน ย้ำเร่งบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม