"สุพัฒนพงษ์" นำทีมศก.แถลงมาตรการช่วยปชช.จากผลกระทบรัสเซีย-ยูเครน "อาคม" ลั่นรบ.ยังมีเสถียรภาพการคลังอยู่ "สุชาติ" เผยลดเงินสมทบผู้ประกันตนทุกมาตรา ขณะ "ปลัดพลังงาน" เผยรัฐคลอดมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน วงเงินกว่า 4.5 หมื่นล้าน
24 มี.ค.2565 - ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เป็นประธานการแถลงข่าวมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย พร้อมด้วย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักานเศรษฐกิจการคลัง
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้แถลง 10 มาตรการ โดยในวันนี้จะเป็นการชี้แจงและในรายละเอียด โดยจะเป็นการออกมาตรการราย 3 เดือน ทั้งนี้รัฐบาลพยายามทำสุดความสามารถ เพื่อให้สามารถเยียวยาช่วยเหลือผ่านมาตรการต่างๆ ซื้อช่วงปลายปีมีการส่งสัญญาณผ่านราคาพลังงานที่ค่อนข้างผันผวน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยมีการตรึงราคาพลังงาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานทางเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สํานักเศรษฐกิจการคลัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยแต่เดิมคิดว่าราคาพลังงงานสูงเกิดจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในการเร่งการผลิตและจะเข้าสู่ปกติในช่วงเดือนมีนาคม จากสงครามที่เกิดขึ้น แบ่งเป็นขั้วเกิดการกีดกันทางการค้า ทำให้ราคาสินค้าสูง ทำให้เกิดความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อ และคิดว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อ แต่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอีกครั้ง และคิดว่าในอีก 3 เดือน จะเกิดความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหากไม่คลี่คลายจะเกิดวิกฤติซ้อนวิกฤติ ทั้งนี้ รัฐบาลออกมาตรการระยะสั้น 3 เดือน ที่จะประคับประคองประชาชน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยจะต้องรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศไทยไว้ และย้ำว่าในยามวิกฤติประเทศจะต้องมีความเข้มแข็งทางการเงิน
ด้านนายอาคม กล่าวว่า สิ่งที่สามารถพยุงรายได้ของประชาชนในประเทศ คือภาคเกษตรและการค้าขายชายแดน ซึ่งขณะนี่เองการค้าขายชายแดนยังไม่มีปัญหา โดยคาดการณ์ว่าในปี2565 รายได้จะมาจากการส่งออก และแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐอย่างการใช้จ่ายงบประมาณปี2565 กับการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของรัฐวิสหกิจไม่ได้หยุดชะงัก แต่ยอมรับว่าจีดีพีของประเทศนั้นมาจากปริมาณและราคา ซึ่งหากดูในเรื่องปริมาณนั้นไม่มีปัญหาแต่ราคาอาจมีการปรับตัวสูงขึ้น ในส่วนของอาหารและพลังงานซึ่งมีผลกระทบมาจากต่างประเทศ ขณะที่เสถียรภาพทางการคลัง โดยตัวเลขล่าสุดใน 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ อัตราเงินคงคลังอยู่ที่ 400,000 ล้าน ที่ลดลงไปบ้างแต่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้สภาพคล่องอยู่ที่ 400,000 ถึง 500,000 ล้านบาท ซึ่งมีความเพียงพอมีความมั่นคงมีเสถียรภาพเพียงพอ ยอมรับว่าลดลงบ้าง ซึ่งเกิดจากการกู้เงินเข้ามาใช้จ่าย และขณะนี้การกู้เงินในปี 2565 ยังไม่ถึง 700,000 ล้านบาท ในส่วนของโครงการผูกพันยังคงดำเนินการตามปกติ
นายอาคม กล่าวว่า ขณะที่เสถียรภาพทางด้านราคา หากดูอัตราเงินเฟ้อ จะสังเกตได้ว่ามีการกระโดดขึ้นมาในช่วงเดือนมกราคม 3% และกุมภาพันธ์ 5% ไปถามให้รู้เรื่องพลังงานและอาหารสด จะเพิ่มขึ้นมาเพียง 0.5 % ในเดือนมกราคมและ 0.8% ในเดือนกุมภาพันธ์ หรือจะต้องมีการประเมินติดตามอย่างใกล้ชิดและระยะ 3 เดือน ประเด็นสำคัญคือต้องมุ่งเป้าไปในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อน ขณะด้านเงินสำรองระหว่างประเทศ มีความเข้มแข็งอยู่ในระดับ200,000 กว่าล้านบาท โดยข้อมูลล่าสุดเงินสำรองอยู่ที่ 245,000 ดอลลาร์
นายอาคม กล่าวอีกว่า ส่วนเสถียรภาพทางการเงินมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งมีความเป็นห่วงเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งต้องดูในเรื่องของคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะมีการประชุมช่วงปลายเดือนนี้ แต่สภาพคล่องในส่วนของภาคเอกชนและระบบธนาคารพาณิชย์ จะมีสภาพคล่องอยู่ที่ 2.5 ถึง 3 ล้านล้านบาทในระบบ ลงทะเบียนว่าการพิจารณาดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยโดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ ที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุน ต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบอย่างมาก และในเรื่องการบริหารรายได้และรายจ่ายในปี 2565 รัฐบาลขาดดุล 700,000 ล้านบาท โดยใน 5เดือนแรก บวกมาเล็กน้อย แต่ต้องดูในเดือนเมษายนและพฤษภาคมซึ่งจะสร้างความมั่นใจมากขึ้นจากการจัดเก็บอัตราภาษี ว่ามีรายได้เป็นไปตามเป้าหมาย 2.4 ล้านล้านบาทหรือไม่ แต่การประมาณการรายได้ปี 2565 นั้นน่าจะเป็นไปตามเป้า
ขณะที่ นายสุชาติ กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือจากสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน – รัสเซีย เพื่อลดรายจ่ายของพี่น้องประชาชนที่เกิดขึ้น โดยการลดเงินสมทบทั้งในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันทุกมาตราเป็นระยะเวลา 3 เดือน ได้แก่ ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือ ร้อยละ 1 ยกตัวอย่างหากคิดบนฐานเงินเดือน 15,000 บาท จากเดิมต้องส่งเงินสบทบ 750 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 150 บาท ทำให้สามารถลดภาระค่าครองชีพ ไปได้ประมาณ 600 บาทต่อคนต่อเดือน ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 9 เหลือร้อยละ 1.9 คือจากเดิมที่ต้องส่งเงินสมทบ 432 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 91 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 341 บาทต่อคนต่อเดือน และผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.6 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบในแต่ละทางเลือกลงร้อยละ 40 คือ ทางเลือกที่ 1 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 70 บาท ลดลงเหลือ 42 บาททางเลือกที่ 2 ลดการส่งเงินทบจากเดิม100 บาท ลดลงเหลือ 60 บาท ทางเลือกที่ 3 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 300 บาท ลดลงเหลือ 180 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 84 – 360 บาทต่อคนต่อเดือน นอกจากนี้ นายจ้างจำนวน 5 แสนราย จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือ ร้อยละ 1 ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต ยกตัวอย่างเช่น หากนายจ้างจ่ายค่าจ้างบนฐานเงินเดือน 15,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน หากนายจ้างมีลูกจ้าง 1,000 คน จะสามารถลดต้นทุน การผลิตของนายจ้างต่อเดือนลง 600,000 บาท รวมระยะเวลา 3 เดือนเป็นเงินทั้งสิ้น 1,800,000 บาท มาตรการดังกล่าวจะเกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนประมาณ 24.2 ล้านคน เป็นเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 34,540 ล้านบาท
นายสุชาติ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าประเด็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำว่า กระทรวงแรงงานได้เร่งรัดติดตามการดำเนินการเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยหากเทียบกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญด้านการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของเรายังอยู่ในระดับที่สูงกว่า และ การขึ้นค่าแรงในแต่ละครั้งนั้น มีคณะกรรมการค่าจ้างที่เป็นคณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ.2551 ตามเกณฑ์การพิจารณาเกี่ยวกับ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและตามหลักการของ ILO ทั้งนี้ ในห้วง เดือน เม.ย. - มิ.ย. 65 อยู่ในขั้นตอนที่สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างและสำนักงานแรงงานจังหวัดดำเนินการสำรวจและประมวลผลค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพฯ จากนั้นในเดือน ก.ค.65 คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพฯ จะจัดประชุมพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และส่งผลประชุมให้คณะกรรมการค่าจ้าง ก่อนที่จะให้คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นจัดการประชุมพิจารณาในเดือน ส.ค.-ก.ย.65 โดยในกรณีมีมติปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงานจะลงนามเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
รมว.แรงงาน ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงมาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องช่วงโควิด-19 ทั้งในส่วนของนายจ้าง และลูกจ้าง เช่น โครงการ ม.33 เรารักรักกัน โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบ 29 จังหวัด การลดเงินสมทบ จำนวน 5 ครั้ง นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้มีมาตรการในการรักษาระดับการจ้างตามโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs จนทำให้ในปี 2564 ตลาดการจ้างงานพลิกกลับเป็นบวก มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 170,000 ตำแหน่งอีกทั้งรัฐบาลยังมีมาตรการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข คือ โครงการ Factory Sandbox เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ ภายใต้มาตรการทางด้านสาธารณสุข จนทำให้ในปี 64 มูลค่าภาคการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการในรอบ 11 ปี หรือประมาณ 8.7 ล้านล้านบาท และด้วยความห่วงใยจากท่านนายกรัฐมนตรี จึงได้กรุณาอนุมัติจัดสรรยอดวัคซีนในโครงการวัคซีนมาตรา 33 สำหรับพี่น้องผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะ รวมถึงกำชับให้กระทรวงแรงงานดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ป่วยโควิด-19 จนนำไปสู่การจัดตั้ง Hospitel เพื่อรองรับการรักษาแก่พี่น้องผู้ใช้แรงงาน
“มาตรการช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานและประชาชนเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ที่กระทรวงแรงงานได้กำหนดขึ้นมานั้น เป็นมาตรการระยะสั้นและระยะกลาง ซึ่งเป็นความห่วงใยจากรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ทุกคนผ่านพ้นห้วงวิกฤตซ้อนวิกฤตก้าวข้ามสถานการณ์ในครั้งนี้ไปด้วยกัน”นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด
ด้าน นายกุลิศ กล่าวถึงมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงานว่า การช่วยเหลือด้านพลังงานมีด้วยกันหลายมาตรการ หนึ่งในนั้นคือการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไว้ที่ 30 บาท/ลิตร ในเดือนเม.ย.2565 จากนั้นในเดือนพ.ค.-มิ.ย.2565 รัฐจะช่วยจ่ายราคาส่วนที่เพิ่ม 50% หรือช่วยคนละครึ่ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยเฉพาะภาคขนส่ง
“ในการช่วยเหลือน้ำมันดีเซลจะตรึงราคาไว้ 30 บาทต่อลิตรจนถึงเดือนเม.ย.นี้ และตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป จะเพิ่มคนละครึ่ง คือประชาชนออกครึ่ง และรัฐออกให้อีกครึ่งหนึ่งในส่วนนี้โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง”นายกุลิศ กล่าว
นายกุลิศ กล่าวว่า สำหรับมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน โดยมีงบประมาณที่ภาครัฐช่วยเหลือ รวมประมาณ 43,602 - 45,102 ล้านบาท มีรายละเอียด ดังนี้ 1.การช่วยเหลือ ผู้ใช้น้ำมันดีเซล ผ่านการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาท/ลิตร ใน เม.ย. 2565 จากนั้นรัฐช่วยส่วนที่ราคาเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่งระยะเวลา เม.ย. 65 ตรึงราคาที่ 30 บาท/ลิตร ส่วนพ.ค. และ มิ.ย. 65 รัฐช่วยราคาส่วนที่เพิ่ม 50%วงเงินที่ใช้ เม.ย. 16,800 ล้านบาท พ.ค. 8,340 ล้านบาท มิ.ย. 8,000 ล้านบาท(อัตราชดเชย 8 บาทต่อลิตร ณ ราคาน้ำมันดีเซล 130 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล) แหล่งเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ลดภาษีสรรพสามิต เงินอุดหนุน 2.ผู้ใช้ก๊าชหุงต้ม กำหนดราคาในเดือน เม.ย. 333 บาท/ถัง 15 กก. เดือนพ.ค. 348 บาท และ มิ.ย. 363 บาท ระยะเวลา 3 เดือน วงเงินที่ใช้ เม.ย. 2,400 ล้านบาท พ.ค. 2,130 ล้านบาท มิ.ย. 1,850 ล้านบาท แหล่งเงิน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
นายกุลิศ กล่าวว่า 3.ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ประมาณการผู้ใช้ 3.6 ล้านคน) เพิ่มส่วนลดซื้อก๊าชหุงต้มอีก 55 บาท/ 3 เดือน รวมเป็น 100 บาท / 3 เดือน ระยะเวลา 3 เดือน วงเงินที่ใช้200 ล้านบาท แหล่งเงิน งบกลาง สำนักงบประมาณ 4.ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ(ประมาณการผู้ใช้ 5,500 คน/เดือน หรือ 16,500 คน)ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท ระยะเวลา 3 เดือน วงเงิน 1.65 ล้านบาท แหล่งเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 5.ผู้ขับขี่มอเตอร์ไชค์รับจ้าง (ประมาณการ 157,000 คน) ส่วนลดค่าน้ำมันแก๊สโชฮอล์ 5 บาท / ลิตร จำนวน 50 ลิตร/เดือน ระยะเวลา 3 เดือน วงเงิน 120 ล้านบาท แหล่งเงิน งบกลาง สำนักงบประมาณ 6.ผู้ใช้ก๊าช NGV ทั่วไป (318,000 ราย) คงราคาขายปลีก NGV ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม ระยะเวลา 3 เดือน และผู้ขับขี่รถแท็กซี่ที่ลงทะเบียนสำหรับผู้ขับขี่รถแท็กซี่ที่ลงทะเบียนภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน(17,460 ราย) โดยยังคงใช้หลักเกณฑ์เดิมระยะเวลา 3 เดือน วงเงิน 1,761 ล้านบาท แหล่งเงิน บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) 7.ช่วยผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน มีส่วนลดค่า FT (ใช้ไฟฟ้าในราคางวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 65) ระยะเวลา 4 เดือน วงเงิน 2,000-3,500 ล้านบาท แหล่งเงิน งบกลางสำนักงบประมาณ