ทูตนอกแถว : ความชั่วร้ายสารพัดเลวทรามของอเมริกา

21 มี.ค.2565 - นายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ เจ้าของเพจ ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่อง "ความชั่วร้ายสารพัดเลวทรามของอเมริกา" มีรายละเอียดดังนี้

จะเริ่มกันตรงไหนดีล่ะ จะเอาตั้งแต่สมัยค้าทาสกันไหม? (ที่หลายคนก็อาจลืมไปการค้าทาส จับเชลยมาเป็นทาส มีมานตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์แล้ว) เอาเป็นว่าความเลวร้ายของสหรัฐอเมริกานั้นเล่าสามวันสามคืนก็คงไม่จบ และจะว่าไปผมก็ยังไม่เห็นมีใครในทุกวันนี้ที่เชื่อว่าสหรัฐฯดีเลิศ ประเสริฐศรีไปหมดนะ ยิ่งขณะนี้ดูเหมือนกระแสความเกลียดชังสหรัฐฯจะปะทุอีกรอบ จากกรณีสงครามในยูเครน

และที่หนีไม่พ้นที่ต้องยกมาด่าสหรัฐฯกันตอนนี้มักไม่พ้นสามสี่เรื่องฮิตๆ ได้แก่ สงครามอิรักสมัย ปธน.บุชผู้ลูก สงครามเวียดนาม และกรณีวิกฤติการณ์คิวบา เหมือนกับจะต้องคอยมาย้ำว่าสหรัฐฯนั้นเลวหนักหนาชอบรุกรานผู้อื่น และซึ่งจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มันก็เหมือนการช่วยให้ความชอบธรรมแก่รัสเซียในการรุกรานยูเครนทางหนึ่งนั่นเอง (และในตัวมันเอง ตรรกะประเภทคนอื่นทำผิดได้ ฉันก็ทำได้ มันค่อนข้างเพี้ยน อันตราย และไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง)

เลยอยากมาชวนคุยกันถึงสามเรื่องฮิตที่ว่า แต่ก่อนอื่นขอย้ำว่าผมเองเห็นว่าสหรัฐฯผิดแน่นอนในกรณีอิรักและเวียดนาม และเคยพูดมานานแล้วด้วย (ส่วนกรณีคิวบาจะขออธิบายต่อไป)

เรื่องสงครามอิรักสมัยบุชผู้ลูกนั้น เชื่อว่าหลายคนก็คงจะรู้รายละเอียดกันพอควร ซึ่งในแง่กฎหมายระหว่างประเทศนั้น สหรัฐฯผิดแน่นอน แต่มันมีสิ่งที่ทำให้แตกต่างออกไปจากกรณียูเครน คือหนึ่งซัดดัมเป็นเผด็จการโหดร้ายที่ไม่ได้มาอย่างชอบธรรม กระแสของชาวโลกที่ต่อต้านการรุกรานครั้งนั้นจึงไม่ได้สูงเหมือนของยูเครน สอง เพราะซัดดัมไม่มีประชาชนสนับสนุนจริง แม้ว่าจะมีกองทัพที่มีกำลังพลใหญ่กว่ายูเครน แต่สหรัฐฯก็ยึดอิรักอย่างง่ายดาย เพราะอย่าว่าแต่ประชาชนเลย ทหารส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครอยากยอมตายให้ซัดดัม

แต่ผิดก็คือผิดนะครับ เพียงแต่ทุกอย่างมันก็มีข้อแตกต่างให้คิดบ้างแค่นั้น

เรื่องเวียดนามก็ผิดเช่นกัน แต่ถ้าเราจำได้คือสมัยนั้นมีเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้รบกัน โดยแต่ละฝ่ายก็มีแต่ละค่ายคอยหนุนหลังชัดเจน ถ้าเราเปรียบง่ายๆ รัฐบาลเวียดนามใต้ก็คล้ายๆกลุ่มแยกดินแดนในดอนบาส ในไครเมียที่รัสเซียเข้าไปสนับสนุน คือสหรัฐฯก็อ้างความชอบธรรมว่าได้รับเชิญจากรัฐบาลเวียดนามใต้ให้เข้าไปช่วยเหลือ (ซึ่งในแง่กฎหมายก็เอาผิดลำบาก แต่คือผิดศีลธรรมแน่นอน)

แต่ถ้าคุณด่าสหรัฐฯในกรณีเวียดนาม แล้วคุณไม่ด่ารัสเซียที่ไปยึดไครเมีย ดอนบาส นั่นคือความอคติแล้ว และสหรัฐฯเองก็ไม่ได้ยกกองทัพเต็มกำลังพลไปยาตราบุกเวียดนามเหนือดื้อๆอย่างที่รัสเซียทำกับยูเครนนะครับ ซึ่งมันต่างกันตรงนี้

แต่ที่ผิดเต็มๆนั้นไม่ใช่กรณีเวียดนาม หากแต่คือลาวและกัมพูชาที่สหรัฐฯไปทิ้งระเบิดใส่เขา อันนี้ผิดแน่นอน แต่ถ้าด่าสหรัฐฯแล้ว ก็ควรต้องด่าบรรดาผู้นำไทยของเราเองในยุคนั้นด้วย ที่ยินยอมให้สหรัฐฯมาตั้งฐานทัพ (แลกกับอะไรเอ่ย?) เพื่อเอาเครื่องบินรบไปถล่มเพื่อนบ้านของเราจนคนของเขาล้มตายไปมากมาย ซึ่งมันก็คือเรายินยอมพร้อมใจสมรู้ร่วมคิดกับสหรัฐฯ อย่าลืมเสียล่ะ

มากรณีคิวบาที่ผมเห็นว่าคนที่ยกเรื่องนี้มาเพื่อเชียร์หรือช่วยให้ความชอบธรรมแก่รัสเซียในกรณียูเครน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์เท่าที่ควรเพราะมันมีความแตกต่างกันมาก ประการแรก ขณะนั้นมีการติดตั้งจรวดของรัสเซียในคิวบาจริงแน่นอน ไม่ใช่การมโนเอาเองแบบรัสเซีย สอง สหรัฐฯไม่ได้ยาตราทัพเข้าไปรุกรานคิวบา เพียงแต่ใช้กองทัพเรือสะกัดกั้นกองทัพเรือโซเวียตรัสเซียไม่ให้ขนอาวุธไปเพิ่มในคิวบา สาม มีการเจรจาหาทางออกโดยสหรัฐฯยอมถอนจรวดออกจากบางประเทศในยุโรป แลกกับโซเวียตถอนจรวดออกจากคิวบา ซึ่งความตึงเครียดเผชิญหน้ากันครั้งนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดสงครามสู้รบที่ทำประชาชนคนบริสุทธิ์ลูกเด็กเล็กแดงต้องล้มตายไปมากมาย อย่างเช่นในกรณียูเครน

ผมเห็นบางคนพูดว่ารัสเซียทำโฆษณาชวนเชื่อไม่เก่งเหมือนพวกตะวันตก ทำให้ขณะนี้มีคนประนามรัสเซียมากมาย ซึ่งผมเห็นว่าทั้งไม่น่าจริงและเป็นความเข้าใจผิดด้วย ผมก็ยังเห็นคนด่าสหรัฐฯมากมาย แต่คนที่เขาด่ารัสเซียนั้นเป็นเพราะเขาเห็นตามความเป็นจริงว่าใครเป็นฝ่ายรุกราน ใช้กำลังเข้าข่มเหงประเทศที่เล็กกว่า และที่กระแสมันสูงเพราะผู้นำและรัฐบาลยูเครนเขามาอย่างชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยแท้จริง ที่ส่วนใหญ่โลกเขายึดถือ

แต่ไม่ใช่เป็นเพราะคนเขานิยมชื่นชมสหรัฐฯหรือตะวันตกอะไร

และก็มีคนชอบตั้งคำถามว่าหลังสงครามโลกครั้งสองเป็นต้นมาใครคือผู้รุกรานประเทศอื่นมากที่สุด (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำไมตัองเอาแค่หลังสงครามโลกครั้งสอง) ผมเองไม่แน่ใจนักเพราะในบางแง่ที่ไปยึดประเทศเขามาอย่างฝืนใจนั้น (โซเวียต) รัสเซียก็ไม่ได้น้อยหน้าใครเลย

แต่ที่ผมรู้แน่ๆคือหากไม่มีสหรัฐฯในสงครามโลกครั้งสอง ป่านนี้โลกเราคงเลือกได้แค่ว่าจะอยู่ใต้นาซี หรืออยู่ใต้คอมมิวนิสต์ ซึ่งสิ่งนี้หลายคนที่ด่าๆสหรัฐฯคงทำเป็นลืมไปแล้ว

ประเทศสหรัฐฯเองมีปัญหาภายในมากมาย รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐฯอ้างว่าส่งเสริมและพิทักษ์ ทั้งที่ตัวเองก็ยังแก้ไขให้หมดไปไม่ได้ แต่ถ้าเราดูจากประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ การต่อสู้เพื่อสิ่งนึ้ก็มีมาตลอด และยังคงมีต่อไป โดยในแง่หนี่งสหรัฐฯมาไกลจากในอดีตมากพอควร ซึ่งสิ่งที่ทำให้สหรัฐฯมีความพิเศษ คือความมุ่งมั่นที่พัฒนาแก้ไขสิ่งต่างๆที่ไม่ถูกต้องให้มันดีขึ้น แม้จะต้องใช้เวลานานเท่าใดก็ตาม

รักใครเกลียดใครมันห้ามกันไม่ได้ แต่ก็อยากให้ศึกษาข้อมูล ประวัติศาสตร์ด้วย รวมทั้งไม่อคติกันจนเกินไป ผมก็ไม่ได้เกลียดรัสเซีย แต่เห็นว่าผู้นำของรัสเซียทำไม่ถูก และเชื่อว่าคนรัสเซียจำนวนมากซึ่งน่าจะเป็นส่วนใหญ่ด้วย ก็คิดเช่นเดียวกัน

ปล. วันก่อนไปนั่งกิน poutine อาหารของชาวแคนาดาที่ร้านแถวๆสามเสนใกล้ๆบางลำพู ก็แค่มันฝรั่งทอดราดน้ำเกรวี่ไม่ถึงอร่อยนักหนา แต่ที่ชื่อมันพอดีไปคล้ายๆกับชื่อ ปธน. ปูติน และมีข่าวว่าในบางประเทศมีการประท้วงร้านที่ขายอาหารจานนี้กันเพราะชื่อของมัน ซึ่งนี่ก็ความอคติอย่างหนึ่งของคนเรานะครับ ผมเลยไปอุดหนุนกินขำๆสักหน่อย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'มาริษ' ขอบคุณนานาชาติเลือกไทยนั่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

'รมว.กต.' ขอบคุณ หลังไทยได้รับเลือกนั่ง HRC วาระ 2568-2570 ยืนยันจะเป็นสะพานเชื่อมความแตกต่างของชาติสมาชิก แสดงความมุ่งมั่นส่งเสริมสถานะประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนไทยให้เป็นที่ยอมรับ

'ดร.ธรณ์' ชี้มหาพายุเฮอริเคน 'มินตัน' สภาพอากาศสุดขั้ว คนอเมริกานับล้านต้องอพยพหนี

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

กอล์ฟ'เพรสซิเดนท์ คัพ 2024' ทีม'นานาชาติพบอเมริกา' ทรูวิชั่นส์ถ่าย26ก.ย.นี้

การแข่งขันการหวดวงสวิงส่งท้ายเดือนกันยายน กอล์ฟ เพรสซิเดนท์ คัพ 2024 กับประเภททีม ที่เป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีระหว่างทีมนานาชาติ (ยกเว้นยุโรป) เจ้าภาพ พบกับทีมสหรัฐอเมริกา วันที่ 26 – 30 กันยายนนี้ จากมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์กันอีกครั้งว่า ตำแหน่งแชมป์ปีนี้จะเป็นของทีมใด