นายกฯ ต้อนรับผู้นำมาเลย์เยือนไทย หารือกระชับสัมพันธ์สองประเทศ พร้อมแถลงความร่วมมือ

นายกฯ ต้อนรับผู้นำมาเลย์เยือนไทย หารือกระชับสัมพันธ์สองประเทศ พร้อมแถลงข่าวขับเคลื่อนความร่วมมือ ฟื้นฟูความเชื่อมโยงเศรษฐกิจ ความมั่นคง โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชน

25 ก.พ.2565 - เวลา 17.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้การต้อนรับ ดาโตะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ระหว่างวันที่ 24 -26 ก.พ.โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้นำนายกฯมาเลเซีย ตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ที่บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า จากนั้นนายกฯมาเลเซียได้ลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึกที่ตึกไทยคู่ฟ้า แล้วร่วมหารือข้อราชการที่ห้องสีงาช้าง

ต่อจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์และนายกฯมาเลเซีย แถลงข่าวร่วมกัน ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียถือเป็นผู้นำรัฐบาลต่างประเทศคนแรกที่เยือนไทย ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยกับมาเลเซีย ขอชื่นชมความมุ่งมั่นและการมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ พร้อมยืนยันความตั้งใจเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งแก่ประชาชนทั้งสองประเทศ บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจในฐานะเพื่อนบ้านใกล้ชิด เสมือน “ครอบครัวเดียวกัน”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันมีประเด็นสำคัญร่วมกัน 4 ประเด็น ดังนี้ ประการแรก การฟื้นฟูความเชื่อมโยงในทุกมิติ ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเดินทางระหว่างประชาชนในทั้งสองประเทศมากขึ้นอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะการเดินทางของผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วโดยไม่ต้องกักกันโรค ซึ่งมาเลเซียเรียกช่องทางดังกล่าวว่า Vaccinated Travel Lane (VTL) ขณะที่ไทยได้เปิดรับผู้เดินทางจากมาเลเซียที่ฉีดวัคซีนครบ เดินทางเข้าประเทศทางอากาศโดยไม่ต้องกักตัวแล้ว ผ่านระบบ Test and Go และไทยกำลังเตรียมความพร้อมเปิดการเดินทางผ่านพรมแดนทางบกเพิ่มเติม โอกาสนี้ ทั้งสองเห็นพ้องจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อเร่งหารือรายละเอียดการเปิดพรมแดนระหว่างกัน เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนของทั้งสองประเทศเดินทางไปมาหากันได้อย่างสะดวกดังเดิม นอกจากนี้ ทั้งสองพร้อมร่วมผลักดันโครงการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่คั่งค้างให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

ประการที่สอง การกระตุ้นเศรษฐกิจและแสวงหาความร่วมมือสาขาใหม่ ๆ ทั้งสองฝ่ายต่างให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยได้มีความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิด เพื่อลดผลกระทบของโควิด-19 ต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ส่งผลให้ปริมาณการค้าชายแดนและผ่านแดนในช่วงที่ผ่านมามีมูลค่าเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นพ้องคงเป้าหมายมูลค่าการค้าระหว่างกันที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขยายระยะเวลาการบรรลุเป้าหมายเป็นภายในปี 2568 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย - มาเลเซีย ครั้งที่ 3 เพื่อขับเคลื่อนแนวทางให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องแสวงหาแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้อย่างยั่งยืน เช่น ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งอาจใช้เป็นตัวอย่างในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับประเทศในอาเซียนได้ต่อไป

ประการที่สาม การพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และความมั่นคงชายแดน ทั้งสองฝ่ายได้หารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทั้งสองประเทศ นายกรัฐมนตรีเชิญชวนให้มาเลเซียร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงอุตสาหกรรมยางพาราและฮาลาล พร้อมทั้งชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งฝ่ายมาเลเซียสนับสนุนท่าทีของไทยในการแสวงหาทางออกด้วยสันติวิธี ขับเคลื่อนการพูดคุยเพื่อสันติสุขให้มีความคืบหน้า ตลอดจนพร้อมร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิดในการเสริมสร้างความมั่นคงชายแดน การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและข้ามแดน คู่ขนานไปกับการร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ

ประการสุดท้าย การรื้อฟื้นกลไกหารือทวิภาคี การพบหารือระหว่างผู้นำไทยกับมาเลเซียในวันนี้ จะปูทางสู่การแลกเปลี่ยนการเยือนและการประชุมหารือกันภายใต้กลไกและกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ที่มีร่วมกัน เพื่อผลักดันความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกันให้มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ฝ่ายไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - มาเลเซีย ครั้งที่ 14 ในเดือนมีนาคมนี้ และหวังว่าจะมีการประชุมหารือในกรอบอื่น ๆ ระหว่างกันอย่างต่อเนื่องต่อไป

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สนใจร่วมกัน โดยเฉพาะบทบาทที่สร้างสรรค์ของอาเซียนในประเด็นสถานการณ์ในเมียนมา เน้นย้ำการรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียนท่ามกลางความท้าทายเพื่อรักษาดุลยภาพในภูมิภาค โดยทั้งสองพร้อมร่วมมือกันในกรอบความร่วมมือต่าง ๆ มาเลเซียพร้อมให้การสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ด้วย ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันเจตนารมณ์ของไทยที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลมาเลเซียในทุกระดับและทุกมิติ โดยมีประโยชน์สุขของ “ครอบครัวชาวไทยและมาเลเซีย” เป็นหมุดหมายสำคัญ

โดยนายกรัฐมนตรีมาเลเซียหวังว่าไทยและมาเลเซียจะมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นอย่างแข็งขันในทุกระดับ และได้ขยายความร่วมมือไปยังประเด็นใหม่ๆ ของความร่วมมือ โดยเฉพาะเพื่อได้ฟื้นฟูจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด – 19 โดยเห็นด้วยกับบริบทจากการหารือกันเพื่อเปิดการเดินทางระหว่างประชาชนสองประเทศให้มากขึ้น การมุ่งส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และการส่งเสริมกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ให้เกิดการพบปะหารือระหว่างกัน

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะเผยแพร่แถลงข่าวร่วม (Joint Press Statement) สะท้อนเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวร่วม นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเยี่ยมชมนิทรรศการศิลปหัตถกรรม ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี และนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ณ ตึกสันติไมตรีหลังนอก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ถึงสหรัฐ เตรียมประชุมเอกอัครราชทูต-กงสุลใหญ่ หารือภาคธุรกิจ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา

เปิดภารกิจนายกฯบินพบนักธุรกิจ-คนไทยในแอลเอ. ชวน ‘บิ๊กระดับโลก’ ลงทุนไทย

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อม ด้วยนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะออกเดินทางเยือนนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา