'ธรรมศาสตร์' ยืนหนึ่ง 4 ปีติดคว้ารางวัล Friendly Design Awards 2022 ทุกพื้นที่ของมหาวิทยาลัย 'เป็นมิตรกับคนพิการ'

มธ.คว้ารางวัล ‘Friendly Design Awards 2022’ จากมหกรรมอารยสถาปัตย์ฯ ระดับชาติ เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน รองอธิการบดีฯ ยืนยันทุกพื้นที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล ทั้งอาคารเรียน ลิฟต์ ที่จอดรถ ห้องน้ำ ถนน รถสาธารณะ ฯลฯ พร้อมเดินหน้าจัดทำ Guiding Block บนทางเท้าแบบ 100% ด้าน “รศ.เกศินี” ระบุ การออกแบบที่เอื้อต่อการศึกษา สะท้อนผ่านผลการเรียนนักศึกษาพิการดีขึ้น

15 ก.พ.2565 - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้รับเลือกให้เป็น “องค์กรส่งเสริมอารยสถาปัตย์แห่งปี” (Tourism for All) จากมหกรรมอารยสถาปัตย์และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2565 (Thailand Friendly Design Expo 2022) โดยสามารถคว้ารางวัล Friendly Design Awards 2022 ในฐานะองค์กรที่มีความโดดเด่นด้านการส่งเสริมและสร้างอารยสถาปัตย์ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียม เป็นมิตรกับคนทั้งมวล ซึ่งนับเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันที่ได้รับรางวัลดังกล่าว

รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ มธ. เปิดเผยว่า ในฐานะมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน มธ.ได้เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ หนึ่งในนั้นคือการให้โควต้าพิเศษแก่นักศึกษาพิการในรูปแบบการรับตรง โดยกำหนดสัดส่วนไว้ที่คณะละ 1% สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 10 เรื่องการลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ (Reduce inequality within and among countries) ด้วย

รศ.ดร.ชุมเขต กล่าวว่า นอกเหนือจากการเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค และการให้บริการทางวิชาการ มธ.ยังเดินหน้าในการปรับปรุงอาคารสถานที่ ตลอดจนการสร้างอารยสถาปัตย์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและปลดล็อกข้อจำกัดของนักศึกษาพิการ ซึ่งจะเอื้อต่อการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น

รศ.ดร.ชุมเขต กล่าวอีกว่า บนเนื้อที่ของมหาวิทยาลัยทั้งหมด 1,200 ไร่ เป็นที่ตั้งของอาคารเกือบ 100 แห่ง โดยปัจจุบันทุกอาคารจะมีทางลาดสำหรับรถวีลแชร์ มีลิฟต์ ห้องน้ำ ที่จอดรถ สำหรับนักศึกษาพิการ ขณะที่ถนนภายในมหาวิทยาลัยก็มีการติดตั้งสัญญาณเตือนสำหรับนักศึกษาหูหนวก ตาบอด ซึ่งนับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการติดตั้งระบบนี้ ส่วนหอพักนักศึกษา มธ.ได้ออกแบบขึ้นมาเป็นพิเศษภายใต้มาตรฐานสากล เช่นเดียวกับสถานที่ออกกำลังกาย อาทิ ฟิตเนส หน้าผาจำลอง สระว่ายน้ำ ก็มีการออกแบบไว้ให้นักศึกษาพิการเข้าถึงได้ทั้งหมด ขณะที่การเดินทางในมหาวิทยาลัยก็มีการติดตั้งทางลาด (Ramp) ในรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าทุกคัน

“ขณะนี้เราอยู่ระหว่างการปรับปรุงทางเท้าทั้งหมด ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยจะจัดทำเป็นพื้นผิวสำหรับนำทาง (Guiding Block) สำหรับนักศึกษาพิการทางสายตาเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่จะขยายเพิ่มให้ได้ 100%” รศ.ดร.ชุมเขต กล่าว

รองอธิการบดี มธ. กล่าวอีกว่า โครงสร้างขั้นพื้นฐานและอาคารที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์สำหรับผู้พิการส่งผลโดยตรงกับผลการเรียนของนักศึกษา โดยปัจจุบัน มธ. มีนักศึกษาพิการรวมทั้งสิ้น 75 ราย ซึ่งหากย้อนกลับไปในอดีตเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน หรือใน พ.ศ. 2548 มีการสำรวจพบว่านักศึกษาพิการมีผลการเรียนอยู่ในระดับต่ำ แต่หลังจากมีการปรับปรุงสถานที่เรื่อยมาก็พบว่าผลการเรียนเฉลี่ยของนักศึกษาพิการดีขึ้นเรื่อยๆ โดย 80% ของนักศึกษาพิการสำเร็จการศึกษาและมีงานทำ

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. กล่าวว่า จากข้อมูลสถานการณ์ผู้พิการในปี 2563 พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการ 2.05 ล้านคน ในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่ง หรือ 49.61% เป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย โดยตัวเลขที่น่าสนใจก็คือ จากกว่า 2 ล้านคนข้างต้น พบว่ามีเพียง 21,980 คน เท่านั้นที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ขณะที่จบชั้นมัธยมศึกษาเพียง 172,780 คน

รศ.เกศินี กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้การศึกษาของผู้พิการไม่ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการออกแบบที่ไม่เอื้อให้เข้าถึงการศึกษา เช่น การไม่มีทางเท้า การไม่มีทางลาด การไม่มีลิฟต์ ฯลฯ ตลอดจนความพร้อมของอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอน ความเข้าใจของบุคลากร ฉะนั้นสถานศึกษาทุกระดับจำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ สำหรับ มธ. ได้จัดสรรงบประมาณมากกว่า 10 ล้านบาทต่อปี เพื่อปรับปรุงอาคารสถานที่ ซึ่งที่สุดแล้วทำให้ผลการเรียนของนักศึกษาพิการดีขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันอยู่ในระดับดีเยี่ยม นักศึกษาจำนวนมากจบการศึกษาออกไปในระดับเกียรตินิยม

“มหาวิทยาลัยได้พัฒนาให้นักศึกษาพิการเป็น Change Agent หรือผู้ที่ส่งเสริมและสนับสนุนความเปลี่ยนแปลง คือไม่ได้รอรับการสงเคราะห์เพียงอย่างเดียว ซึ่งทุกวันนี้นักศึกษาพิการหลายคนจบการศึกษาไปเป็นทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย นักกฎหมาย ผู้ประกาศข่าว หรือข้าราชการในกระทรวงต่างๆ ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า มธ. ไม่เพียงทำให้นักศึกษาพิการได้รับโอกาสทางการศึกษา แต่ยังสร้างบัณฑิตให้เป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้อย่างแท้จริง” รศ.เกศินี กล่าว

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชนติดต่อ
MEDIA HOTLINE : พรศรินทร์ ศรีสวัสดิ์ / 087-171-8944 / [email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

90 ปี สถาปนาธรรมศาสตร์ ก้าวสู่ 'มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำเพื่อสังคมแห่งอนาคต'

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบปีที่ 90 พร้อมมอบรางวัลเข็มเกียรติยศ ให้แก่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” อดีต รมว.คลัง และ อดีต รมว.คมนาคม ในฐานะผู้ประกอบคุณงามความดีต่อสังคมและประเทศชาติ ขณะที่

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ระบุ สว. ชุดใหม่ คือผู้กำหนดภูมิทัศน์การเมืองไทยไปอีก 5 ปี

อาจารรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ระบุ สว. ชุดใหม่ ยังมีอำนาจมากเกินไป และจะเป็นผู้กำหนดภูมิทัศน์การเมืองประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า

มธ. จัดเสวนารุมสับระบบเลือก สว.ชุดใหม่ เป็นปัญหามากที่สุด ซับซ้อน ทำให้งงอย่างจงใจ

ศูนย์นิติศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ “การเลือก สว. และประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กับอนาคตประชาธิปไตยไทย” เนื่องในงานรำลึก 32 ปี พฤษภาประชาธรรม 2535

'ธรรมศาสตร์' เตือน! อย่าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แจ้งเตือนบุคลากร นักศึกษา ศิษย์เก่า ประชาคมธรรมศาสตร์ และประชาชน ระวังตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ขณะนี้พบพฤติกรรมของมิจฉาชีพแอบอ้างว่าเป็น “เจ้าหน้าที่กอง

สำรวจบาดแผล 'เด็ก' ในยุคที่กลายมาเป็น 'คอนเทนต์' ของผู้ใหญ่

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชวนสำรวจบาดแผล ‘เด็ก’ ในยุคที่ต้องกลายมาเป็น ‘คอนเทนต์’ เพราะความเปราะบางของเนื้อหาจะทิ้งร่องรอยความบอบช้ำไว้เสมอ

ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ ผงาดนั่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 4/2567 ซึ่งเริ่มการประชุมตั้งแต่ในเวลา 09.00 น. ของวันนี้ ได้มีวาระการประชุมเพื่อเลือกอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนใหม่เป็นรอบสุดท้าย