อาจารย์แพทย์ ม.ธรรมศาสตร์ ชวนทำความเข้าใจ “วัคซีนเข็มกระตุ้น” ช่วยทำให้ร่างกายจดจำเชื้อโควิด-19 ได้ดีขึ้น เผยแม้ฉีดแค่สองเข็มก็ลดป่วยรุนแรงได้ แต่เมื่อเชื้อกลายพันธุ์การฉีดเข็มกระตุ้นย่อมดีกว่า ระบุวัคซีนอยู่ในร่างกายได้ 7-14 วัน ก็จะย่อยสลาย
3 ก.พ.2565 - ผศ.ดร.นพ.สิระ นันทพิศาล สาขากุมารเวชศาสตร์ โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตอบสนองของร่างกายต่อการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า ในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบสองเข็มแล้วติดเชื้อโควิด-19 ร่างกายยังจะสามารถสร้างความจำต่อเชื้อโควิดได้มากหรือน้อยขึ้นกับพื้นฐานแต่ละบุคคล พื้นฐานของวัคซีนทุกชนิดที่มีอยู่ในขณะนี้ผลิตจากรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม (อู่ฮั่น) ฉะนั้นหากเกิดการติดเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมก็จะสามารถช่วยป้องกันทั้งการติดเชื้อ-ลดความรุนแรงของโรคได้
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเชื้อโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ทำให้โรคแพร่ระบาดง่ายขึ้นและหลบภูมิคุ้มกันได้ ประสิทธิภาพภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนสองเข็มต่อการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์จะลดลง โดยความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับพื้นฐานของผู้ป่วย อายุ โรคประจำตัว ชนิดและระยะเวลาที่ได้รับวัคซีนก่อนหน้านี้ หากได้รับวัคซีนสองเข็มเกิน 6 เดือนและมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจ หรือทานยากดภูมิ ก็อาจจะมีความเสี่ยงที่ทำให้การติดเชื้อมีโอกาสรุนแรงได้
ผศ.ดร.นพ.สิระ กล่าวว่า ในปัจจุบันมีข้อแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ได้แก่ แอสตราเซเนก้า ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ในกลุ่มผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อโควิด-19 เป็นเวลา 1-3 เดือน เพื่อเป็นการกระตุ้นภูมิทำให้ภูมิคุ้มกันดีขึ้น ซึ่งจะฉีดได้ทั้งผู้ที่เคยรับวัคซีนมาก่อนหรือยังไม่มีประวัติรับวัคซีนเลย
“แต่สำหรับเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน หากได้รับวัคซีน 2 เข็มนานเกินสามเดือนระดับภูมิคุ้มกันจะลดลงและอาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคจากเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้ หรือในผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้วนานกว่าสามเดือนก็มีภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอการป้องกัน การติดเชื้อโอมิครอนในอนาคต เพราะ โอมิครอนสามารถติดเชื้อซ้ำได้ทั้งคนที่ได้รับวัคซีนหรือเคยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมมาก่อน” ผศ.ดร.นพ.สิระ กล่าว
ผศ.ดร.นพ.สิระ กล่าวว่า ในปัจจุบันตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่าประชาชนที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม และเข็มที่ 2 เป็นแอสตราเซเนกานั้นจะต้องกระตุ้นด้วยแอสตราเซเนกา แต่ถ้าผู้ที่ได้รับวัคซีนมีโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ตามทฤษฎีแล้วสามารถรับวัคซีนข้ามชนิดเป็น mRNA เข็มที่ 3 ได้เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ เมื่อได้รับวัคซีนไปแล้วจะไม่มีการสะสมในร่างกาย เพราะวัคซีนจะถูกจับโดยเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกาย และจะกระตุ้นให้เกิดความจำต่อเชื้อนั้นๆ ฉะนั้นเชื้อจากวัคซีนที่รับเข้าไปจะถูกย่อยเหลือแค่บางส่วนเพื่อให้ร่างกายนำไปสร้างความจำ ส่วนที่เหลือจะสลายตัวและสร้างผลอะไรกับร่างกาย
อย่างไรก็ตาม ความทรงจำของระบบภูมิคุ้มกันก็จะเปลี่ยนแปลงตามการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส เป็นที่มาที่ทำให้บริษัทวัคซีนต้องเปลี่ยนชนิดของเชื้อไวรัส เช่น วัคซีนชนิดต่างๆ ทั้งเชื้อตาย และเอ็มอาร์เอ็นเอก็มีความพยายามที่จะสร้างวัคซีนจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าและโอมิครอน หรือวัคซีนโนวาแวกซ์ซึ่งใช้พื้นฐานของโปรตีนไวรัสเป็นตัวกระตุ้นเช่นเดียวกับวัคซีนใบยาของประเทศไทย ในอนาคตก็ยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงโดยใช้โปรตีนของเดลต้าและโอมิครอน จากเดิมทีที่ใช้เชื้อจากสายพันธุ์ดั้งเดิมเป็นฐาน
“เราจำเป็นต้องมีการกระตุ้น เพราะว่าร่างกายเมื่อรับเชื้อไม่ว่าจากวัคซีนหรือการติดเชื้อก็ตามเราต้องมีการกระตุ้นเพื่อให้ร่างกายมีความจำ ปัจจุบันเรายังเข้าใจเรื่องความจำระยะยาว (Long Term Memory) ของโควิด-19 ค่อนข้างน้อย เพราะเพิ่งได้รู้จักเชื้อโควิด-19 เพียงแค่ 2 ปี ฉะนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่าระยะยาวการรับวัคซีนหรือการติดเชื้อไปแล้วจะมีความจำอยู่นานมากแค่ไหน” ผศ.ดร.นพ.สิระ กล่าว
ผศ.ดร.นพ.สิระ กล่าวว่า ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะตอบสนองต่อวัคซีนอย่างรวดเร็วในเวลา 1 วัน ฉะนั้นเมื่อร่างกายได้รับสารพันธุกรรมที่อยู่ในวัคซีนแล้วก็จะสามารถกำจัดออกได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้สารพันธุกรรมจากวัคซีนที่ฉีดเข้าไปไม่สามารถเพิ่มปริมาณได้เองเมื่อเข้าในร่างกายเท่าไหร่ก็จะมีเท่านั้น และร่างกายจะใช้เวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันให้สูงสุดภายใน 7-14 วัน ขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคน
ทั้งนี้ในปัจจุบันประชาชนมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนมากขึ้นกว่าเดิม ฉะนั้นในการรับวัคซีนผู้ฉีดสามารถพิจารณาเองได้ แต่อย่าสละโอกาสด้วยการไม่รับ เพราะการไม่รับวัคซีนมีโอกาสที่จะรับเชื้อง่ายขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันเชื้อก็มีการพัฒนาไปมาก
“ประเด็นสำคัญก็คือว่าบุคคลที่ยังไม่ได้วัคซีนแน่นอนคือเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ซึ่งเพิ่งมีมติให้วัคซีนในเด็กอายุ 3-5 ปีด้วยวัคซีนเชื้อตาย ฉะนั้นตัวเราในฐานะผู้ที่มีโอกาสรับวัคซีนถ้าหากไม่รับหรือเลือกที่จะไม่รับ
ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชุดแรกหรือชุดกระตุ้นก็ตามเรามีโอกาสเป็นพาหะนำเชื้อไปสู่เด็กๆ เหล่านั้นได้ ฉะนั้นอย่างน้อยป้องกันตัวเราป้องกันคนรอบข้าง ก็จะทำให้โอกาสเกิดโรคต่างๆ ในสังคมโดยรวมลดลง” ผศ.ดร.นพ.สิระ ระบุ
ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชนติดต่อ MEDIA HOTLINE : พรศรินทร์ ศรีสวัสดิ์ / 087-171-8944 / [email protected]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ชวนลูกแม่โดมร่วมงาน “วันธรรมศาสตร์ 90 ปี 2567” ชมรายการพิเศษทางโทรทัศน์เนื่องในวันธรรมศาสตร์ 9 ธันวาคม และสังสรรค์รำลึกความหลัง “วันธรรมศาสตร์ 10 ธันวาคม”
สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร นายกสมาคม ชวนลูกแม่โดมร่วมงาน “วันธรรมศาสตร์ 90 ปี 2567” ชมรายการพิเศษทางโทรทัศน์เนื่องในวันธรรมศาสตร์ คืนวันที่ 9
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 549 ราย ดับเพิ่ม 1 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567
โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’ ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้
เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป
สายการบิน 'ลุฟท์ฮันซา' ต้องจ่ายค่าปรับกรณีเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารชาวยิว
สายการบินลุฟท์ฮันซาต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 4 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา เหตุเพราะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดขอ
ไทยติดโควิดรอบสัปดาห์ 353 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 6 - 12 ตุลาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่