ความสูญเสียเป็นสิ่งที่น่าเศร้า ประเมินค่าไม่ได้ และไม่ควรเกิดขึ้นกับชีวิตคนที่เดินข้ามทางม้าลาย กรณีเหตุการณ์ ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 ตำรวจควบคุมฝูงชน ขับขี่จักรยานยนต์บิ๊กไบค์พุ่งชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ “หมอกระต่าย” แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะกำลังข้ามทางม้าลายจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมานั้น หลายภาคส่วนในสังคมไม่ยอมให้ปัญหาความไม่ปลอดภัยทางถนนปล่อยผ่านไปเหมือนไฟไหม้ฟาง พร้อมทั้งเรียกร้องให้หาแนวทางแก้ที่ต้นเหตุมากกว่าแค่ปรับปรุงทางข้าม ทาสีตีเส้นใหม่ เพื่อไม่ให้ทางม้าลายเป็นทางมรณะ
แต่ละปีคนไทยจำนวนมากจบชีวิตจากการข้ามถนน ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงสาธารณสุขปี 2559-2561 ระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตเป็นคนเดินถนนเฉลี่ย 800-1,000 รายในแต่ละปี ขณะที่ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า คนเดินถนนประสบเหตุถึง 2,500-2,900 รายต่อปี โดยกว่า 1 ใน 3 เป็นพื้นที่กรุงเทพฯ เฉลี่ย 900 รายต่อปี
รถจอดล้ำทางม้าลายแยกอโศกมนตรี สะท้อนปัญหาไร้วินัย
ปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญ คือ ถนนมีลักษณะหลายช่องจราจร เวลาข้ามถนนต้องใช้ระยะเวลาอยู่บนถนนนาน และแม้จะมีบางช่องจราจรหยุด แต่ช่องจราจรด้านในมักจะไม่หยุด และเมื่อมีคนข้ามรถในช่องทางชะลอหรือหยุด แต่ช่องจราจรขวาสุดที่ขับขี่ด้วยความเร็วมักไม่ได้ชะลอ และอาจมองไม่เห็นกันทั้งสองฝ่าย เป็นจุดอันตรายของการข้ามถนนที่มักจะมีเหตุสลดเกิดขึ้น
นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ประธานมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวหมอกระต่าย เป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าเกิดขึ้น จากการศึกษาอุบัติเหตุทางถนน สาเหตุหลักมาจากคนมากกว่า 90% ทั้งผู้ใช้รถใช้ถนนและเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย อย่างกรณีล่าสุดผู้ก่อเหตุเป็นตำรวจ กลับฝ่าฝืนทำผิด ฉะนั้น ต้องแก้ให้ถูกจุด ไทยมีกฎหมายป้องกันและอุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว แต่ตัวเลขอุบัติเหตุไม่ลดลง เพราะขาดการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง สังคมโดยรวมไม่ตระหนัก
ทางแก้จะทำอย่างไรให้คนไทยเปลี่ยนวิธีคิด มีวินัยเคารพฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องค่อยๆ ขันชะเนาะแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจศึกษาโมเดลจากญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์กว่าประชาชนจะมีวินัย ก็เป็นประเทศที่เกิดอุบัติเหตุสูงเช่นกัน
“ ระยะแรก เจ้าหน้าที่กวดขันมากขึ้น ตักเตือน และเพิ่มการบังคับใช้กฎหมาย เช่น จัดโซนนิ่งพื้นที่ใช้กฎหมายเข้ม จับ ปรับ จริงจัง ก่อนผลักดันขยายไปในทุกพื้นที่ จะทำให้คนที่ชอบฝ่าฝืนเปลี่ยนพฤติกรรม ระยะต่อไป รณรงค์ให้ความรู้และจัดฝึกอบรมเพื่อเปลี่ยนทัศนคติ มองว่า ทุกชีวิตมีความหมาย ระยะยาว สอนให้เด็กเข้าใจเรื่องกฎจราจร การขับรถ และอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานสำคัญ ต้องทำ เพื่อสร้างเจเนอเรชั่นใหม่ที่มีจิตสำนึก ส่วนจะแก้กฎหมายเพิ่มบทลงโทษก็ว่าไป แต่ไม่ใช่รอกฎหมายคลอดค่อยทำ “ นายจำรูญ เสนอ
ชีวิตคนเดินถนนในกรุงเทพฯ ที่เสี่ยงอุบัติเหตุ
ผลวิจัยของมูลนิธิฯ ยังพบว่า ความไม่ปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไม่เดินและปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ ไม่รวมเรื่องโจรกรรม ทางเท้าไม่เรียบที่พบเห็นได้ทั่วไป ประธานมูลนิธิฯ บอกว่า หน่วยงานรัฐจะต้องสร้างระบบการเดินทางที่ปลอดภัย หากคนเชื่อมั่นจะใช้การเดินมากขึ้น ซึ่งดีต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เพราะช่วยลดมลพิษ ลดก๊าซคาร์บอนจากรถยนต์ อีกทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เพราะการเดินเข้าถึงทุกพื้นที่
แม้ทางม้าลายเป็นพื้นที่พิเศษให้สิทธิคนเดินข้ามอย่างปลอดภัย แต่ในพื้นที่จราจรหนาแน่น แยกใหญ่ๆ หลายครั้งกลายเป็นจุดวัดใจ ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนทางข้ามบ่อย ๆ นายจำรูญฝากถึงการใช้ถนนอย่างปลอดภัยว่า ผู้ใช้ทางม้าลายต้องดูสัญญาณไฟ ช่วยให้รู้จังหวะในการข้าม ถ้าไฟเขียวกระพริบต้องรีบข้ามให้เร็ว ที่สำคัญต้องมองขวาให้แน่ใจไม่รถก่อนข้าม รวมถึงระวังรถที่ชะลอความเร็วหรือหยุดไม่ทัน
อย่างไรก็ตาม ประธานมูลนิธิสถาบันการเดินฯ บอกว่า มูลนิธิฯ รณรงค์เพื่อให้คนไทยออกมาเดิน ออกมาขี่จักรยาน เพื่อแก้ปัญหาบ้านเมืองมาต่อเนื่อง จากกรณีหมอกระต่าย จะต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิฯ และภาคีเครือข่ายจะเร่งรวบรวมข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน ข้อมูลสถิติการจับกุมผู้กระทำผิดวินัยจราจร รวมถึงความเชื่อมั่นของต่อการบังคับใช้กฎหมาย โดยจะมีการติดตามข้อมูลเป็นระยะ และเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำแผนรณรงค์และเสนอมาตรการแก้ปัญหาระดับนโยบาย
ทางม้าลายต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยของทุกคน
ด้าน รศ.ดร.มงกุฎ เพียรธนะกูลชัย สาขาวิศวกรรมขนส่งและจราจร ภาควิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีโยธา สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ปัญหาสำคัญที่สุด คือ ต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยทางม้าลายเป็นประจำ โดยหน่วยงานที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านถนนและวิศวกรรมจราจรอย่างน้อยปีละครั้งหรือมากกว่านั้น จะเป็นกรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมทางหลวง ขึ้นกับพื้นที่นั้นอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด เพื่อปรับปรุง ดูแลรักษาทางข้ามให้ปลอดภัย ตั้งแต่สีทางข้าม การตีเส้นจราจรให้ชัดเจน ป้ายเตือนทางข้ามล่วงหน้า แสงไฟส่องสว่างเวลากลางคืน ซึ่งลดอุบัติเหตุได้กว่า 50% สัญญาณไฟกระพริบเตือน สัญญาณไฟเขียว-ไฟแดงให้คนข้าม อุปกรณ์และเครื่องหมายจราจรเหล่านี้ต้องอยู่ในสภาพใช้งานได้
จากการตรวจสอบความปลอดภัยทางถนนของไทยพบว่า อยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัยสำหรับคนเดินเท้า ปัจจัยหลัก คือ รถใช้ความเร็วในบริเวณทางข้าม ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ให้สิทธิ์คนข้ามถนนที่ทางม้าลายชัดเจน เมื่อเห็นทางม้าลาย ให้ชะลอความเร็วก่อนทุกครั้ง กรณีบิ๊กไบค์ไม่ชะลอความเร็ว วินัยจราจรเป็นสิ่งสำคัญ ประเทศที่เจริญแล้วจะให้สิทธิคนเดินเท้า คนปั่นจักรยานก่อน เป็นคุณสมบัติเมืองน่าอยู่ ถ้าผู้ใช้รถทำตามกฎหมายเคร่งครัดไม่มีคนเสียชีวิตแน่นอน
“ แต่เมืองกรุงเทพฯ คนเดินเท้าเสี่ยงตาย รถฝ่าไฟแดง ไฟเขียวคนข้าม รถก็ข้ามด้วย เสียชีวิตวันละ 2 คน ควรเพิ่มบทลงโทษทางกฎหมายให้หนักขึ้น รวมถึงทบทวนความเหมาะสมการใช้ยานพาหนะที่มีความเร็วสูงอย่างบิ๊กไบค์ในเขตเมือง ใบขับขี่ในมือ ไม่ใช่แค่ขับขี่ได้ แต่ต้องมีความรับผิดชอบ เพราะการใช้ความเร็วที่ไม่เหมาะสมก่อให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ “ รศ.ดร.มงกุฎ บอก
ส่วนการติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อใช้ตรวจสอบและลงโทษผู้กระทำผิดไม่หยุดให้คนข้ามถนนก็สามารถทำได้ แต่คงไม่ใช่ต้องมีทุกทางข้าม นอกจากนี้ หลายที่สามารถติดตั้งเนินชะลอความเร็วเป็นลักษณะพื้นผิวจราจรยกสูงเป็นโค้งรูปหลังเต่า ช่วยยับยั้งการจราจร อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงทางกายภาพต้องดูบริบทที่เหมาะสมตามสภาพพื้นที่และกระแสการจราจร กรณีพื้นที่รถสัญจรหนาแน่น ทางข้ามอาจไม่เหมาะสม อาจจะจัดสร้างสะพานลอย นอกจากนี้ ในต่างประเทศมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับความเร็ว จะมีสัญญาณไฟกระพริบและเสียงเตือนทั้งผู้ขับขี่และคนข้ามถนน
“ ถ้าย้อนรอยจะเห็นข่าวคนถูกชนบนทางม้าลายเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ถึงเวลาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง กรณีหมอกระต่ายถ้าหน่วยงานที่รับผิดชอบเอาจริงเอาจังจะเป็นแรงผลักดันขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย “รศ.ดร.มงกุฎ ชวนสังคมไทยตั้งหลักแก้ปัญหาป้องกันการสูญเสียให้เกิดน้อยที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อีกแล้ว! เก๋งเฉี่ยวนักเรียน ม.1 บาดเจ็บ ขณะข้ามทางม้าลายหน้าโรงเรียน
นายวุฒิพันธุ์ ศรีศักดานุวัตร อายุ 45 ปี เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ สืบเนื่องจาก เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เวลา 07.45 น มีอุบัติเหตุรถเก๋งเฉี่ยวชน เด็กชายเอก( นามสมมุติ ) อายุ 12 ปี
ถูกรถชนห่างจากทางม้าลาย 3 ก้าว ไม่ถือว่าโดนชนตรงทางม้าลาย ????
ข้อเขียนนี้ ผมเขียนมานานแล้ว น่าจะเกินสิบปี เห็นว่ายังทันสมัยอยู่ จึงหยิบมาปัดฝุ่นปรับเล็กน้อย เล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง บ่ายวันหนึ่ง หลายปีมาแล้ว ขณะที่ผมกำลังเป็นประธานสอบวิทยานิพนธ์ของนิสิตคนหนึ่ง มีโทรศัพท์แจ้งว่า ลูกชายผมถูกรถชน
เกิดอาการอารามตกใจเมื่อข้ามทางม้าลาย
สมัยอยู่ลอนดอน ผมไม่มีรถ เพราะรถสาธารณะของเขาสะดวกมาก และมีตั๋วที่ใช้ทั้งขึ้นรถเมล์ต่อรถไฟ ไปต่อรถใต้ดิน อีกทั้งการเดินเหินและข้ามถนน มันก็ไม่ได้สร้างความรู้สึกบั่นทอนท้อแท้ !!
อ่านเลย! โทษกม.จราจรใหม่! ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับ 4 พัน ตัดแต้มทันที 1 คะแนน
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สาระสำคัญของกฎหมายจราจรฉบับใหม่ เน้นการเพิ่มโทษใน
21 ม.ค. “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน” รำลึกการจากไปของ “หมอกระต่าย”
เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2566 ที่โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “
ชาวเน็ตชังชาติ ดิ้นหนักเห็นทางม้าลายทาสีใหม่ รุมแขวะผักชีโรยหน้าช่วงเอเปก
เพจเฟซบุ๊ก “เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์” โพต์ภาพมุมสูงมองเห็นทางม้าลายทาสีแดงสดใสบริเวณแยกชิดลม พร้อมติดสติ๊กเกอร์หัวเราะ โดยระบุข้อความว่า “ช่วงนี้เมืองก็จะสวยงาม เส้นจราจรชัด เป็นพิเศษ”