พาณิชย์เดินหน้าผลักดันการส่งออกสินค้าไทย ตามยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ของ 'จุรินทร์' แนะผู้ส่งออกไทยจับตาเทรนด์สินค้ากระแสแรงในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด ชี้เครื่องดื่มไฮเอนด์ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมาแรงในตลาดจีนและสิงคโปร์ สหรัฐฯ ขาดแคลนนมและของใช้สำหรับเด็ก ขณะที่ละตินอเมริกาต้องการเครื่องสำอางส่วนผสมธรรมชาติ อาหารเพื่อสุขภาพทำจากพืช
30 ม.ค.2565 - นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ที่มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจับตาแนวโน้มหรือกระแสความนิยมสินค้าประเภทต่าง ๆ ในตลาดต่างประเทศ เพื่อวิเคราะห์โอกาสทางการค้าและผลักดันการส่งออกสินค้าไทยให้บรรลุเป้าหมายขยายตัวร้อยละ 3-4 ในปี 2565 ล่าสุด ได้รับรายงานแนวโน้มสินค้าที่กำลังมาแรงจากทูตพาณิชย์ในประเทศต่าง ๆ ดังนี้
จีน กระแสเครื่องดื่มไฮเอนด์จำพวกน้ำแร่ น้ำอัดลม น้ำผักผลไม้ เครื่องดื่มธัญพืช เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ กำลังมาแรง เห็นได้จากปีที่ผ่านมายอดจำหน่ายเครื่องดื่มไฮเอนด์ที่มีราคาสูงกว่าราคาเฉลี่ย 2 เท่าหรือมากกว่าขยายตัวถึงร้อยละ 8.0 จากปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหนุนจากความหลากหลายของเครื่องดื่มในตลาด ผู้บริโภคจีน มีกำลังซื้อสูงขึ้นส่งผลให้เลือกซื้อเครื่องดื่มที่สะท้อนถึงฐานะทางสังคม รวมถึงการขยายตัวของกลุ่มผู้บริโภค Gen Z
นางมัลลิกา กล่าวว่าผู้ประกอบการไทยที่ต้องการบุกเข้าสู่ตลาดจีนว่า การแข่งขันของตลาดเครื่องดื่มไฮเอนต์ในจีนยังไม่รุนแรงเท่ากับตลาดระดับกลางและล่างที่เน้นแข่งขันด้วยราคาเป็นหลัก แต่จะต้องเน้นที่คุณภาพและภาพลักษณ์สินค้าเป็นจุดขายสำคัญ ตัวอย่างเช่น เครื่องดื่มกระทิงแดงของไทยที่เน้นประชาสัมพันธ์ถึงสรรพคุณของสินค้า เป็นต้น นอกจากนี้ เครื่องดื่มประเภท “ชานมที่ดื่มแล้วไม่อ้วน” หรือ “ชานมแคลอรี่ต่ำ” กำลังเป็นกระแสบูมอย่างมากในตลาดจีน โดยเฉพาะผู้บริโภคยุคใหม่ที่รักสุขภาพและผู้หญิงที่ใส่ใจเรื่องการควบคุมน้ำหนัก โดยควรชูจุดเด่นของการทำตลาดด้วยการใช้นมจากพืชแทนสัตว์ เน้นวัตถุดิบที่มีแคลอรี่เป็นศูนย์ ใช้สารทดแทนน้ำตาล แสดงปริมาณแคลอรี่ให้เห็นอย่างชัดเจน พร้อมเน้นคีย์เวิร์ดสำคัญ เช่น “no milk added” "Oil Cut, Not Fat" แคลอรีต่ำ ไขมันต่ำ เป็นต้น
สำหรับโอกาสของผลไม้ไทยในจีนนั้น ทุเรียนสดเป็นผลไม้ที่จีนนำเข้ามากที่สุด โดยอนุญาตให้นำเข้าจากไทยเท่านั้น ทำให้ทุเรียนไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และส่งเสริมให้ราคาจำหน่ายมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยราคานำเข้าในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 5.11 เหรียญสหรัฐ/กิโลกรัม ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดตั้งแต่ ม.ค.-พ.ย. 64 จีนนำเข้าทุเรียนสดปริมาณ 0.809 ล้านตัน มูลค่า 4,132 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 68.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า นำเข้าจากไทยมากกว่าร้อยละ 90 โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่เหลือเป็นการนำเข้าทุเรียนแช่แข็งจากมาเลเซีย ซึ่งยังไม่สามารถแข่งขันกับทุเรียนไทยได้ เนื่องจากราคาจำหน่ายค่อนข้างสูง อีกทั้งช่องทางจำหน่ายมีจำกัดเมื่อเทียบกับทุเรียนไทย
นอกจากนี้แม้ว่ารายการอาหารในเทศกาลสำคัญของจีนยังคงเน้นอาหารจีนเป็นหลัก แต่สินค้าอาหารจากต่างประเทศก็เริ่มเป็นที่นิยมเช่นกัน จึงน่าจะเป็นช่องทางสำหรับสินค้าอาหารไทยหรือธุรกิจร้านอาหารไทยที่จะเข้าไปเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้เช่นกัน ผู้ประกอบการไทยจึงไม่ควรพลาดโอกาสขยายธุรกิจไปยังช่วงเทศกาลสำคัญของจีนด้วย โดยคำนึงถึงความสะดวกสบายในการซื้อ การรักษาคุณค่าทางโภชนาการ และความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสินค้า เพื่อผลิตสินค้าหรือบริการที่เหมาะสมกับฤดูกาลและเทศกาลของจีน เช่น ต้มยำกุ้งกล่องกึ่งสำเร็จรูป หม้อไฟ ต้มยำกุ้งที่เป็นกล่องของขวัญ ส้มตำกึ่งสำเร็จรูป ทอดมันกุ้งหรือปลากึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น
สิงคโปร์ ล่าสุดเปิดตัวไวน์ถั่วเหลือง (Soy Wine) ครั้งแรกของโลกจากเวย์ถั่วเหลือง ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตเต้าหู้ มีรสชาติคล้ายสาเก ผลไม้และดอกไม้ อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระจากถั่วเหลืองและปราศจากกลูเตนอีกด้วย ทั้งนี้ ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสิงคโปร์เป็นตลาดที่มีมูลค่าการค้ามหาศาล อีกทั้งเป็นการมุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ชื่นชอบไลฟ์สไตล์แบบยั่งยืนที่กำลังเป็นกระแสความนิยมในปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งส่งเสริมการวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการผลิต เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดอาหารและเครื่องดื่มแบบยั่งยืนในสิงคโปร์ให้มากขึ้น
สหรัฐอเมริกา สินค้านมสำหรับเด็ก รวมถึงของใช้สำหรับเด็กกำลังประสบภาวะขาดแคลนจากนโยบายปิดเมืองของจีนส่งผลให้ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ หันไปนำเข้าสินค้าจากแหล่งผลิตประเทศใกล้เคียงทดแทน จึงเป็นโอกาสของไทยในการเจาะตลาดสินค้ารถเข็น เสื้อผ้า รองเท้า โต๊ะเปลี่ยนผ้าอ้อม เบาะรองนอน รวมถึงของเล่นสำหรับเด็ก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรเน้นเจาะตลาดสินค้านมสำหรับเด็กที่ทำจากพืช (Plant-based Baby Formula) มากขึ้น
ลาตินอเมริกา ผู้บริโภคชาวโคลอมเบียเริ่มจับจ่ายซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศมีทิศทางดีขึ้น โดยสินค้าที่มียอดจำหน่ายสูงสุดช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีที่ผ่านมา ได้แก่ สินค้าเสริมความงาม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง อาหาร ยาและเวชภัณฑ์ จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะเร่งส่งออกสินค้าที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดนี้ ได้แก่ เครื่องสำอางจากส่วนผสมธรรมชาติ เครื่องปรุง อาหารเพื่อสุขภาพและอาหารที่ทำจากพืช โดยใช้ประโยชน์จาก FTA ไทย-ชิลี ทั้งนี้ ตลาดลาตินอเมริกาดังเช่นโคลอมเบียยังคงคำนึงถึงราคาและความคุ้มค่าเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อสินค้าเป็นสำคัญ
“ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในตลาดภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านราคาและระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อย่างไรก็ดี นอกจากการวางแผนการผลิตที่เน้นลดต้นทุนแล้ว ผู้ส่งออกไทยควรมุ่งสร้างจุดเด่นในเรื่องประโยชน์ใช้สอยและคุณภาพที่ดีของสินค้า เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในราคาที่เหมาะสม และมีโอกาสทางการตลาดในประเทศเป้าหมายมากขึ้น” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โฆษกรบ. โชว์สินค้าเกษตรของไทยขึ้นแท่นเบอร์ 1 อาเซียน
โฆษกรบ. เผย สินค้าเกษตรขึ้นแท่นที่ 1 อาเซียน ติดอันดับ 8 ของโลก หลัง 8 เดือน ส่งออกพุ่ง4.3แสนล้านบาท นายกฯสั่ง เร่งลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรค ดันติด Top5 โลกให้ได้ต้นปีหน้า