เทียบชัด! บทลงโทษฝ่าฝืนข้อห้าม 'ทางม้าลาย' ไทย VS ญี่ปุ่น

28 ม.ค. 2565 - ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เทียบชัดๆ ! บทลงโทษฝ่าฝืนข้อห้าม “ทางม้าลาย” ไทย VS ญี่ปุ่น

จากกรณี พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย ถูกตำรวจขับบิ๊กไบค์ชนขณะข้ามทางม้าลายหน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมา จนเสียชีวิต สร้างความเสียใจให้กับผู้ทราบข่าวยิ่งนัก มีการพูดกันว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจนี้ก็เพราะบทลงโทษของเราไม่รุนแรง ทำให้มีผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย สู้บทลงโทษของญี่ปุ่นไม่ได้ เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ? ติดตามได้จากบทความนี้

1.ทำไมจึงต้องเปรียบเทียบบทลงโทษกับญี่ปุ่น ?

เหตุที่ต้องเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นก็เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรน้อยเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ในขณะที่ไทยเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก (โดยเปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตต่อจำนวนประชากรหนึ่งแสนคน) การเปรียบเทียบจะทำให้รู้ว่าเป็นเพราะบทลงโทษหรือไม่ ? จึงทำให้คนญี่ปุ่นเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรน้อยเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

อีกทั้ง ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คนไทยจำนวนไม่น้อยได้ไปเยือนมาแล้ว ได้มีโอกาสสัมผัสกับการใช้รถใช้ถนนรวมทั้งการข้ามทางม้าลาย ทำให้การเปรียบเทียบเป็นที่เข้าใจได้ง่าย

2.บทลงโทษของไทยไม่รุนแรงเหมือนของญี่ปุ่นจริงหรือ ?

จากการเปรียบเทีบบทลงโทษในการฝ่าฝืนข้อห้าม “ทางม้าลาย” ระหว่างของไทยกับของญี่ปุ่นในแต่ละฐานความผิด ได้ผลดังนี้

(1) ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย บทลงโทษของไทยจะถูกปรับไม่เกิน 1,000 บาท ในขณะที่ของญี่ปุ่นจะถูกจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือถูกปรับไม่เกิน 50,000 เยน (ประมาณ 15,000 บาท)

(2) ขับรถชนคนข้ามทางม้าลายได้รับบาดเจ็บ บทลงโทษของไทยจะถูกจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในขณะที่ของญี่ปุ่นจะถูกจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน (ประมาณ 300,000 บาท)

(3) ขับรถชนคนข้ามทางม้าลายเสียชีวิต บทลงโทษของไทยจะถูกจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ในขณะที่ของญี่ปุ่นจะถูกจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน (ประมาณ 300,000 บาท)

จากการเปรียบเทียบจะเห็นได้ว่าบทลงโทษของไทยมีทั้งที่รุนแรงน้อยกว่าและรุนแรงมากกว่าของญี่ปุ่น แต่ทำไมไทยจึงมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรมากกว่าญี่ปุ่นมาก ? หรือ ทำไมญี่ปุ่นจึงมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรน้อยกว่าไทยมาก ?

3.ทำไมญี่ปุ่นจึงมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรน้อยกว่าไทยมาก ?

ในเมื่อบทลงโทษของญี่ปุ่นมีทั้งรุนแรงมากกว่าและรุนแรงน้อยกว่าบทลงโทษของไทย แล้วทำไมญี่ปุ่นจึงมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรน้อยกว่าไทยมาก ? ที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นเพราะ

(1) ญี่ปุ่นมีการเข้มงวดกวดขันการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างจริงจังมากกว่าไทย ?

(2) ญี่ปุ่นใช้มาตรการทางวิศวกรรมจราจรอย่างเต็มที่ เช่น สีทางม้าลายชัดเจน มีเครื่องหมายจราจรบนถนนเตือนก่อนถึงทางม้าลาย มีป้ายจราจรที่ชัดเจนและเพียงพอให้ผู้ขับขี่รู้ว่าข้างหน้ามีทางม้าลาย ซึ่งจะต้องลดความเร็ว มีไฟฟ้าแสงสว่างเพียงพอ มีการทาสีให้เป็นแถบนูน (Rumble Strip) ทำให้มีเสียงดังเมื่อขับรถผ่านก่อนถึงทางม้าลาย และบางแห่งมีการยกระดับทางม้าลายให้สูงกว่าระดับถนน เพื่อให้ผู้ขับขี่เห็นทางม้าลายและคนที่กำลังข้ามทางม้าลายได้ชัดเจนขึ้น เป็นต้น

(3) คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เคารพกฎ กติกาสังคม คนที่เคยไปเยือนญี่ปุ่นจะพบว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนที่ทำตามข้อบังคับอย่างเคร่งครัด เช่น ข้ามถนนบนทางม้าลาย ไม่ทิ้งขยะในที่สาธารณะ ไม่ส่งเสียงดังในร้านอาหาร มีการเข้าคิวทุกการใช้บริการ ฯลฯ หรือคนที่เคยไปใช้ชีวิตในญี่ปุ่นคงเคยมีประสบการณ์ในการแยกขยะก่อนนำถุงขยะไปวางไว้ตามจุดและเวลาที่กำหนด แต่อย่างไรก็ตาม มีการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้พบว่ามีผู้ขับขี่ในบางเมืองของญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยที่ไม่หยุดรถหน้าทางม้าลายที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจร

(4) สอบใบขับขี่ในญี่ปุ่นยากมาก การได้ใบขับขี่ในญี่ปุ่นเป็นเรื่องยากมาก ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน จึงอาจทำให้คนญี่ปุ่นขยาดกับการทำผิดกฎจราจร เพราะเมื่อทำผิดจะถูกพักการใช้ใบขับขี่หรือเพิกถอนใบขับขี่ก็ได้

ในญี่ปุ่นกระบวนการขอรับใบขับขี่จะต้องผ่านการอบรมที่โรงเรียนสอนขับรถถึง 48 ชั่วโมง แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ประกอบด้วยขั้นตอนที่ 1 มีการอบรมทฤษฎี 10 ชั่วโมง และฝึกหัดการขับรถในสนามฝึก 12 ชั่วโมง หลังจากนั้นเป็นการทดสอบ หากสอบผ่านก็จะได้รับใบขับขี่ฉบับชั่วคราวเพื่อเข้าอบรมขั้นตอนที่ 2 ต่อไป ซึ่งจะมีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการขับรถบนท้องถนนร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปลอดภัย 16 ชั่วโมง และยังมีการฝึกหัดขับรถบนถนนจริงอีก 10 ชั่วโมง แล้วจะได้รับการประเมินความสามารถในการขับรถบนถนนจริงว่าสามารถขับรถได้หรือไม่ ? ถ้าได้ จะได้รับใบขับขี่ฉบับจริง โดยเฉลี่ยคนญี่ปุ่นจะใช้เวลาในการอบรมและสอบเพื่อรับใบขับขี่ประมาณ 3 เดือน เสียค่าใช้จ่ายขั้นต่ำประมาณ 100,000 บาท

ในขณะที่ในไทยจะต้องเข้ารับการอบรมที่โรงเรียนสอนขับรถของกรมการขนส่งทางบก หรือที่โรงเรียนเอกชนที่กรมฯ รับรองเป็นเวลา 15 ชั่วโมง แบ่งเป็นภาคทฤษฎี 5 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติ 10 ชั่วโมง กรณีอบรมที่โรงเรียนของกรมฯ จะเสียค่าใช้จ่าย 650 บาท ส่วนกรณีอบรมที่โรงเรียนเอกชน จะเสียค่าใช้จ่าย 2,000-6,000 บาท

4.สรุป อุบัติเหตุจราจรในไทยเกิดจากข้อบกพร่องของผู้ขับขี่เป็นส่วนใหญ่ เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ขับขี่ในบ้านเราส่วนหนึ่งไม่เคารพกฎจราจร ด้วยเหตุนี้ พวกเราทั้งราษฎร์และรัฐจะร่วมมือร่วมใจกันแก้ขอบกพร่องนี้ได้อย่างไร ? เพื่อไม่ให้ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดร.สามารถ' หนุนรัฐซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน แต่ค้านขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช

'ดร.สามารถ' หนุนรัฐซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน เพื่อลดค่าโดยสารทุกสายทุกสีเหลือ 20 บาทตลอดสาย ต้องการทำให้ค่าผ่านทางด่วนถูกลงด้วย ก็เป็นเรื่องดีเช่นเดียวกัน แต่กลับจะขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ให้เอกชน ซึ่งจะไม่สามารถทำให้ค่าผ่านทางด่วนทั้งโครงข่ายถูกลงได้ ในทางกลับกัน การทำให้สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงโดยเร็ว จะทำให้ค่าผ่านทางถูกลง

'ดร.สามารถ' แพร่บทความ บทเรียนสูญ 1.3 แสนล้าน รถไฟฟ้าสายสีส้ม ต้องมีผู้รับผิดชอบ

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ รถไฟฟ้าสายสีส้ม "บทเรียนที่ต้องเรียน" มีเนื้อหาดังนี้

'ดร.สามารถ' แนะ นายกฯ ลด 'อุบัติเหตุจราจร' ช่วง สงกรานต์ เข้มงวดกวดขัน 'คนขับ'

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่อง แนะ “นายกฯ” ลด “อุบัติเหตุจราจร” ช่วง “สงกรานต์” มีเนื้อหาดังนี้่

'ดร.สามารถ' ถาม 'กพท.' ไหนว่าจะลดค่าตั๋วเครื่องบิน แนะกำหนดเพดานค่าโดยสารต่อกม.

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง ไหนว่าจะลดค่าตั๋วเครื่องบิน มีเนื้อหาดังนี้

เจ๊งวันละ 7.4 ล้านบาท! รถไฟฟ้าสายสีแดง-ม่วง 20 บาทตลอดสาย

สามารถแฉรถไฟฟ้าสีแดง-ม่วง 20 บาทตลอดสายครบ 30 วัน แล้ว ผงะ! ขาดทุนวันละ 7.4 ล้านบาท ถามไปต่อหรือพอแค่นี้ ที่สำคัญอย่าลืมทุกสายต้อง 20 บาทเพราะหาเสียงไว้

อีกแล้ว! เก๋งเฉี่ยวนักเรียน ม.1 บาดเจ็บ ขณะข้ามทางม้าลายหน้าโรงเรียน

นายวุฒิพันธุ์ ศรีศักดานุวัตร อายุ 45 ปี เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ สืบเนื่องจาก เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เวลา 07.45 น มีอุบัติเหตุรถเก๋งเฉี่ยวชน เด็กชายเอก( นามสมมุติ ) อายุ 12 ปี