กสม.จี้ 'มหาดไทย' เร่งพิสูจน์สถานะคนไทยพลัดถิ่น!

กสม.ลงพื้นที่ประจวบฯ- รอนอง พบคนไทยพลัดถิ่นจำนวนมากเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน การพิสูจน์สถานะบุคคลเป็นไปด้วยความล่าช้า จี้ มท.เร่งทำงาน

27 ม.ค.2565 - น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)แถลงข่าวประจำสัปดาห์ ว่า เมื่อวันที่ 19 - 21 ม.ค.นางปรีดา คงแป้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี และตนเองได้ลงพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดระนอง เพื่อรับฟังสถานการณ์และหารือถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม และผู้แทนส่วนราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดระนอง โดยเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่น 4 จังหวัด (ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา) ให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านยังคงได้รับความเดือดร้อนจากกระบวนการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิสูจน์รับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ดำเนินไปด้วยความล่าช้า ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานจากรัฐ เช่น การรักษาพยาบาล หรือการเข้าเรียนในสถานศึกษา ได้ โดยเครือข่ายฯ ได้ยื่นข้อเสนอให้ กสม. เร่งติดตามการดำเนินงานแก้ไขปัญหาโดยหน่วยงานของรัฐ เช่น เร่งรัดกระบวนการพิสูจน์สถานะ การตั้งคณะทำงานติดตามการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัด หรือการให้รับเด็กเข้าเรียนในชั้นอนุบาลและประถมศึกษา เป็นต้น

ในโอกาสเดียวกันนี้ กสม. ได้รับทราบข้อมูลจากผู้แทนส่วนราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และระนอง ระบุว่า จ.ประจวบคีรีขันธ์มีข้อมูลการยื่นคำขอพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นกว่า 1,200 ราย ขณะที่ยังไม่ได้ยื่นคำขอราว 1,700 ราย ส่วน จ.ระนองมีข้อมูลการยื่นคำขอพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นกว่า 2,900 ราย ขณะที่ยังไม่ได้ยื่นคำขอราว 1,400 ราย (ข้อมูล ณ ปลายปี 2564) ซึ่งการดำเนินการแก้ไขปัญหามีความล่าช้าเนื่องจากกระบวนการตรวจพิสูจน์ต้องอาศัยเวลาในการสอบพยานบุคคล พยานเอกสาร รวมทั้งความเชื่อมโยงผังเครือญาติ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาบุคลากรทางทะเบียนมีจำนวนไม่เพียงพอกับภาระงาน ซึ่งบางอำเภอสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ยื่นคำขอพิสูจน์สถานะได้เพียงวันละ 1 รายเท่านั้น

เรื่องสถานะบุคคลและการตรวจพิสูจน์เพื่อรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชนสำคัญที่นำไปสู่โอกาสในเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านต่าง ๆ เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา การประกอบอาชีพ อันเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนต้องได้รับและรัฐต้องจัดหาให้อย่างเสมอภาค ดังที่อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) ข้อ 5 มีหลักการไว้ให้รัฐภาคีห้ามและขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบและประกันสิทธิของทุกคนให้มีความเสมอภาคกันตามกฎหมาย โดยไม่จำแนกตามเชื้อชาติ สีผิว หรือชาติหรือเผ่าพันธุ์กำเนิด

สำหรับกรณีปัญหาของคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมาต่อเนื่องยาวนานนี้ เป็นประเด็นที่ กสม. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยที่ผ่านมา กสม. ชุดที่ 2 เมื่อปี 2558 เคยมีข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาสัญชาติของคนไทยพลัดถิ่นไปยังกระทรวงมหาดไทย และล่าสุด กสม. ชุดที่ 4 ในคราวประชุมด้านบริหาร เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 มีมติเห็นชอบให้มีการดำเนินโครงการสำรวจและจัดทำข้อมูล ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะ มาตรการ หรือแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555 เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะบุคคลให้แก่คนไทยพลัดถิ่นในเชิงโครงสร้างด้วย ส่วนข้อมูลสภาพปัญหาที่ได้รับฟังจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ กสม. จะประสานไปยังกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับพื้นที่เพื่อดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปด้วยความถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปลาหมอคางดำ'ต้องเป็นศูนย์ ก่อนนิเวศย่อยยับ

จากสถานการณ์ปลาหมอคางดำที่กำลังระบาดไปในแหล่งน้ำธรรมชาติและพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทย   ซึ่งปลาหมอคางดำมีต้นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา ประเทศไทยเองมีบริษัทเอกชนนำเข้ามาเมื่อปี 2553  ซึ่งวงจรปลาหมอคางดำขยายพันธุ์รวดเร็ว ทุกๆ 22 วัน

"อนุทิน" ประธาน MOU 3 หน่วยงาน ส่งเสริม พัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษา และกำลังคนทุกช่วงวัย สร้างกำลังคนสมรรถนะสูงขับเคลื่อนประเทศ

วันนี้ (18 กรกฎาคม 2567) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ การส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษาและกำลังคนทุกช่วงวัย ระหว่าง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ

กระทรวงมหาดไทย จับมือ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ร่วมลงนาม MOU "แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่" มุ่ง

วันนี้ (11 ก.ค. 67) เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นางสาวศุภมาศ อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

รัฐบาลเปิดมาตรการรับมือน้ำท่วม พร้อมแผนเผชิญเหตุตลอดหน้าฝน

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.)

“ชาดา” ตอบกระทู้ ให้ต่างชาติถือครองคอนโดฯ จาก 49 เป็น 75 % และ พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ ขยายเวลาเช่าที่ดินเป็น 99 ปีจาก 30 ปี

นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.กระทรวงมหาดไทย ตอบกระทู้ถามสด แทนนายเศรษฐา ทวีศิลป์ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมาย