26 ม.ค.2565 - ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊กว่า การจับปรับไม่ได้เป็นการรังแกใคร แต่เป็นการปกป้องคนเดินถนน หลังจากที่ผมได้ลงเรื่องเกี่ยวกับโครงการ “จับ ปรับ” แยกอโศก ที่มีการติดตั้งกล้อง ai เก็บข้อมูลผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร แล้วส่งข้อมูลไปยัง สน.ทองหล่อ เพื่อดำเนินคดี ก็มีเสียงตอบรับซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายให้จริงจัง แต่ก็มีบางคนที่แสดงความเห็นในเชิงว่านี่เป็นการรังแกผู้หาเช้ากินค่ำ หรือตอกย้ำความลำบากของประชาชน
ผมขอยืนยันว่าการบังคับใช้กฎหมายเป็นสิ่งที่ควรทำ และต้องทำให้เด็ดขาด เพราะการใช้ทางม้าลายเป็นสิทธิของทุกคน ทั้งผู้ขับขี่รถ และผู้ข้ามทางม้าลาย อย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นต้องมีมาตรการที่รับประกันความปลอดภัยของ “ทุกชีวิต” เพื่อป้องกันการสูญเสียให้เกิดน้อยที่สุด
การปรับไม่ได้ต้องการทำเพื่อรังแกคนจน หรือผู้ขับขี่รถ แต่ทำเพื่อจัดการขั้นเด็ดขาดกับ “ผู้ที่ฝ่าฝืนกฏหมาย รังแกคนข้ามถนน” เท่านั้น และวิธีการง่าย ๆ ที่จะ “ไม่ถูกปรับ" คือการทำตามกฎจราจร ซึ่งคงไม่ยากเกินไปครับ
ก่อนหน้านี้ โฆษกกทม. ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า ต้อง “จับ” “ปรับ” ถึง เปลี่ยน” พฤติกรรมคนได้ (วินัยจราจร) ความสูญเสียเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้และไม่ควรเกิดขึ้นกับชีวิตของคนที่เดินข้ามทางม้าลาย กทม จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก
การแก้ไขทางม้าลายให้สะดวก ปลอดภัย จะต้องแก้ด้วย 2 วิธีหลักๆ คือ 1.การแก้ไขทางกายภาพ ด้วยการออกแบบเชิงโครงสร้างเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมและ 2.การแก้ไขพฤติกรรมวินัยจราจร ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย ที่ต้องทำไปพร้อมๆ กัน
ทางม้าลายที่ดี ต้องมีความชัดเจน มีสัญญาณไฟ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่ในหลาย ๆ ที่ในประเทศไทยที่ทางม้าลายสภาพดีแล้ว ก็ยังมีปัญหา ยังมีคนใช้รถที่ฝ่าฝืนกฎจราจรจำนวนมาก เกิดอุบัติเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะขาด “วินัยจราจร”
อย่างเช่น แยกอโศกมนตรี แยกขนาดใหญ่ที่ กทม. ได้ปรับปรุงทางกายภาพแล้ว ทั้งขยายทางม้าลายให้กว้างขึ้น ทาสีแดง-ขาว ระบุข้อความ “พื้นที่จับปรับ” ไม่ให้รถจอดคร่อมทางม้าลาย และทำเนินหลังเต่าตรงทางม้าลายที่เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด รวมทั้งติดตั้งไฟส่องสว่างและไฟจราจรข้ามถนนแบบมีปุ่มกด เพื่อให้คนเดินข้ามทางม้าลาย ผู้ใช้รถใช้ถนนปลอดภัยไปด้วยกัน
แต่ภายหลังจากที่ดำเนินการแล้ว ก็ยังมีผู้ฝ่าไฟแดง จอดคร่อมทางม้าลาย ยังทำผิดในลักษณะเดิม เพียงเดือนมกราคมเดือนเดียว พบการกระทำผิดกว่า 25,000 ครั้ง!! ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการตามกฎหมาย เตรียมรอรับใบสั่งที่บ้านได้เลยครับ
เพราะในแยกอโศกเราได้นำกล้อง ai มาใช้ จากเดิมตำรวจตั้งด่านจับปรับมุมหนึ่ง อีกฝั่งหนึ่งก็ทำการฝ่าฝืน และด้วยความที่เป็นแยกขนาดใหญ่ และมีแยกลักษณะนี้อีกหลายแยก จำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เพียงพอที่จะจับปรับทุกคนที่ทำความผิดได้ แต่การใช้กล้องระบบ ai เก็บข้อมูลจะช่วยทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ ออกใบสั่งได้ครอบคลุมผู้กระทำผิดได้ทุกคน
การเปลี่ยน “วินัยจราจร” ที่แยกอโศกแยกเดียว คงไม่เพียงพอ แต่ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เช่นเดียวกันกับแยกนี้ในทุก ๆ แยก ทุก ๆ ทางม้าลาย ผู้ที่ชอบฝ่าฝืนก็จะโดน “ปรับ” ทุก ๆ ครั้ง และปรับพฤติกรรมตนเอง
ขอขอบคุณ สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ที่ร่วมกันริเริ่มโครงการแยกอโศก และ กทม.จะทำทุกวิถีทางเพื่อเร่งผลักดันให้ทุกแยก ทุกทางม้าลาย และทุกสถานีตำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ “จับ ปรับ” อย่างจริงจัง เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายด้วยการใช้เทคโนโลยีครับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เช็กเลย! ค่าฝุ่น PM2.5 รายพื้นที่ทั่วไทย
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้
คน กทม. เกินครึ่งไม่เห็นด้วยมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด
นย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจ ของประชาชน เรื่อง “สองมาตรการใหม่ คน กทม. จะเอาไง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานคร หากมีการใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขยะและค่าธรรมเนียมรถติด
คนกรุงอ่วม! สภาพอากาศมีผลกระทบสุขภาพถึง 33 พื้นที่
เพจกรุงเทพมหานคร โพสต์กราฟฟิกพร้อมเนื้อหา
เช็กเลย! ค่าฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศ 'เหนือ-กทม.' ยังอ่วม
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันที่ 6 ธันวาคม 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้