สภาฯรับหลักการร่าง พรบ.ตั๋วร่วม ใช้ฉบับ ครม. เป็นหลัก

สภาฯเอกฉันท์ รับหลักการร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วม ด้าน "มนพร" ยันเพื่อให้ประชาชนเดินทางได้ทุกระบบด้วยบัตรใบเดียว -ลดค่าใช้จ่าย-ลดโลกร้อน ขณะที่ "สุรเชษฐ์" ร่างของ ปชน. ค่าโดยสาร 8-45 บาท ตลอดทางทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า รถเมล์ เรือ เหน็บ “ตั๋วร่วม” อาจไม่ตอบนโยบาย 20 บาทที่มีแต่ระบบราง

29 ม.ค.2568 - เวลา 10.40 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง เป็นประธานในที่ประชุม วาระพิจารณาเรื่องด่วน ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ….ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เป็นผู้เสนอ และร่างที่นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และคณะเป็นผู้เสนอ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงหลักการและเหตุผล เพื่อเป็นการสนับสนุน การให้บริการขนส่งสาธารณะ ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า รถเมล์ และเรือโดยสาร โดยในสถานการณ์ปัจจุบันการขนส่งสาธาณณะและการบริการที่มีความหลากหลาย โดยให้ผู้บริการแต่ละรายมีต้นทุนในการจัดการและบริหาร รวมทั้งการจัดเก็บผู้โดยสารหรือค่าธรรมเนียมของตนเอง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ต้นทุนของการให้บริการขนส่งสาธารณะอยู่ในอัตราที่สูงและผู้ใช้บริการต้องรับผิดชอบต้นทุนดังกล่าว และยังทำให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ ดังนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายแก้ประชาชนผู้ใช้บริการโดยใช้บัตรโดยสารใบเดียว เดินทางได้ทุกระบบของการบริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมจากขนส่งส่วนบุคคลมาเป็นขนส่งสาธารณะ ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาล

นางมนพร กล่าวต่อว่า ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีหลักการสำคัญ 5 ประการ คือ 1.การจัดทำมาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วมเพื่อให้เป็นมาตรฐานกลาง โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนและการขนส่งการจราจร หรือ สนข. และใช้เป็นมาตราฐานกลางสำหรับตั๋วร่วมในอนาคต 2.เป็นการกำหนดอัตราโดยสารร่วม โดยอำนาจของรมว.คมนาคมในการออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม และเป็นการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจะต้องนำอัตราค่าโดยสารร่วมไปใช้บังคับในการทำสัญญาสัมปทานขนส่งสาธารณะในอนาคต 3.จัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม 4.ผู้ประกอบการที่จะมีสิทธิ์ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตตามกฏหมายฉบับนี้ และ 5.ในกรณีมีความจำเป็นให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการประกอบกิจการขนส่งสาธารณะใดเป็นกิจการที่ต้องใช้ระบบตั๋วร่วม และต้องได้ใบรับอนุญาตตามกฏหมายฉบับนี้ เพื่อรักษาการให้บริการระบบตั๋วร่วม หรือเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดในการส่งเสริมระบบตั๋วร่วมเพื่อป้องกันการเสียหายต่อสาธารณะ

"ภาพรวมทั้งหมดของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีทั้งหมด 7 หมวด 54 มาตรา เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนด้วยการใช้บัตรโดยสารใบเดียวเดินทางได้ทุกระบบของการบริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางจากขนส่งส่วนบุคคลมาเป็นการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาล"นางมนพรกล่าว

ด้าน นายสุรเชษฐ์ กล่าวเสนอหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายที่ได้เสนอ โดยสรุปถึงข้อแตกต่างระหว่างร่างของร่างรัฐบาลและร่างของพรรคประชาชน เพื่อชี้เห็นว่าเหตุใดถึงต้องใช้ร่างของพรรคประชาชนเป็นร่างหลัก ว่าโดยหลักการเราสนับสนุนให้มีระบบตั๋วร่วม แต่เราต้องการให้เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ระบบสาธารณะที่ดีไม่ใช่มีเฉพาะร่าง ต้องทำให้รถเมล์กับรถไฟฟ้าทำงานร่วมกันได้ ไม่ใช่สร้างโลกคู่ขนานอุดหนุนแต่รถไฟฟ้า แล้วละเลยรถเมล์ ซึ่งมีหลายประเด็นที่ ร่างพ.ร.บ.ของ ครม.และพรรคประชาชนแตกต่างกัน เช่น คำว่าตั๋วร่วม กับค่าโดยสารร่วม ซึ่งคำว่า “ค่าโดยสารร่วม” จะส่งผลโดยตรงต่อชีวิตประชาชนจริงๆ หรือ กรณีตั๋วร่วม 20 บาทตลอดทางของพรรคเพื่อไทย ซึ่งหมายถึงเฉพาะรถไฟ รถไฟฟ้า แต่ค่าโดยสารร่วมตามข้อเสนอของพรรคประชาชนมีราคา 8-45 บาทตลอดทาง ที่รวมถึงทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า รถเมล์ เรือ ดังนั้นจะต้องเขียนกฎหมายให้ครอบคลุมกับการบริการขนส่งสาธารณะทั้งหมดของประเทศ

“พ.ร.บ.ตั๋วร่วม อาจจะไม่ได้ตอบนโยบาย 20 บาทโดยตรง แต่อย่างน้อยให้กรอบอำนาจที่จะไปทำ แม้เราจะมีนโยบายที่แตกต่างกัน แต่เราต้องการ พ.ร.บ.เดียวกัน ดังนั้นจะต้องคิดว่าจะเขียน พ.ร.บ.อย่างไรให้ครอบคลุม และไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนไปอย่างไร พ.ร.บ.ฉบับนี้จะต้องยังอยู่”นายสุรเชษฐ์ กล่าว

นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า ร่างของพรรคประชาชน มีนิยามที่ชัดเจน ครอบคลุมและไม่สับสน โดยเพิ่มสัดส่วนผู้แทนประชาชนในคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม เพิ่มความชัดเจนและกลไกโดยคำนึงถึงความชัดเจนและการบังคับใช้จริง เพิ่มหน้าที่ผู้ประกอบการระบบร่วมให้เปิดเผยสถานะทางการเงิน เพิ่มความชัดเจนในการใช้เงินกองทุน โดยมุ่งหวังสร้างสมดุลย์การอุดหนุนบริการขนส่งสาธารณะ พร้อมคำนึงถึงภาระทางการคลังระยะยาว

จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นที่หลากหลายกว้างขวาง และเห็นด้วยกับการมีร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม โดยที่ประชุมลงมติเห็นด้วยรับหลักการ 367 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ…. จำนวน 31 คน ระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน โดยทั้งครม.และพรรคประชาชน ต่างเสนอให้ใช้ร่างที่ตนเสนอเป็นร่างหลัก

และเมื่อลงมติที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้ร่าง ครม.เป็นหลักในการพิจารณา ด้วยคะแนน 226 ต่อ 142 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง จึงถือว่าใช้ร่างของ ครม.เป็นร่างหลักในการพิจารณา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุริยะ' เผยร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วม เข้าครม.วันนี้ คาดได้ใช้รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ก.ย.68

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้จะมีการ

'สุริยะ' ย้ำศึกษาเก็บภาษีรถติด​ ขอเวลา​ 6 เดือน - 1 ปี

“สุริยะ" ชี้​ ยังเป็นแค่ผลการศึกษาเก็บภาษีรถติด​ ขอเวลา​ 6 เดือน-1 ปี​ ตั้งธงเก็บแค่รถเก๋ง 40-50 ต่อวัน​ เฉพาะเส้นมีรถไฟฟ้า ส่วน​รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย​ต้องทำให้เสร็จก่อน​ลั่น ปีหน้า​ เกิดแน่​

'สุริยะ' สั่งเร่ง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม คาดใช้ปี 68 รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวัน

ดีเดย์ 30 พ.ย.นี้ ใช้บัตร EMV เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง-สีม่วง 20 บาทตลอดสาย

‘สุรพงษ์’ ลงพื้นที่ใช้บัตร EMV คิดค่าโดยสารเดินทางเชื่อมต่อ รถไฟฟ้า ‘สายสีแดง-สีม่วง’ราคาสูงสุดเพียง 20 บาท ย้ำช่วยลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางแก่ประชาชน ด้าน ‘รฟม.’ชี้พก EMV ใบเดียว ใช้บริการรถไฟฟ้าจ่ายค่าแรกเข้าครั้งเดียว