ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินสอบ สทนช.ละเว้นปฎิบัติหน้าที่-ข้อมูลไม่ครบแต่เดินหน้าจัดเวทีโครงการสร้างเขื่อนสานะคาม เผยอยู่ห่างชายแดนไทยด้าน จ.เลยแค่ 1.5 กม.ชาวบ้านโวยส่งผลกระทบข้ามแดนแน่แต่ยังไม่เห็นรายงานกลับเร่งรีบ
19 ธ.ค.2567 - ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ นายมนตรี จันทรวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเสรีภาพแม่น้ำโขง ในนามภาคประชาสังคม 12 องค์กร ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนกรณีโครงการสร้างเขื่อนสานะคาม ที่จะก่อสร้างกั้นแม่น้ำโขงในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว ห่างจากพรมแดนไทยที่ อ.เชียงคาน จ.เลย เพียงประมาณ 1.5 กม. ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ได้ประกาศที่จะดำเนินการประชุมให้ข้อมูลแก่ประชาชนในพื้นที่แม่น้ำโขงในปลายเดือนธันวาคมนี้
หนังสือร้องเรียนขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบการปฏิบัติงานของ สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยที่เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากฝ่ายไทยยังไม่รับรองรายงานทางเทคนิคของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission-MRC) ที่ทางการลาวส่งมาในปี 2565-2566 ซึ่งขณะนั้นฝ่ายไทยระบุชัดเจนว่าข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ หากรายงานยังไม่สมบูรณ์และไม่สามารถยอมรับได้ ก็ยังจะไม่เริ่มกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) แต่ล่าสุดเดือนตุลาคมที่ผ่านมีเอกสารรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุว่าทางลาวได้ส่งรายงานการประเมินด้านสัญฐานของแม่น้ำโขง เกี่ยวกับตะกอนและชลศาสตร์ ซึ่งไทยได้รับรองแล้ว แต่ยังไม่พบข้อมูลการประเมินด้านนิเวศวิทยา สัตว์น้ำ เศรษฐกิจสังคม ในรายงานที่ส่งมาดังกล่าว จึงสงสัยว่ามีการตรวจรับและรับรองรายงานเหล่านี้แล้วหรือไม่
นายมนตรีกล่าวว่าในการประชุมแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม มีมติให้เดินหน้ากระบวนการ PNPCA ซึ่งต่อมาสทนช.ได้แจ้งให้ชาวบ้านร่วมประชุมในวันที่ 24 ธันวาคม ที่อ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ขัดแย้งกับมติเดิม เครือข่ายประชาสังคมจึงตั้งข้อสังเกตการเร่งรัดทั้งที่ข้อมูลยังไม่ครบถ้วนเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล ยิ่งไปกว่านั้น รายงานที่อ้างว่าสมบูรณ์แล้วก็ยังไม่ได้เผยแพร่บนเว็บไซต์ของ สทนช. แสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสในการดำเนินการ
“ประชาชนต้องการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบกรณีเขื่อนสานะคามอีกครั้ง เหตุใด สทนช. จึงไม่ปรึกษาหารือเพื่อกำหนดวันประชุมที่เหมาะสม และเปิดเผยข้อมูลล่วงหน้าเพื่อให้ชาวบ้านมีเวลาศึกษาข้อมูลก่อนเข้าร่วมกระบวนการ ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของ สทนช. ในกรณีนี้” นายมนตรี กล่าว
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 เพจ สทนช. ได้เผยแพร่ข้อมูลเนื้อหาสำคัญว่านายประเสริฐ จันทร์รวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และประธานในการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMC) ได้มอบหมายให้สทนช. จัดเวทีให้ข้อมูลโครงการฯ เขื่อนสานะคาม ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า และที่ประชุมได้มอบหมายให้ สทนช. รวบรวมความเห็นต่อโครงการฯ เขื่อนภูงอย ส่งให้สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) เพื่อปรับปรุงและเพิ่มเติมข้อมูลให้เพียงพอในรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนที่คาดว่าจะเกิดขึ้น พร้อมกันนี้ ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วม (JAP) โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง ปากลาย และหลวงพระบาง มอบหมายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะคู่สัญญาให้กำกับติดตามการดำเนินงานของผู้พัฒนาโครงการให้เป็นไปที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายไฟ (PPA) อย่างเคร่งครัด
นายชาญณรงค์ วงศ์ลา กลุ่มรักษ์เชียงคานและประมงพื้นบ้าน อ.เชียงคาน จ.เลย กล่าวว่าตนเพิ่งได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่สทนช. ให้เข้าร่วมเวทีให้ข้อมูลซึ่งบอกว่าไม่ใช่เวที PNPCA แต่เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนสานะคาม โดยจะมาจัดเวทีกับประชาชนและเอาความกังวลไปคุยกันต่อ
“ชุมชนที่เชียงคานกังวลว่าจะจัดเวทีอย่างไร ข้อมูลก็ไม่ได้เปิดเผย ไม่ส่งเอกสารให้เราอ่านก่อนเลย หากเป็นเช่นนี้ก็คล้ายๆ กับเวที PNPCA กรณีเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนอื่นๆ ที่ผ่านมา ที่สำคัญที่สุดสำหรับโครงการเขื่อนสานะคามนั้นมีรายงานตรวจสอบของผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกมาแล้ว พวกเรางงมากว่าหน่วยงานมาขอให้เราไปเข้าร่วมเวที แต่อยากเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผู้ตรวจการแผ่นดินที่รายงานซึ่งระบุชัดเจนว่ายังขาดข้อมูลผลกระทบข้ามพรมแดนที่จะเกิดกับแผ่นดินไทยและประชาชนไทย” กลุ่มประมงพื้นบ้านกล่าว
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่าในฐานะที่ติดตามมาโดยตลอด มีคำถามว่าทำไม สทนช. จึงเร่งรัดจัดเวทีกรณีเขื่อนสานะคามในช่วงปลายปี ซึ่งเมื่อปี 2564 สทนช. เคยจัดเวทีมาครั้งหนึ่งแล้ว การจัดเวทีครั้งนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายงานเพิ่มเติมที่ได้รับจากบริษัทผู้พัฒนาโครงการและสปป.ลาว โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบข้ามพรมแดน ทั้งเรื่องระดับน้ำ การระบายตะกอน การเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนระหว่างไทยลาวซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก
“ที่ตั้งของเขื่อนอยู่ห่างจากชายแดนไทยลาว ที่ปากน้ำเหือง อ.เชียงคาน เพียงแค่ 1.5 กิโลเมตรเท่านั้น ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้มีการเปิดเผยแต่อย่างใด แม้ทางสนทช.เคยรับปากว่าจะเปิดเผยข้อมูลในการประชุมร่วมหลายครั้ง หากเป็นเช่นนี้กระบวนการเหล่านี้ก็จะเป็นการจัดเพื่อเป็นการรับรองให้เกิดการก่อสร้างเขื่อนสานะคามได้เช่นเดียวกับกรณีเขื่อนแม่น้ำโขงก่อนหน้านี้ ทั้งไซยะบุรี ดอนสะโฮง หลวงพระบาง ปากแบง และปากลาย” นายหาญณรงค์กล่าว
อนึ่งโครงการเขื่อนสานะคาม (Sanakham Hydropower Project) ได้เข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือฯ เมื่อ 8 กันยายน 2562 แต่ไม่ได้มีกำหนดวันสิ้นสุดเนื่องจากเป็นช่วงการระบาดของไวรัสโควิด ต่อมาปี 2564 ทั้งคณะทำงานด้านเทคนิค 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงไม่รับรองรายงาน เนื่องจากขาดข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดนโดยเฉพาะประเด็นอุทกวิทยา การกัดเซาะร่องน้ำลึกและตลิ่งพัง เพราะระดับน้ำอาจจะผันผวนจากการใช้งานเขื่อนอาจส่งผลกระทบต่อท้ายน้ำรายวันที่ระดับ 3.5 เมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อระบบนิเวศและตลิ่งของประเทศไทย ตั้งแต่เขตปากน้ำเหือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสกายวอล์กเชียงคาน แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง และแม่น้ำโขงเขต อ.เชียงคาน อ.ปากชม จ.เลย ต่อมาวันที่ 19 มกราคม 2565 ไทยปฏิเสธการสิ้นสุดกระบวนการ PNPCA เนื่องจากข้อมูลไม่เพียงพอจึงจัดเวทีในประเทศไทยไม่ได้ หลังจากนั้นปี 2565-2567 ทางการไทยได้ร้องขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการไหลของน้ำ การเปลี่ยนแปลงทางธรณีสัณฐานร่องน้ำและตะกอน และผลกระทบข้ามพรมแดนทางระบบนิเวศและเศรษฐกิจและสังคมต่อประชาชนในเขตไทย แต่ยังไม่มีการเปิดเผยแต่อย่างใด
โครงการเขื่อนสานะคาม มีผู้พัฒนาโครงการคือบริษัทต้าถัง คอร์เปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) และบริษัทกัลฟ์ เอเนอยี่ เดวอลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) มีกำลังผลิตติดตั้ง 684 เมกะวัตต์ มูลค่าการก่อสร้าง 2,073 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เขื่อนมีความสูง 56.6 เมตร ยาวขวางลำน้ำโขง 909 เมตร ระดับกักเก็บน้ำ 220 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก) และข้อมูลของ MRC ระบุว่าจะมีประชาชนได้รับผลกระทบโดยตรงมากถึง 62,530 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อลังการ! อุโมงค์ไฟดาวล้านดวง ชมแสงหลากสีระยิบระยับริมโขงรับลมหนาว
ลานกินลมชมวิว ริมแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม นางสงวน มะเสนา รอง ผวจ.นครพนม นางสาวศุภพานี โพธิ์สุ นายก อบจ.นครพนม นายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศบาลเมืองนครพนม นางสางนงนุช สีทาน้อย ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครพนม
จับล็อตใหญ่ริมน้ำโขง! ยาบ้าสูตรฟรุ้งฟริ้ง-ไอซ์ มูลค่ารวม 700 ล้านบาท
พล.ร.ต.ณรงค์ เอมดี ผบ.นรข. พ.อ.ปราโมทย์ เนียมสำเภา รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรศักดิ์มนตรี (รอง ผบ.กกล.ฯ) นายวรวิทย์ พิมพนิตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม น.อ.แมนรัตน์ บุญสวัสดิ์ ผู้บังคับการ นรข.เขตนครพนม (ผบ.นรข.เขตฯ)
ชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น 3 อำเภอริมโขงเชียงราย แสดงพลังค้านเขื่อนปากแบง
ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ชาวบ้าน ตัวแทนชุมชน ผู้นำสตรี และผู้นำท้องถิ่น อาทิ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายกเทศมนตรี ตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)
อีสานสกูตเตอร์ เลาะตามสายแม่น้ำ 8 จังหวัด ปลดพันธนาการเขื่อนแม่น้ำโขง
กลุ่มแม่โขงอีสานสกูตเตอร์รณรงค์ผลกระทบจากการพัฒนาในแม่น้ำโขง จากเขื่อนสานะคาม จ.เลย ถึง เขื่อนภูงอย จ.อุบลฯ ผ่าน 8 จังหวัดติดแม่น้ำโขงระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร
ชาวบ้านเกาะเต่า ร้องผู้ตรวจฯ ชงศาลปค. เพิกถอนกฎกระทรวงห้ามออกโฉนดบนเกาะ
นายอนันต์ชัย ไชยเดช ประธานมูลนิธิทนายกองทัพธรรม พร้อมด้วยชาวบ้านเกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบและมีความเห็นเสนอต่
แจงดราม่า! งานตักบาตรพระ 1 พันรูป ปล่อยนั่งตากแดด โยนออแกไนซ์รับผิด
จังหวัดนครพนม ได้รายงานข้อเท็จจริง กรณีงาน "มหาบุญแห่งศรัทธานครพนม" โดยตามที่ปรากฏข่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ ประเด็น "ทัวร์ลงยับ นิมนต์พระ 1 พันรูป ปล่อยนั่งตากแดด" เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมานั้น