14 ธ.ค.2567 - นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกปะจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ศนส.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าผลผลิตมะม่วงหาวมะนาวโห่ โดยการศึกษาค้นคว้า 3 ขั้นตอน คือ 1) การศึกษาพัฒนาการสกัดสารสำคัญจากมะม่วงหาวมะนาวโห่ของผลห่าม 2) ทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพในการลดไขมันในเลือดและความปลอดภัยในระดับหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง และ 3) พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากมะม่วงหาวมะนาวโห่ในรูปแบบเจลลี่ (Carrisa Jelly) พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสู่เชิงพาณิชย์
นายคารม กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้สมุนไพรเพื่อบำรุงร่างกายและรักษาโรคได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยมะม่วงหาวมะนาวโห่ (Carissa carandas Linn.) เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ดังกล่าวมายาวนาน ด้วยคุณสมบัติด้านสมุนไพรที่มีองค์ประกอบสำคัญทางเคมี ได้แก่ alkaloids, flavonoids, saponins, cardiac glycosides, triterpenoids, phenolic compounds, and tannins ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านโรคมะเร็ง ฤทธิ์ต้านอาการอักเสบ และบำรุงหัวใจ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้ดำเนิน “โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดจากภาวะไขมันในเลือดสูง โดยสารออกฤทธิ์จากสารสกัดมะม่วงหาวมะนาวโห่ของผล” โดยได้ทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยาทั้งในหลอดทดลอง (in vitro) และสัตว์ทดลอง (in vivo) เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพฯ ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ช่วยลดภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่อาจทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร พร้อมทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ ในการพัฒนาการผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากสมุนไพรไทย
ทั้งนี้ จากการดำเนินการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเซลล์ไขมัน จากสารสกัดมะม่วงหาวมะนาวโห่พบว่า สารสกัดมะม่วงหาวมะนาวโห่ผลห่าม สามารถลดการสร้างเซลล์ไขมันได้ดี และเมื่อนำสารสกัดมาทดสอบการลดระดับไขมันในเลือดของสารสกัดมะม่วงหาวมะนาวโห่ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูงพบว่า หนูในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดมะม่วงหาวมะนาวโห่ มีระดับ cholesterol และ triglyceride ในเลือดลดลง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม นอกจากนั้นยังได้ดำเนิน การประเมินความปลอดภัยของสารสกัดมะม่วงหาวมะนาวโห่ผลห่าม พบว่า ไม่ก่ออาการพิษและการตายของสัตว์ทดลองหลังได้รับตัวอย่างทดสอบทั้งการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ภาคประชาชน เสนอ 11 ประเด็น ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.กัญชา
ตามที่กรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้เชิญภาครัฐ เอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 นั้น นายประสิทธิ์ชัย
'บิ๊กตู่' ปลื้มอุตสหกรรมสมุนไพรไทยเติบโตทั้งตลาดภายในและนอกประเทศ
นายกฯ ยินดีอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยเติบโตแข็งแกร่ง ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ พร้อมสนับสนุนความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว