ชาวบ้านเกาะเต่าร้อง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาลปค.เพิกถอนกฎกระทรวงห้ามออกโฉนดที่ดินบนเกาะ "ทนายกระดูกเหล็ก" ชี้ทำชาวเกาะกลายเป็นพลเมืองชั้น 2 ของประเทศ ท้ารบกรมธนารักษ์ อย่าคิดเป็นหน่วยงานรัฐทำอะไรถูกหมด เจอกันแน่ทั้งศาลปค.-ศาลยุติธรรม เล็งร้องสส-สว.เพิ่ม
19 พ.ย.2567 - นายอนันต์ชัย ไชยเดช ประธานมูลนิธิทนายกองทัพธรรม พร้อมด้วยชาวบ้านเกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบและมีความเห็นเสนอต่อศาลปกครองกลางให้เพิกถอนกฎกระทรวงฉบับที่ 43(พ.ศ.2537) ข้อที่ 14 (3)ที่กำหนดว่า"ที่ดินจะออกโฉนดที่ดินต้องเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิ์ในที่ดินได้ครอบครองและทำประโยชน์แล้วและเป็นที่ดินที่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ตามกฎหมายแต่ห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดิน ดังต่อไปนี้..
(3) ที่เกาะ แต่ไม่รวมถึงที่ดินของผู้ซึ่งมีหลักฐานแจ้งการครอบครองที่ดินมีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดตราจองตราจองที่ตราว่า"ได้ทำประโยชน์แล้ว" เนื่องจากเห็นว่ากฎกระทรวงข้อดังกล่าวกำจัดสิทธิเสรีภาพของชาวเกาะ ให้เป็นพลเมืองชั้น2 ขัดต่อประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 49 ทวิและขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 5 มาตรา 26 และมาตรา 27
นายอนันต์ชัย กล่าวว่า ที่ดินเกาะเต่าชาวบ้านได้มีการจับจอง ครอบครองทำประโยชน์และอาศัยอยู่มาตั้งแต่ก่อนปี 2480 ต่อมาปี 2485 กรมราชทัณฑ์ได้มีการก่อสร้างเรือนจำเนื้อที่ 25 ไร่ เพื่อย้ายนักโทษ54 คนจากเกาะตะรุเตามาอยู่ที่เกาะเต่าจนถึงปี 2487 มีการปล่อยตัวและอภัยโทษ ทำให้เรือนจำดังกล่าวถูกทิ้งร้าง ทำให้ในปี 2490 กระทรวงการคลังได้มีการประมูลขายสิ่งปลูกสร้างเรือนจำ ปัญหามาเกิดขึ้นในปี 2497 ที่ประมวลกฎหมายที่ดินเริ่มใช้บังคับและให้ราษฎรที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินไปขึ้นทะเบียนสิทธิ์ครอบครองที่ดินตามแบบการแจ้ง(ส.ค.1)ภายใน 180 วัน แต่ชาวบ้านก็ไม่สามารถไปแจ้งสิทธิ์การครอบครองได้เนื่องจากพบว่าวันที่ 4พ.ค. 2598ตัวแทนของกระทรวงการคลังในขณะนั้นได้แจ้งการครอบครองที่ดินเกาะเต่าเนื้อที่ 15,000 ไร่ คือครอบคลุมทั้งเกาะ ทั้งที่ถ้าจะแจ้งต้องแจ้งแค่ 25 ไร่ที่กรมราชทัณฑ์เคยครอบครอง การกระทำดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้ราษฎรไม่สามารถแจ้งสิทธิ์ครอบครองที่ดินได้จนถึงปัจจุบัน
นายอนันต์ชัยกล่าวอีกว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมาชาวบ้านมีการยื่นหนังสือร้องเรียนกับหลายหน่วยงานรัฐ โดยในปี 2561 ยื่นร้องเรียนต่อแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4(กอ.รมน.ภาค4) ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี แลผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินแปลงเกาะเต่าเพื่อหาข้อเท็จจริงมี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองบัญชาการช่วยรบที่ 4 เป็นประธานคณะทำงาน ปี 2562 ยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอความเป็นธรรมในการพิสูจน์สิทธิที่ดินและขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมและใบอนุญาตเกี่ยวกับอาคาร
โดยผลการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานและลงพื้นที่เพื่อสอบข้อเท็จจริงของหน่วยงานต่างๆ มีความเห็นตรงกันว่า เกาะเต่าไม่เป็นที่สงวนหวงห้ามตามกฎหมาย การขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุแปลงเกาะเต่าไม่ถูกต้อง การแจ้งสิทธิ์ครอบครองที่ดินสค. 1 ของตัวแทนของกระทรวงการคลังเมื่อ 4 พ.ค 2498 ครอบคลุมทั้งเกาะคาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อพิจารณาจากผลการตรวจพิสูจน์อายุพืชผลอาสิน เช่นต้นมะพร้าวในพื้นที่เกาะเต่าซึ่งมีอายุการปลูกตั้งแต่ 2477-2475 การสอบปากคำราษฎรผู้สูงอายุและทายาทจำนวน 47 รายบ่งชี้ว่าราษฎรมีการถือครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินเกาะเต่ามาก่อนการแจ้งสิทธิ์ครอบครองที่ดินของตัวแทนกระทรวงการคลัง
แต่เมื่อแจ้งไปยังกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุกลับนิ่งเพิกจนถึงปัจจุบัน ทำให้ล่าสุดราษฎรเกาะเต่ามีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราชเพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนที่ราชพัสดุและแบบการครอบครองส.ค. 1 ทั้งเกาะจำนวน 15,000 ไร่โดยเป็นของกรมธนารักษ์เพียง 25 ไร่เศษ ส่วนอีก 14 ,975 ไร่ ขอให้ราษฎรเกาะเต่ามีสิทธิ์ที่จะขอออกโฉนดที่ดินที่ตนครอบครอง
"แต่เมื่อเราลงพื้นที่และมาตรวจดูข้อกฎหมายพบว่ายังมีปัญหาใหญ่คือกฎกระทรวงฉบับที่ 43 ข้อที่ 14 ( 3)ที่จำกัดสิทธิ์ของคนบนเกาะทุกเกาะไม่เฉพาะเกาะเต่า ให้ไม่สามารถขอออกโฉนดที่ดินตามมาตรา 59 ทวิประมวลกฎหมายที่ดิน เหมือนว่าชาวเกาะเป็นพลเมืองชั้น 2 ของประเทศไทยเลย จึงอยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินใช้อำนาจยื่นเรื่องขอให้ศาลปกครองพิจารณาเพิกถอน และแก้ไขโดยยกเลิกคำว่าเกาะ หากมีคำวินิจฉัยว่าขัดและมีการแก้ไข หรือการต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ โดยให้สามารถใช้การสืบสิทธิได้แค่นี้ก็ถือเป็นคุณูปการกับชาวเกาะทั่วประเทศไม่เฉพาะเกาะเต่า "นายอนันต์ชัยกล่าว
ในวันพรุ่งนี้(20พ.ย.) ก็จะไปยื่นเรื่องดังกล่าวต่อน.ส.นันทนา นันทวโรภาส ส.ว.ให้ตั้งกระทู้ถามและถ้าเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็จะไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เพราะก็ได้มีการตรวจสอบเรื่องนี้และมีความเห็นไปในลักษณะเดียวกันแต่กรมธนารักษ์ยังตีมึนคิดว่าตัวเองเป็นหน่วยงานรัฐ ซึ่งตนก็จะสู้กันจนวินาทีสุดท้าย ดูว่าระหว่างความชอบธรรมสิ่งที่ถูกกฎหมายกับผิดกฎหมายอะไรจะแน่กว่ากัน อย่าคิดว่าเป็นหน่วยงานรัฐแล้วทำถูกเสมอไปฉะนั้นกรมธนารักษ์เจอทนายอนันต์ชัยแน่ไม่ว่าจะศาลปกครองนครศรีธรรมราชหรือศาลยุติธรรมที่ศาลจังหวัดสมุย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ให้จริง! กมธ.ที่ดินฯ ลุยสอบปมที่ดิน 'เขากระโดง' โวลั่นไม่หวั่นภูมิใจไทยเล่นเกมสกัด
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.ภูเก็ต พรรคประชาชน ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทน
ปิดตำนาน คดีโฉนดถุงกล้วยแขกวัดสวนแก้ว 'ทนายกองทัพธรรม' ช่วยเคลียร์จบด้วยดี
พระราชธรรมนิเทศ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว พร้อมด้วย ทนายอนันตชัย ไชยเดช ประธานมูลนิธิทนายกองทัพธรรม ได้แถลงข่าวปิดคดีข้อพิพาทที่ดินถุงกล้วยแขกของวัดสวนแก้ว
ศาลปกครองสูงสุด ปิดเงียบผลชี้ขาดคดีบิ๊กโจ๊ก สั่งเก็บหลักฐานฟันสื่อละเมิดอำนาจศาล
นายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานการประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
จบแล้วบิ๊กโจ๊ก! สะพัด ศาลปกครองสูงสุด ชี้คำสั่ง 'ให้ออกจากราชการ' ชอบด้วยกฎหมาย
ที่ศาลปกครองกลาง ถ.เเจ้งวัฒนะ มีการประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด โดยนายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานการประชุม
อธิบดีกรมที่ดิน ยันคำแถลงคกก.สอบเขากระโดง ไม่มีฟอกขาว ยึดข้อกฎหมายไม่ใช้ดุลพินิจ
นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวชี้แจงถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์ผลสรุปกรมที่ดินกรณีที่ดินเขากระโดง ว่า ในส่วนของกรมที่ดินทำ ทำอยู่สามส่วน โดยส่วนแรกทำตามคำสั่งศาลปกครอง ส่วนที่สองทำตามข้อกฎหมายไม่มีส่วนใดใช้เรื่องดุลยพินิจ
'ศรีสุวรรณ' ฟ้อง กกพ.-กพช.-กบง. ระงับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนเพิ่ม ทำให้ไฟฟ้าล้นประเทศ
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากประชาชนทั่วประเทศ ได้เดินทางมายื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ต่อศาลปกครอง