'ปชน.' ชงข้อเสนอรัฐบาล ประชุมโลกร้อน 'COP29' เร่งปรับมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero

'ปชน.' ชงข้อเสนอ รัฐบาล ในการประชุมโลกร้อน 'COP29' แนะเร่งปรับมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ให้เป็นรูปธรรม-ดันร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เกิดขึ้นภายในครึ่งปีหน้า

8 พ.ย.2567 - ที่อาคารอนาคตใหม่ นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และ นางสาวศนิวาร บัวบาน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ร่วมแถลงข่าวข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย ในการเข้าร่วมประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) สมัยที่ 29 ที่กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 นี้

โดยนางสาวศนิวาร กล่าวว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สภาวะโลกรวนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยคิดเป็นมูลค่ากว่า 2.8 แสนล้านบาท หรือ 0.82% ของจีดีพี แม้ประเทศไทยจะมีการจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand's National Adaptation Plan: NAP) ขึ้นในปี 2561 และได้รับการเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีไปเมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามที่ประเทศภาคีสมาชิกได้ลงนามร่วมกันตั้งแต่ปี 2558 แต่แผนนี้เป็นแค่กรอบกว้างๆ ที่ไม่มีเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของมาตรการป้องกัน ไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เพียงพอ และไม่มีกรอบงบประมาณการปรับตัวในแต่ละสาขา

นางสาวศนิวาร กล่าวย้อนไปเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ในการประชุม COP28 ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้มีการจัดทำกรอบการฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศระดับโลกขึ้น โดยมีข้อตกลงว่าทุกประเทศต้องพยายามติดตั้งระบบเตือนภัยและการให้บริการข้อมูลภูมิอากาศที่ครอบคลุมภายในปี 2570 ซึ่งตนเข้าใจว่ารัฐบาลอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามกรอบอยู่ ซึ่งเหลืออีก 3 ปีก็จะครบกำหนดตามกรอบที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว จึงเป็นเรื่องท้าทายว่ารัฐบาลจะสามารถทำได้ตามเป้าที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้หรือไม่

พรรคประชาชน จึงขอเสนอว่า รัฐบาลควรใช้เวที COP29 ที่กำลังจะมีขึ้นนี้ เป็นเวทีในการแสดงจุดยืนว่าประเทศไทยจะมุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพในการปรับตัว เสริมสร้างความยืดหยุ่น ลดความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของปวงชนชาวไทย รวมทั้งกลุ่มประเทศที่มีความเปราะบางเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

ดังต่อไปนี้ 1.ปรับปรุงแผนการปรับตัวระดับชาติ โดยเพิ่มการจัดลำดับความสำคัญของมาตรการรับมือสภาวะโลกร้อน พร้อมระบุเป้าหมายและตัวชี้วัดเพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าในการดำเนินการ

2. แสดงถึงความจำเป็นในการเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ

3. แสดงเจตจำนงในการทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงกองทุนต่างๆ ได้ เช่น กองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย เนื่องจากประเทศไทยปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของโลก หรือคิดเป็นอันดับที่ 18 ของทั้งโลก แต่ประเทศไทยมีความเปราะบางและความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบเป็นอันดับที่ 9 ของโลก

4. สร้างบทบาทนำในภูมิภาคอาเซียน ในการกำหนดกลไกติดตามการสนับสนุนการเงินของประเทศที่พัฒนาแล้วให้แก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเสี่ยงต่อสภาวะโลกเดือดสูง ตามเป้าหมาย 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีจนถึงปี 2568

5. เน้นย้ำถึงความสำคัญของการให้เงินทุนในรูปแบบเงินให้เปล่า และเงินกู้แบบผ่อนปรนให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในเป้าหมายทางการเงินทั้งเก่าและใหม่ ตามที่กำลังจะมีการหารือในการประชุมครั้งนี้

6. รัฐบาลอาจพิจารณารูปแบบการลงทุนในโครงการหรือกิจกรรมที่มีความคุ้มค่า โดยเน้นการแก้ปัญหาที่อิงธรรมชาติเป็นพื้นฐาน เช่น ธนาคารต้นไม้ การปรับปรุงดิน พื้นที่สาธารณะสำหรับหน่วงน้ำ เป็นต้น รวมถึงการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนในการดูแลและปกป้องทรัพยากร โดยกำหนดแผนการลงทุนในแผนการปรับตัวให้ชัดเจน

7. การสนับสนุนทางการเงินต้องรวมถึงการให้เงินสำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมด้วย

"หากรัฐบาลแสดงความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังแล้ว เวทีนี้จะเป็นเวทีที่รัฐบาลสามารถแสดงให้นานาอารยะประเทศเห็นถึงบทบาทและความสำคัญของประเทศไทยในการจัดการกับผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้" นางสาวศนิวาร ทิ้งท้าย

ขณะที่ นายของวรภพ ระบุถึงการประชุม COP26 เมื่อปี 2564 ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศต่อประชาคมโลกไว้ว่า ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึง 30-40% ในปี 2050 (พ.ศ. 2593) ประเทศไทยจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และในปี 2065 (พ.ศ. 2608) ประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

แต่ผ่านมา 3 ปีแล้วยังไม่เห็นความคืบหน้าใดๆ ในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุตามที่ประกาศต่อประชาคมโลกไว้ ไม่ว่าจะเป็นความคืบหน้าในการผลักดัน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งที่เป็นกฎหมายสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบรรลุเป้าหมาย Net Zero เพราะถ้าไม่มีกฎหมายบังคับก็จะไม่เกิดสภาพบังคับให้ทุกภาคส่วนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริง และยังขาดกลไกกองทุนที่จะมาสนับสนุน เพื่อให้เกิดการปรับตัวสู่ความยั่งยืนได้

โดยร่างกฎหมายดังกล่าวนั้น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้มีการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีมติคณะรัฐมนตรีให้ส่งเข้ามาสภาแต่อย่างใด และที่น่ากังวลคือในอีกไม่เกิน 1 ปี 2 เดือนต่อจากนี้ สหภาพยุโรปจะเริ่มบังคับใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ในบางสินค้า และจะทยอยบังคับใช้จนถึงปี 2577 ถ้าประเทศไทยยังไม่ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมา สินค้าไทยที่เข้าข่ายก็จะต้องเสียภาษีคาร์บอนให้กับสหภาพยุโรป แทนที่จะมาเสียให้กับประเทศไทย

นายวรภพ ยังกล่าวถึงสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยและการดำเนินการที่ผ่านมาโดยรัฐบาล ว่า สำหรับภาคพลังงาน ไม่สอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทยและยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ เนื่องจากร่าง PDP 2024 กำหนดสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไว้เพียง 51% ในปีสุดท้ายของแผน หรือปี 2580 แต่ยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศไทยกำหนดไว้ว่าประเทศไทยต้องมีพลังงานหมุนเวียนถึง 68% ในปี 2583

นายวรภพ ย้ำว่า พรรคประชาชนสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน แต่ไม่สนับสนุนขบวนการแอบอ้างพลังงานหมุนเวียนมาเป็นการฟอกเขียวและเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงาน อย่างในกรณีขบวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ที่ไม่มีทั้งการเปิดประมูล ไม่มีการแข่งขัน ไม่มีหลักเกณฑ์การคำนวณคัดเลือก มีการล็อกโควต้า และไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เอกชนต้องการ ส่วนภาคการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และอื่นๆ ก็พบว่ายังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมจากรัฐบาลชุดนี้

นายวรภพ ยังกล่าวถึงเเรื่องของสภาวะโลกรวนเป็นทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม และโอกาสใหม่ๆ ของประเทศในทางเศรษฐกิจ จากอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดเสรีพลังงานหมุนเวียน สินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรที่ปล่อยคาร์บอนต่ำที่มีจุดขาย และจุดแข็งในตลาดโลก ธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยจากค่าไฟที่ถูก และสะอาด

ดังนั้น ในการประชุม COP29 รัฐบาลไทยจำเป็นต้องมีท่าที และความมุ่งมั่นที่จะเร่งทำตามแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นักวิชาการสิ่งแวดล้อม' ชี้สัญญาณเตือนโลกกำลังจะเปลี่ยนไป จากอุณหภูมิสูงขึ้น หายนะจะตามมา

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า

สภาพภูมิอากาศวิกฤตหนัก ‘ซีเค พาวเวอร์’ เดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อย่างฤดูหนาวที่รัฐแคชเมียร์ประเทศอินเดียปีนี้อุณหภูมิสูงขึ้นราว 6-8 °C ทำให้ต้องเผชิญฤดูหนาวที่ไม่มีหิมะซึ่ง

'เอกนัฏ' เดินหน้าอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ สร้างนวัตกรรมป้องกันน้ำท่วม

“เอกนัฏ” หนุน “ดีพร้อม” เดินหน้าอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ สร้างนวัตกรรมป้องกันน้ำท่วม ต่อยอด S-Curve อุตสาหกรรมไทย