'สส.ปชน.' ห่วงการประชุมกรรมการนโยบายข้าว ล่าช้า ซ้ำเดิม ไม่พร้อมรับมือกับภาวะโลกรวน

8 พ.ย.2567- นายณรงเดช อุฬารกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง ประชุมกรรมการนโยบายข้าว: ล่าช้า ซ้ำเดิม และไม่พร้อมรับมือกับภาวะโลกรวน มีเนื้อหาดังนี้

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2567 นี้ จะมีการประชุม นบข. (คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ) ครั้งแรกในรัฐบาล นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร โดยมี รองนายกรัฐมนตรี พิชัย ชุณหวชิร เป็นประธาน โดย
ในวาระการประชุม มีการกำหนด วาระเพื่อพิจารณา เรื่อง มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่
โครงการชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี
โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร
โครงการชดเชยดอกเบี้ยผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
การประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติดังกล่าวมีเรื่องที่น่าเป็นห่วง 3 ประการ

ประการแรก มีความล่าช้า
มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกทั้ง 3 โครงการ มีความสำคัญมากในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยว เพราะผลผลิตข้าวนาปีมักเก็บเกี่ยวและออกสู่ตลาดพร้อมๆ กันในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ทำให้ราคาในช่วงดังกล่าวตกต่ำลง ในบางปี ราคาข้าวจึงตกต่ำลง 1,000 - 2,000 บาท/ตัน (เทียบระหว่างเดือนกันยายนกับเดือนพฤศจิกายน) โดยราคาข้าวมักจะลดต่ำลงตั้งแต่เดือนตุลาคมของปีนั้นๆ เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการชะลอการขายข้าว ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม เพื่อให้สถาบันเกษตรกรช่วยชะลอการขายข้าวบางส่วนไว้ก่อนมิให้ร่างออกสู่ตลาด จนทำให้ราคาข้าวเปลือกนาปีตกต่ำลงในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยว
ในความเป็นจริง คณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ ของสภาผู้แทนราษฎร และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากหลายพรรคการเมือง ได้พยายามสอบถามความคืบหน้า ไปยัง นบข. ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา หลายครั้งตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 เพราะปี 2566 ที่ผ่านมา การประชุม นบข. มีความล่าช้า ไปถึง 2 เดือน โดย ในฤดูการผลิต 2565/66 กนข. มีการประชุม วันที่ 8 กันยายน 2565 แต่ในปี 2566/67 กนข. มีการประชุม วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 และล่าสุดปี 2567/68 กนข. มีการประชุม วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 นั่นแปลว่า ปีนี้ก็มีความล่าช้ากว่าปีที่แล้วอีก
ในปีการผลิต 2567/68 นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าในช่วงเดือนกันยายน 2567 ยังอยู่ในระดับ 10,602 บาท/ตัน แต่เมื่อเข้าสู่เดือนตุลาคม ราคาข้าวลดลงไปเกือบ 1,000 บาท/ตัน เหลือเพียง 9,617 บาท/ตัน และล่าสุด เมื่อเข้าสู่สัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน 2567 ราคาข้าวก็ลดลงต่อเนื่องอีกประมาณ 250 บาท/ตัน เหลือ 9,378 บาท/ตัน
ความล่าช้าดังกล่าวสะท้อนออกมาในราคาข้าวที่ลดลงไปกว่า 1,224 บาท/ตัน ทั้งๆ ที่ในช่วงนี้ ที่ควรจะสูงขึ้น เพราะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่วม แต่ราคากลับไม่สูงเท่าที่ควร
ในปัจจุบัน การเกี่ยวข้าวในหลายพื้นที่ เป็นการใช้รถเกี่ยวนวดข้าว ทำให้การเก็บเกี่ยวข้าวใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์ ไม่กินระยะเวลานาน เป็นเดือนเหมือนในอดีต โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ผลผลิตข้าวนาปี (ข้าวเปลือกเจ้า) ประมาณร้อยละ 23 จะเริ่มทำการเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2567 และอีกประมาณร้อยละ 65 จะทำการเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567
เพราะฉะนั้น การอนุมัติโครงการล่าช้าเพียงสัปดาห์เดียว ก็มีผลกระทบ เพราะชาวนาจำนวนมาก ได้เกี่ยวข้าวขายไปแล้ว ทำให้ชาวนาไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาเท่าที่ควร

ประการที่ 2 ซ้ำเดิม
นอกจากความล่าช้าแล้ว จะเป็นได้ว่ามาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการเดิม ที่ใช้มาตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ โดยไม่ได้มีมาตรการใหม่ ที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือ การเพิ่มคุณภาพข้าว หรือแม้แต่ปรับปรุง กฏระเบียบต่างๆ ให้มีความสะดวกขึ้น เช่น ไม่มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูล เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับทางสหกรณ์ที่รับซื้อข้าว ทำให้ เกษตรกรต้องพกคู่มือเกษตรกรไปทุกครั้ง

ประการที่ 3 ไม่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
นอกจากนี้ ในที่ประชุม นบข.ที่จะถึงยังไม่มีการเสนอมาตรการใหม่ ที่คำนึงถึง สภาพอากาศวิกฤติทั้ง ภัยแล้ง (เอลนีโย่) และภาวะน้ำท่วม (ลานีญ่า) และมีมาตรการที่จะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งๆที่ มีข้อมูลว่า สภาพอากาศวิกฤติส่งผลต่อปริมาณผลผลิตข้าวและภาคการเกษตรโดยรวมทั่วโลก

ล่าสุด หน่วยงานต่างๆ และพี่น้องเกษตรกรได้ทดลองดำเนินการในการทำนาที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (หรือข้าวลดโลกร้อน) และการทำนาแบบไม่เผาฟาง ซึ่งทั้งสองวิธีมีส่วนช่วยให้ต้นทุนของพี่น้องชาวนาลดลง และ/หรือ มีความสมบูรณ์ของดินและระบบนิเวศการเกษตรดีขึ้น แต่รัฐบาลปัจจุบัน ยังไม่เคยมีนโยบายข้าวที่ชัดเจน ว่าจะดำเนินการอย่างไร ขยายผลอย่างไร รับมือกับภัยใหม่ๆ อย่างไร นอกจากดำเนินนโยบาย เหมือนที่ผ่านมา

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'รมว.คลัง' เผยสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ ขั้นตอนเร็วกว่าเดิม

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงความคืบหน้าในการสรรหาประธานคณะกรรมการ (บอร์ด)ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายหลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะ ได้วินิจฉัยคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง

รมว.คลัง เผย แจกหมื่น เฟส 2 เข้าครม. วันนี้ ได้เงินไม่เกิน 29 ม.ค.

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการแจกเงินหมื่น เฟส 2 ในกลุ่มผู้สูงอายุ เข้าที่

'พิชัย' เซ็ง! รอความเห็นกฤษฎีกา 'กิตติรัตน์' ไม่ผ่าน ต้องเร่งสรรหาชื่อสำรอง

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง คุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์

‘ขุนคลัง’ ลั่นอยากเห็น ‘กนง.’หั่นดอกเบี้ยอีก0.25%

“ขุนคลัง” ลั่นอยากเห็น “กนง.” ลดดอกเบี้ยอีก 0.25% หวังให้สอดคล้องเงินเฟ้อต่ำ-ทิศทางดอกเบี้ยโลก พร้อมปัดเข็นชื่อ “กิตติรัตน์” นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ชง ครม. แจงยังมีเวลา!

สส.ปชน. เหลืออด! ฉะรัฐบาลสิ้นคิด ขุนขลังพูดพล่อยๆ ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 15 %

นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทรราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯรัฐมนตรี