สมาคมพลเมืองนครนายก - กลุ่มอนุรักษ์รอบเขาใหญ่ บุกยื่นหนังสือ กมธ.ที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรียกร้องยุติโครงการสร้างเขื่อนในป่ามรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ก่อนสูญป่า 20,000 ไร่อย่างถาวร แฉ กรมชลฯ ละเมิดมติ คกก.มรดกโลกคุกคามผืนป่าต่อเนื่อง
5 พ.ย.2567 - ที่รัฐสภา นายสุธีร์ รัตนมงคลกุล นายกสมาคมพลเมืองนครนายก ร่วมกับกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ ผนึกกำลังตัวแทนภาคประชาชนจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี รวมถึงเครือข่ายนักอนุรักษ์ ยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่รัฐสภา โดยมี นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ประธานกรรมกรรมาธิการการฯ เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน
นายสุธีร์ กล่าวว่า วันนี้มาเรียกร้องให้คณะกรรมธิการตรวจสอบ 2 เรื่องใหญ่ คือ โครงการสร้างเขื่อนรอบป่ามรดกโลก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กว่า 10 โครงการ และโครงการเจ้าพระยา 2 ระยะทาง 130 กิโลเมตร ที่กระทบต่อชาวบ้านและระบบนิเวศตลอดลำน้ำ ซึ่งนายพูนศักดิ์ ประธานกรรมาธิการฯ ได้ตอบรับว่าจะใช้กลไกของคณะกรรมาธิการฯ ช่วยตรวจสอบและเปิดเผยความคลุมเครือในการดำเนินโครงการดังกล่าวที่ละเลยความคิดเห็นของภาคประชาชนและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ให้เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ
หลังจากนั้น สมาคมพลเมืองนครนายก ตัวแทนชาวบ้าน และเครือข่ายอนุรักษ์รอบกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้เดินทางไปยังบริเวณด้านหน้ากรมชลประทาน สำนักงานใหญ่ คัดค้านโครงการสร้างเขื่อนในและรอบกลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ หลังพบกรมชลประทานละเมิดมติคณะกรรมการมรดกโลก ที่แจ้งให้ไทย ยกเลิกแผนสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ จนกว่าจะดำเนินการจัดทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ในพื้นที่ลุ่มน้ำและแหล่งมรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่จะแล้วเสร็จ และให้ยุติโครงการเจ้าพระยา 2 ที่ได้ปัจฉิมนิเทศโครงการลงไปโดยไม่มีการเชิญผู้แทนฝั่งคัดค้านโครงการเข้าร่วม ด้านกรมชลประทาน มีนาย เกื้อศักดิ์ ทาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา และ นางดรรชณี เฉยเพ็ชร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับเรื่อง
“กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นพื้นที่ป่ามรสุมที่มีความสำคัญทางชีวภูมิศาสตร์ และเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย มีชนิดพันธุ์พืชไม่น้อยกว่า 2,500 ชนิด มีสัตว์ป่าอยู่อาศัยมากกว่า 800 ชนิด และเป็นพื้นที่ฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง รองจากกลุ่มป่าตะวันตก มีคุณค่าโดดเด่นระดับสากล และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ในปี พ.ศ.2548” นายสุธีร์ กล่าว
นายสุธีร์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากรมชลประทานได้มีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ดำเนินการเข้าสำรวจประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำใสน้อย-ใสใหญ่ และยังมีการดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เคยมีทางเลือกอื่นในการจัดการน้ำให้กับประชาชน สมาคมพลเมืองนครนายกและเครือข่ายอนุรักษ์รอบกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เห็นว่า น้ำเป็นสิ่งจำเป็น ที่ต้องมีการจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม แต่ไม่เห็นด้วยที่จะมีการทำลายป่าธรรมชาติ ที่จะต้องสูญเสียพื้นที่ที่มีลักษณะจำเพาะในหลายแห่งรอบผืนป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และกลุ่มป่าดงพญาเย็น ซึ่งเป็นสมดุลทางระบบนิเวศของคนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคอีสาน รวมไปถึงบางโครงการยังส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่ร่วมกับป่ามามากกว่า 100 ปี เช่น โครงการเขื่อนคลองมะเดื่อ
ขณะที่ นางสาวกมลลักษณ์ สุขพลี ผู้ประสานงานโครงการยุติเขื่อนในพื้นที่มรดกโลก กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ เปิดเผยว่า โดยรอบผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำอยู่แล้วถึง 19 แห่ง แต่กรมชลประทานและภาครัฐ ยังคงมีนโยบายบริหารจัดการน้ำด้วยการสร้างเขื่อนเพิ่มไม่ต่ำกว่า 7 โครงการ เราจะสูญเสียป่าเกือบ 20,000 ไร่ ที่เป็นหัวใจของระบบนิเวศ ไม่ใช่ป่าอนุรักษ์ทั่วไป ปลูกสร้างใหม่ไม่ได้ และอาจส่งผลให้กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เสี่ยงต่อการถูกเพิกถอนจากการเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
ด้านนายสุทธิศักดิ์ บุณยะเศรษฐ กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ กล่าวว่า ในนามตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์รอบกลุ่มป่ามรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ขอเรียกร้องให้กรมชลประทาน เปิดเผยข้อมูลการบริหารจัดการน้ำ 19 เขื่อนรอบเขาใหญ่ที่สร้างเสร็จแล้ว ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือไม่ และขอทางเลือกในการจัดการน้ำ ที่ไม่ใช่การสร้างเขื่อนเพิ่มในพื้นที่ป่าอนุรักษ์” ทั้งนี้ นาย สุทธิศักดิ์ ได้ตั้งข้อสังเกต ทวงถามเรื่องการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เขื่อนห้วยโสมง) เปิดใช้งานมาแล้ว 7 ปี แต่ทำไมท่อส่งน้ำฝั่งขวาที่ต้องส่งน้ำให้เกษตรกรยังก่อสร้างไม่เสร็จ ขณะที่ท่อส่งน้ำฝั่งซ้ายกลับสามารถส่งน้ำไปให้เขตนิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 จ.ปราจีนบุรี ได้ รวมถึงต้องการให้กรมชลประทานเปิดเผยผลการดำเนินงานปลูกป่าทดแทนของโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยระบุพิกัดพื้นที่ จำนวน และมีให้มีประเมินผลว่าเป็นไปตามแผนการฟื้นฟูหรือไม่ อย่างไร เนื่องจากหลายโครงการสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ผ่านมา ล้วนล้มเหลวในการฟื้นฟูระบบนิเวศ
นายโสภณัฐต์ กิ่งผา ชาวบ้านกลุ่มรักษ์คลองมะเดื่อ เป็นตัวแทนผู้ที่จะได้รับผลกระทบหากมีการสร้างเขื่อนคลองมะเดื่อ อ.เมือง จ.นครนายก “คนในคลองมะเดื่อ อยู่กับป่าเขาใหญ่มาเป็นร้อยปี หาอยู่หากินเก็บผลผลิตจากป่า ปลูกผลไม้ ทำการท่องเที่ยว ป่าและคนอยู่ด้วยกันได้ เรามีเขื่อนขุนด่านปราการชลอยู่ห่างออกไปไม่ถึง 10 กิโลเมตร ชาวบ้านเรายกมือคัดค้านมาตลอด พื้นที่ของเรามีความอุดมสมบูรณ์มาก ทั้งปลา ปูน้ำตกเขาใหญ่ ตะกอง รวมถึงช้างป่า ไม่ใช่แค่คนที่จะไร้บ้าน แต่การหายไปของป่าก็จะทำให้ปัญหาคนกับช้างรุนแรงมากขึ้น”
นางศิริลักษณ์ คำแหลมศักดิ์ กลุ่มผ้าขาวม้าติ่งป่า เครือข่ายอนุรักษ์รอบกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ อ้าง “การสร้างเขื่อน ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ว ให้ดูจากปริมาณเขื่อนที่เรามีอยู่ทั้งหมดในประเทศไทย ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ ประเทศเราไม่ได้ขาดภาชนะบรรจุน้ำ แต่เราขาดการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม
“ในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 44 ปี 2564 ที่ประเทศจีน และครั้งที่ 45 ปี 2566 ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้มีมติแจ้งเตือนให้ไทย ยกเลิกแผนสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ จนกว่าจะดำเนินการจัดทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ในพื้นที่ลุ่มน้ำและแหล่งมรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ แต่กรมชลประทานได้มีการละเมิดมติของคณะกรรมการมรดกโลกและเดินหน้าผลักดันโครงการคุกคามผืนป่ามาโดยตลอด จึงเป็นที่มาของการรวมตัวยื่นหนังสือคัดค้านกันในวันนี้” นายกสมาคมพลเมืองนครนายก ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กมธ.ที่ดินฯ วืดสอบเขากระโดง องค์ประชุมไม่ครบ
กรรมาธิการ(กมธ.)ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดยนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานกมธ. , นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.ภูเก็ต พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกกมธ
กมธ.ที่ดิน ลงพื้นที่ภูผาเหล็ก ยังไร้ข้อยุติความขัดแย้งชุมชน-อุทยานฯ
คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายอภิชาติ ศิริสุนทร ได้มาลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาและรับเรื่องร้องเรียนกรณีที่ชาวบ้านผลกระทบจากป่าสงวนแห่งชาติภูผาเหล็กทับซ้อนที่ดินทำกิน
กมธ.ที่ดิน บี้รัฐชี้แจงปมขนย้ายกากแคดเมียม ไฟไหม้โรงงานสารเคมีระยอง
คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกมธ. , นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.ภูเก็ต พรรคก้าวไกล
ชาวบ้านเขาค้อ ร้องผู้นำฝ่ายค้าน-กมธ. 2 คณะ เร่งสางปมพิพาทที่ดินทำกินทับซ้อนกองทัพ
ประชาชนเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร 2 คณะ ได้แก่ กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กมธ.การทหาร กรณีพิพาทเรื่องที่ดินทำกิน ระหว่างประชาชนและกองทัพ
กมธ.ที่ดิน ถกปมพื้นที่พิพาทเขาใหญ่ แฉพบ 10 รายชื่อคนต่างถิ่นส่อได้ที่สปก.
ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายอภิชาติ ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นประธาน กับกมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ
'เลขาฯก้าวไกล' มอง 'หนองวัวซอโมเดล' ไม่เป็นธรรม อ้างชาวบ้านถูกบังคับเช่าที่ราชพัสดุ
นายอภิชาติ ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณี ‘หนองวัวซอโมเดล’ ว่า ชาวบ้านมีการมาร้องเรียน ว่ามีการบังคับให้เช่าที่ดิน ทั้งที่มีหลักฐานว่าอยู่มาก่อน เช่น ใบตราจองหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือ น.ส.3 ซึ่งไม่เป็นธรรมกับประชาชน