นักเขียนบทละครไทย ชี้ภาวะวงการละครไทยอยู่ขั้นวิกฤต วอนภาครัฐเร่งสนับสนุน


นักเขียนบทละครไทย ร่วมมือกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นัด 6-9 พ.ย.นี้เปิดวที Workshop Camp “เล่นเล่าเรื่อง” ให้คนรุ่นใหม่ได้สร้างคอนเทนต์ด้วยศาสตร์การละคร เข้าสังคมได้ ก้าวไปสู่นักเล่าเรื่องที่มีคุณภาพของไทย

อาจารย์ศัลยา สุขะนิวัตต์ อดีตนายกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ และนักเขียนบทละครชื่อดัง ยอมรับว่า สถานการณ์ของวงการละครไทยในปัจจุบัน ถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤต แต่ละช่องโทรทัศน์งดการผลิตละคร และนำละครเก่าออกมารีรัน ซึ่งเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบอย่างหนัก รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้ามา

ส่วนทิศทางวงการละครไทยในอนาคตนั้น ยังเชื่อว่าละครไทยอย่างไรก็มีคนดู แต่ต้องมีการปรับตัว เริ่มจากเนื้อหาที่ต้องไปสู่วิถีชีวิตของสังคมให้มากขึ้น การผลิต การโปรดักชั่น ต้องมีการยกระดับ ไปสู่ขั้นพรีเมียม ทุกอย่างจะต้องมีการปฏิวัติทั้งหมด จึงจะอยู่รอดได้

ทั้งนี้ รัฐบาลควรคำนึงด้วยว่า เป็นผู้ที่ทำให้เกิดความล้มเหลวในสื่อละคร มานานหลาย 10 ปี ด้วยการไม่สนับสนุน และปิดกั้นทุกอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องของการตีแผ่ หน่วยงานราชการ นักการเมือง ทำให้มีแต่การเขียนบทละครเรื่องเกี่ยวกับ ผัว-เมีย ไม่ได้สะท้อนสังคมที่แท้จริง ดังนั้นจากนี้รัฐบาลควรจะต้องเปิด ให้มีทรูสตอรี่ หรือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประเทศ ออกไปเป็นละคร ขณะเดียวกันคนดูก็ต้องมีความเข้มแข็ง ไม่เอาละครที่ไร้คุณธรรม หรือชี้นำสังคมผิดๆ

อาจารย์ศัลยา กล่าวด้วยว่าเมื่อเกิดวิกฤตในวงการละครไทย ทางสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ก็พยายามที่จะหาทางออกด้วยการเร่งพัฒนาส่งเสริมทักษะของนักเขียน ให้เป็น Show Runner ที่สามารถทำงานได้ครอบคลุม มากกว่าการเขียนบทละคร ซึ่งเป็นการพัฒนาวงการละคร และทำให้ละครในภาพรวมออกมาดี

ด้านนายคฑาหัสต์ บุษปะเกศ นายกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ และนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ระบุว่า จากเดิมที่ละครออกมา ประมาณ 1 ร้อยเรื่องต่อปี แต่ปัจจุบันตั้งแต่กลางปีจนถึงปลายปีนี้ มีการประกาศออกมาแล้ว ไม่มีการอนุมัติให้มีการทำละคร หรือไม่มีละครเปิดกล้อง และหลายช่องโทรทัศน์ได้ ปิดแผนกทำละคร ขณะที่ผู้จัดก็มีการปิดตัว เม็ดเงินโฆษณาก็ถูกจัดสรรไปที่ออนไลน์มากขึ้น จึงต้องเร่งที่จะพัฒนาทักษะของนักเขียนบท ให้มีทักษะที่หลายหลากมากขึ้น โดยมีการจัดสัมมนา อบรมให้ความรู้ ที่ต้องมีการแตกแขนงออกไป เช่น การนำเอไอมาช่วยเขียนบทละคร พัฒนาทักษะให้เป็น Show Runner หรือกลายเป็น Executive Producer เปลี่ยนสภาพจากนักเขียน ที่สามารถเป็นผู้จัดได้เลย ทั้งนี้มั่นใจว่าคนไทย ก็ยังจะดูละครไทย เพียงแต่ต้องหันมาพัฒนาด้านคอนเทนต์ ให้สมเหตุสมผล

“คนที่จะอยู่ได้ก็คือตัวจริงเท่านั้น ไม่ใช่ตัวสมัครเล่น จึงต้องมีการพัฒนาตัวเองไป และที่สำคัญต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ซึ่งทางสมาคมได้มีการพูดคุยกับ อนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ ในการหามาตรการช่วยเหลือให้คนทำละครไทยอยู่รอดให้ได้ แต่ก็ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ไม่สามารถเทียบละครไทย กับละครเกาหลีได้ เพราะเป็นเหมือนมวยคนละรุ่น”

ขณะที่นายสนธยา สุชฎา ประธานโครงการ Workshop Camp “เล่นเล่าเรื่อง” และนักเขียนบทภาพยนตร์/โทรทัศน์ กล่าวว่า จากปัญหาเรื่องของวิกฤตวงการละครไทย ทำให้สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ได้ตระหนัก และทางออกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนานักเขียน อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้จัด โครงการ Workshop Camp “เล่นเล่าเรื่อง” โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ เพื่อให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 18 ถึง 25 ปีปั้นคอนเทนต์ให้โดดเด่นมีความแตกต่าง ด้วยศาสตร์การละคร ด้วยการเรียนรู้ทักษะในการ เล่นละคร การเล่า การสร้างเรื่อง ระหว่างวันพุธที่ 6 ถึงวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ณ สถาบันวิชาการ NT โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

โดยผู้ที่เข้าร่วมอบรม จะเรียนรู้ การเล่าเรื่อง โดยใช้หลักของการละครเข้ามา ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ได้วิธีคิด การปฏิบัติตัวในสังคม ได้รับทราบประสบการณ์และอุปสรรคของนักเขียนแต่ละคน ที่จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ โดยกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้เป็นเยาวชน นักศึกษา ซึ่งโครงการ เล่น เล่า เรื่อง ถูกแบ่งออกเป็น 3 วัน คือวันแรกเล่นละครเวที เพื่อให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจโครงสร้างของการเล่าเรื่อง การเขียนบท วันที่ 2 เป็นการเล่า นำเรื่องของตัวเองมาเล่า และเล่าเรื่องตามโจทย์ เพื่อสอนการเรียนรู้เรื่อง และสิ่งที่เด็กอยากจะพูด วันที่ 3 จะเป็นการสร้างเรื่อง สร้างพล็อตของตัวผู้เข้าอบรม ปิดท้ายการอบรมด้วยการจัดการสัมมนา ประเด็นกระบวนการละคร มาใช้ในการเล่าเรื่อง

โดยคาดหวังว่าสิ่งที่ได้รับ คือให้ผู้เข้ารับการอบรม มีความมั่นใจให้ตัวเอง เพราะโครงการนี้มีการคัดเลือกจากเยาวชนทั่วประเทศ คัดเลือกจากงานเขียนในหัวข้อ My Big Little Story" ความยาวไม่เกินหนึ่งหน้ากระดาษ A4 โดยคัดมาเหลือ 24 คน เชื่อว่า ทั้ง 24 คนจะสามารถนำในสิ่งที่ได้รับการอบรมไปต่อยอด เพราะการเล่าเรื่อง ไม่จำเป็นต้องเป็นบทละครโทรทัศน์ อาจจะนำไปใช้ในงานเขียนอื่น ๆ ในสื่อใดก็ได้ โดยมีหัวใจนักเขียน มีทัศนคติที่ดีในการสื่อสาร

ที่สำคัญโครงการนี้ต้องการ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเยาวชน ได้มีที่เล่า ที่ระบาย แชร์ทัศนคติ และได้รับแรงบันดาลใจจากพี่ๆ วิทยากรที่เป็นนักเขียน เพราะปัจจุบันเด็กเยาวชนอยู่ในสังคมที่แคบ และจากชิ้นงานที่ส่งเข้ามาคัดเลือก พบว่ามีเยาวชนหลายคนอยู่ภาวะซึมเศร้า ซึ่งเป็นผลกระทบจากโควิด ดังนั้นการอบรมครั้งนี้ จะได้ในสิ่งที่มากกว่ากระบวนการเรียนรู้ จึงต้องปลุกพลังให้เป็นนักเล่าเรื่อง

ด้าน ละลิตา ฉันทศาสตร์โกศล ผู้เขียนบทละคร ชี้ชัดว่า โครงการ Workshop Camp “เล่นเล่าเรื่อง” เป็นโครงการที่สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ได้มีการต่อยอด โดยสิ่งแรกต้องทำให้ผู้ที่เข้าร่วมอบรมเข้าใจว่าละครทำหน้าที่อะไร สิ่งที่เน้นมาก คือ ละครจะช่วยให้โลกนี้ดีขึ้นได้อย่างไร ไม่ใช่ดูแล้วสนุกอย่างเดียว ละครต้องทำหน้าที่ของตัวเองในการสร้างสรรค์สังคม และหลักการการเล่าเรื่อง ก็ต้องมาจากเจตนาที่ดี ซึ่งคนทำละครต้องคิดบวก ทั้งนี้เยาวชนคนรุ่นใหม่ จะได้มาพัฒนาทักษะ เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ ได้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ได้ประสบการณ์ และได้เพื่อน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อุ้ม อิษยา' ปลื้ม 'ดวงใจเทวพรหม' สร้างสถิติ Top 10 Netflix Thailand 10 สัปดาห์เต็ม!

ขึ้นแท่นเป็นละครคุณภาพน้ำดีไปแล้ว สำหรับเรื่องราวของพันธสัญญาความรักจากรุ่นพ่อให้ละครชุด "สุภาพบุรุษจุฑาเทพ" สู่รุ่นลูกในละครชุด "ดวงใจเทวพรหม" เรียกว่าประสบความสำเร็จเป็นพลุแตกตั้งแต่เปิดเรื่อง เริ่มจาก "ลออจันทร์", "ขวัญฤทัย" จนมาถึง "ใจพิสุทธิ์"

'ช่อง 7' ส่งดาราร่วมงานกัมพูชา ตอกย้ำความสำเร็จในระดับสากล

แฟน ๆ กัมพูชา เตรียมเฮ เมื่อช่อง 7HD พร้อมส่งทัพนักแสดงนำสุดฮอต เสิร์ฟความสุขใกล้ชิดแฟน ๆ ที่กัมพูชา ล่าสุดได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการดูแลนักแสดง ระหว่าง ช่อง 7HD และ Prakit Advertising (Cambodia) Co., Ltd. แต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลบริหารงานให้นักแสดงของช่อง 7HD ในกัมพูชา โดยมี นายพัฒนพงค์ หนูพันธ์ กรรมการผู้จัดการ ช่อง 7HD และ นายชัญญ์ทัพพ์ เทศะแพทย์ กรรมการผู้จัดการ Prakit Advertising (Cambodia) Co., Ltd. เป็นผู้ลงนาม ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ จะสานต่องานด้านต่าง ๆ อีกมากมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

โฆษกย้ำรัฐบาลเดินหน้าผลักดัน Soft Power ภาพยนตร์-ละครไทยเต็มที่

โฆษกรัฐบาลเผยรัฐบาลเดินหน้าผลักดัน Soft Power ภาพยนตร์-ละครไทยสู่สายตานานาชาติ พร้อมกระทรวงพาณิชย์จัดงาน Hong Kong Thai Night 2024 อย่างยิ่งใหญ่ ขยายเครือข่ายธุรกิจบันเทิงเพิ่มรายได้เข้าประเทศ

พาณิชย์ปลื้มต่างชาติแห่ซื้อคอนเทนต์ไทยในงานคานส์ กวาดรายได้กว่า 1,986 ล้านบาท

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ นำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ (Cannes Film Festival) ในงานแสดงสินค้า Marche du Film 2023 ระหว่างวันที่ 16 – 24 พฤษภาคม 2566 โดยผู้ประกอบการคอนเทนต์ไทยทั้ง 10 บริษัท เจรจาการค้ากวาดรายได้เข้าประเทศกว่า 1,986 ล้านบาท ได้รับการตอบรับ เป็นอย่างดีจากนักลงทุน และผู้สร้าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตในภูมิภาคเอเชีย

'เมย์ อรวรรณ' นักเขียนนิยาย BL ไทยคนแรกที่มีงานแฟนไซน์ในญี่ปุ่น!

ถึงวันนี้คงไม่มีแฟนนิยายวายคนไหนที่จะไม่รู้จัก "คุณเมย์-อรวรรณ วิชญวรรณกุล" นักเขียนดังที่ใช้นามปากกาว่า "MAME" รวมถึงเป็นผู้บริหารและผู้จัดซีรีส์ของ บริษัท มี มายด์ วาย จำกัด ที่ประสบความสำเร็จกับบทบาทนักเขียนนิยายวาย Boy Love (BL) อย่างมาก จนเป็นที่รู้จักในหลายประเทศ

งานเขียนของ 'อกาธา คริสตี' ต้องถูกปรับใหม่เพื่อเอาใจคนยุคใหม่?

อกาธา คริสตี (1890-1976) นับเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลก เธอมีผลงานนวนิยายแนวอาชญากรรมจำนวนมาก แต่นวนิยายหลายเรื่องของเธอมี