กมธ.ชายแดนใต้ จ่อเรียก ‘ภูมิธรรม-เลขา สมช.-แม่ทัพภาค 4’ ถก 'คดีตากใบ' 24 ต.ค.นี้ หาวิธีรับมือหลังหมดอายุความ หวั่นเป็นเงื่อนไขเหตุรุนแรงเพิ่ม 'พรรณิการ์' ย้ำรัฐบาลควรแสดงเจตจำนงทางการเมือง เพื่อให้ประชาชนกลับมาเชื่อใจอีกครั้ง ชี้คะแนนเสียง ควรเป็นสิ่งสุดท้ายที่นึกถึง
17 ต.ค.2567 - ที่รัฐสภา นางสาวพรรณิการ์ วาณิช โฆษกคณะก้าวหน้า ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร แถลงมติที่ประชุม กมธ.กรณีคดีตากใบ ซึ่งจะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ว่า อย่างที่ทุกท่านได้ทราบกันดี ว่าจนถึงวันนี้เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 8 วันเท่านั้น ก่อนที่คดีตากใบจะหมดอายุความ ซึ่งจำเลยและผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดที่มีการออกหมายจับ จนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถติดตามตัวจำเลยมาได้แม้แต่คนเดียว
โดยเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา กมธ.มีการหารือกันอย่างค่อนข้างที่จะมีความกังวลตรงกัน ซึ่งใน กมธ.นั้น ก็ประกอบด้วย นักวิชาการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญประเด็นเรื่องสันติภาพชายแดนใต้ ตัวแทนของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงมี สส.ในฐานะผู้แทนราษฏร ซึ่งเป็น สส. ในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเมื่อทุกฝ่ายได้หารือแล้ว ก็มีความเห็นตรงกันว่า คดีนี้เป็นคดีที่จะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญ โดยเฉพาะหากคดีหมดอายุความลงในวันที่ 25 ต.ค.นี้ โดยที่ไม่สามารถนำตัวจำเลยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และไม่สามารถทำให้คดีดำเนินต่อไปได้
นางสาวพรรณิการ์ กล่าวถึงความกังวลของ กมธ. ที่หลากหลาย ว่า สส.ในพื้นที่เองก็ได้สะท้อนมาว่า ไปละหมาด ไปเจอประชาชนในพื้นที่แต่ละครั้ง จะโดนถามทุกครั้งว่า จับตัวจำเลยได้บ้างหรือยัง หรือจับได้สักคนหรือยัง เนื่องจากคนถูกออกหมายจับมีถึง 10 กว่าคน ซึ่งตัว สส.เอง ก็รู้ว่าประชาชนติดตามข่าวทุกวัน หรือทางฝ่ายที่ติดตามเรื่องความคืบหน้าในการเจรจาสันติภาพเอง ก็แสดงความกังวล
นางสาวพรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ตนเพิ่งจะไปพบกับผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขชายแดนภาคใต้ จังหวัดชายแดนภาคใต้ฝ่ายมาเลเซียมา และทางผู้อำนวยความสะดวกก็ยืนยันว่า กลุ่มประเทศโอไอซี หรือองค์การความร่วมมืออิสลาม ให้ความสำคัญและจับตามอง และทุกฝ่ายทราบดีว่า มีความเป็นได้สูงว่า อาจจะหมดอายุความลงไปจริงๆ โดยที่ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิด ผู้ที่ถูกกล่าวหาเข้าสู่กระบวนการได้
ด้วยเหตุที่มีความกังวลตรงกัน ดังนี้ กมธ.จึงมีมติว่า สมควรจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือกัน ในวันที่ 24 ต.ค. หรือคือเวลา 1 วัน ก่อนที่คดีจะหมดอายุความลง เนื่องจากว่าการติดตามตัวจำเลย ติดตามตัวผู้ถูกกล่าวหามาดำเนินคดี มีคณะกรรมาธิการการกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เอง ก็ติดตามเรื่องนี้อยู่แล้ว
แต่ในส่วนของ กมธ. ต้องการที่จะให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทางรัฐบาลมาหารือร่วมกัน ว่าหากคดีหมดอายุความแล้วจริงๆ หรือเป็นไปตามที่กังวลจริงๆ จะมีการรับมือกับสถานการณ์อย่างไร อาจจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือว่ามีการฉกฉกฉวยเอาประเด็นนี้ ไปเป็นข้ออ้างในการก่อเหตุความรุนแรงเพิ่มขึ้นในพื้นที่หรือไม่
เพราะฉะนั้น กมธ.จึงมีมติให้เชิญ 3 ท่าน ดังต่อไปนี้มาร่วมหารือในวันที่ 24 ต.ค. ได้แก่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ พลโทไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่ง กมธ.ก็คาดหวังว่า จะเป็นการมองไปข้างหน้า ไม่ใช่การพูดถึงคดีความ เนื่องจากว่าวันที่ 24 ต.ค.นั้น ก็อีกเพียง 1 วัน ก่อนจะหมดอายุความ แต่ในการหารือครั้งนี้
ทั้งนี้ ใช้ที่ประชุม กมธ.ในครั้งนี้ จะเป็นการมองไปที่อนาคตว่า เมื่อคดีหมดอายุความลง จะมีการหาวิธีรับมือสถานการณ์ที่ดีที่สุดอย่างไร ทั้งในแง่ของการประคับประคองบรรยากาศในการเจรจาสันติภาพที่ได้เริ่มมาในรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ด้วย ซึ่งเป็นความกังวลของ กมธ.
เมื่อถามกรณีการลาออกของพลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีต สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย นางสาวพรรณิการ กล่าวในฐานะที่เป็นหนึ่งใน กมธ.ว่า เรื่องนี้มีความชัดเจนอยู่แล้วว่า สถานะความเป็นสมาชิกหรือไม่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยของพลเอกพิศาล ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ ต่อการดำเนินคดีทั้งสิ้น เนื่องจากการลาออกจากความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย หมายความว่าสิ้นสุดสถานะ สส. ซึ่งก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคดีนี้ เพราะคดีนี้มีการฟ้องตรงต่อศาลแล้ว สส.อยู่ในฐานะจำเลย ไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มกันอยู่แล้ว
นางสาวพรรณิการ์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าพลเอกพิศาลจะลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย แต่กรณีที่มีหมายจับในคดียังคงอยู่ ตนไม่อยากให้โฟกัสแค่ตัวจำเลยคนหนึ่ง แต่นี่เป็นเรื่องที่การเป็นข้าราชการทหารตำรวจพลเรือนระดับสูง ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาล ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ณ ขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคไหน ก็จะมีหน้าที่เดียวกัน นั่นก็คือการแสดงเจตจำนงทางการเมืองที่มากพอในการนำตัวผู้ถูกกล่าวหา และการนำตัวผู้ถูกออกหมายจับมาสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้
นางสาวพรรณิการ์ กล่าวอีกว่า การที่วันนี้หลายฝ่ายเริ่มมองตรงกันว่า อาจจะไม่ทัน และจะไม่สามารถนำตัวจำเลยมาเข้าสู่กระบวนการได้แม้แต่คนเดียวนั้น ตนมองว่าเรื่องนี้ จะกระทบอย่างมาก เพราะในระดับการเจรจาสันติภาพ ก็จะถูกมองว่า รัฐบาลนี้มีความมุ่งมั่นตั้งใจ หรือมีนโยบายชัดเจนที่จะเจรจาทางการเมืองมากพอหรือไม่ ตั้งแต่การเจรจาที่ได้เริ่มมาในสมัยของนายเศรษฐา ส่วนในระดับพื้นที่เอง คงไม่ต้องพูดถึงกัน เพราะประชาชนในพื้นที่เขารู้สึกตั้งแต่ในวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่จำเลยก็ไม่มาปรากฏตัวตามนัดอยู่แล้ว ว่าคงจะไม่มีความหวัง ทั้งๆ ที่คดีนี้เป็นคดีที่ดำเนินมาไกลถึงขั้นมีการออกหมายจับแล้ว และญาติของผู้เสียชีวิต ผู้สูญเสียทั้งหมด ก็คาดหวังว่า จะได้เห็นความพยายามอย่างถึงที่สุดของรัฐบาลในการทำให้กระบวนการเดินหน้าต่อไปได้
นางสาวพรรณิการ์ ชี้ว่า นี่จึงเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วของรัฐบาลว่า ใน 8 วันนี้ รัฐบาลจะสามารถแสดงเจตจำนงทางการเมืองอย่างแรงกล้าเพียงพอหรือไม่ ในการตามตัวจำเลย ซึ่งมี 2 คนที่อยู่ในต่างประเทศ และกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้มีความพยายามในการเจรจาระดับผู้นำประเทศหรือไม่ ส่วนจำเลยที่เหลือที่ยังอยู่ในประเทศไทย ได้มีกระบวนการอื่นๆ นอกเหนือจากกระบวนการของข้าราชการปกติที่ดำเนินไปอยู่แล้ว เพื่อที่จะให้นำตัวจำเลยมาได้หรือไม่
นางสาวพรรณิการ์ ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เพราะไม่เกี่ยวกับกระบวนการศาล แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตำรวจ และอัยการจะต้องนำตัวจำเลยมาส่งศาล ซึ่งทั้งตำรวจและอัยการนั้น ก็อยู่ภายใต้ฝ่ายบริหารอย่างแน่นอน ซึ่งก็คือขึ้นอยู่กับท่านนายกรัฐมนตรี รวมถึงรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงด้วย
สำหรับกรณีที่รัฐบาล ระบุว่าผู้เสียหายได้รับการเยียวยาแล้วนั้น ตนขอถามกลับว่า ถ้าเกิดมีการจ่ายเงินเยียวยาไปแล้ว จะไม่สามารถดำเนินคดีอาญาต่อได้ แล้วการที่มีการรับเงินเยียวยาในส่วนของพี่น้องเสื้อแดงที่ได้เสียชีวิตไปจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 53 แต่การที่มีการดำเนินการเรียกร้องว่า จะต้องมีการฟื้นคดีอาญาขึ้นมา แล้วก็นำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการให้ได้ นั่นเป็นเรื่องหลอกลวงหรือไม่ เพราะเป็นกรณีเดียวกัน
นางสาวพรรณิการ์ มองว่า การเยียวยาสมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่ดี เป็นการแสดงความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีของการสลายการชุมนุมเสื้อแดง หรือกรณีตากใบ แต่การรับเงินเยียวยานั้น ไม่ได้เกี่ยวกับการทำให้กระบวนการทางอาญาสิ้นสุดลง แม้ในปี 55 จะมีความพยายามจริง ที่จะให้ญาติพี่น้องของผู้ที่รับเงินเยียวยา เซ็นบอกว่าจะไม่มีการดำเนินการทางอาญาต่อไปอีก แต่อย่างไรเรื่องนี้ถือว่าผิดหลักการสากลอย่างมาก
และกรณีตากใบไม่ได้มีญาติพี่น้องที่รับเงินเยียวยานี้แล้ว เซ็นยินยอมว่าจะไม่มีการดำเนินคดีทางอาญา และในกระบวนการสร้างความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน มี 4 ขั้นตอน เพราะฉะนั้น การจ่ายเงินเยียวยาเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถนำมาซึ่งความปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริงได้ และไม่ได้หมายความว่ารับเงินแล้วจบ ถ้ารับเงินแล้วจบ ตนมองว่า ต้องตั้งคำถามกับคดีสลายการชุมนุมเสื้อแดง ว่ารับเงินไปแล้ว ก็ต้องจบเหมือนกันหรือไม่
นางสาวพรรณิการ์ เปิดเผยถึงประเด็นในการประชุม กมธ. ที่เชิญแต่ละฝ่ายมาในมุมกว้าง ว่า การเชิญทั้ง 3 ท่านมา ก็เพื่อที่จะรับมือสถานการณ์ในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่ามีความกังวลว่าหากคดีจบลงโดยหมดายุความ เรื่องนี้จะถูกใช้เป็นข้ออ้างหรือไม่ในการก่อเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้น เพราะว่าตอนนี้สถานการณ์ก็มีการก่อเหตุรายวันอยู่แล้ว เพื่อที่จะปูไปสู่การหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ว่า มีอะไรที่ต้องรับมือ และต้องตระหนักว่า ประชาชนจะรู้สึกว่านี่เป็นอีกครั้งที่วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดจะเกิดขึ้นในสังคมไทยอีกหรือไม่
เนื่องจากการสร้างสันติภาพ ไม่ใช่แค่การเจรจาบนโต๊ะ แต่รวมถึงการสร้างความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ และทำให้รู้สึกว่าไม่มีความสองมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมสำหรับประชาชนทีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งก็ควรจะต้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกันว่า จะมีการแก้ไขสถานการณ์ และความรู้สึกที่เกิดขึ้นแล้วในหมู่ประชาชนอย่างไร
เมื่อถามว่า หากคดีหมดอายุความโดยไม่สามารถนำตัวจำเลยมาดำเนินคดีได้ จะส่งผลต่อคะแนนเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นางสาวพรรณิการ์ ระบุว่า เรื่องสุดท้ายที่เราควรคำนึงถึงในการเยียวยาและให้ความเป็นธรรมต่อคดีตากใบ คือเรื่องคะแนนเสียง การที่พรรคการเมืองหลายพรรคที่กระตือรือร้น หรือหลายพรรคที่อาจจะถูกมองว่าไม่กระตือรือร้นเท่าที่ควรนั้น ตนยังไม่อยากให้มองว่าทำหรือไม่ทำเพราะคำนึงถึงคะแนนเสียง แต่เมื่อพวกเราเป็นนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน ก็มีหน้าที่ที่จะทำงานรับใช้ประชาชน
เนื่องจากในกรณีนี้ประชาชนทั่วประเทศเห็นตรงกันว่า ผู้ที่เสียชีวิตนั้น เสียชีวิตโดยไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ประมาท หรือไม่มีความระมัดระวังเพียงพอ รวมถึงการสถานการณ์การชุมนุมที่มีการใช้อาวุธหนัก ยิงเข้าใส่ประชาชน จนมีการเสียชีวิตในที่ชุมนุม ตนคิดว่าหน้าที่สำคัญของนักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือรัฐบาล ซึ่งมีอำนาจในการบริหารอยู่ คือการทำให้ประชาชนกลับมาไว้เนื้อเชื่อใจรัฐอีกครั้งว่า รัฐจะสามารถให้ความเป็นธรรมกับเขาได้ ซึ่งเรื่องนี้คือรากฐานที่สุด ในการนำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ควันหลงคดีตากใบ 'เพื่อไทย' สะเทือนหนักทางลบ
นิด้าโพลเปิดผลสำรวจ พรรคการเมืองใดเดือดร้อนจากกรณีตากใบ ชี้เพื่อไทยผลกระทบหนักทางลบ ขณะที่ปชช.ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ระบุไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งครั้งต่อไป
สั่งผู้ว่าฯ นครพนมสอบข้อเท็จจริงปลัดอำเภอท่าอุเทนโผล่ทำงานหลังคดีตากใบหมดอายุความ!
'อนุทิน' มอบ ปลัด มท.สั่งผู้ว่าฯนครพนม สอบข้อเท็จจริง 'ปลัดอำเภอท่าอุเทน' 1 ใน 14 จำเลยคดีตากใบ ภายใน 15 วัน โผล่ทำงานวันแรก หลังคดีขาดอายุความ
'รอมฎอน' ชี้ช่องใช้อำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศลุยคดีตากใบ!
นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน
ศาลนราธิวาสสั่งจำหน่ายคดีตากใบ แต่ความทรงจำของประชาชนไม่หมดอายุความ
ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งจำหน่ายคดี ในคดี หมายเลขแดงที่ อ.1516/2567 ระหว่าง นางสาวฟาตีฮะห์ ปะจูกูเล็ง ที่ 1 กับ
มท.1 สั่งปลัดมท. ตั้งกก.สอบ 'ปลัดอำเภอท่าอุเทน' จำเลยคดีตากใบ โผล่ทำงานหลังคดีหมดอายุความ
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เลิศสงคราม ปลัดอำเภอ
จำเลยตากใบลอยนวล 20ปีขาดอายุความศาลสั่งคดีออกจากสารบบไร้เงา14คน
ปิดฉาก 20 ปี "คดีตากใบ" ศาลจังหวัดนราธิวาสสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ