'บ้านแสนอยู่ดี' ที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตร นวัตกรรมธรรมศาสตร์เพื่อคนทั้งมวล

แม้ว่าที่อยู่อาศัยจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ หากแต่มีที่อยู่อาศัยจำนวนไม่น้อยที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

ภายใต้สถานการณ์สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ที่ประชากรมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ ที่อยู่อาศัยซึ่งเคยเป็นมิตรกับสมาชิกทุกคนในครอบครัว อาจกลายมาเป็น “ความเสี่ยง” ต่อสุขภาพ เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป

ทุกวันนี้ มีบ้านหลายร้อยหลังคาเรือนที่ได้นำเอา “บ้านแสนอยู่ดี” อันเป็นนวัตกรรมการออกแบบที่อยู่อาศัย เพื่อผู้สูงอายุ และผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็น 1 ใน 7 นวัตกรรมธรรมศาสตร์เพื่อสังคมสูงวัย ที่ถูกนำมาจัดแสดงภายในงานมหกรรมงานวิจัย 90 ปี นวัตกรรมธรรมศาสตร์ เพื่อประชาชน มาแปรสภาพจากแปลนการออกแบบบนหน้ากระดาษ สู่ที่อยู่อาศัยที่จับต้องได้จริง ทั้งการนำไปสร้างบ้าน และนำบางส่วนไปใช้ปรับปรุงบ้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุให้แก่คนกลุ่มดังกล่าว

บ้านแสนอยู่ดี เป็นผลงานการออกแบบของ รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธ. ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดยมีจุดตั้งต้นแนวคิดในการออกแบบมาจากการมองเห็นว่า ‘สภาพแวดล้อม’ เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ได้ และในเชิงพื้นที่ระดับพื้นฐานของผู้คนก็คือ ‘บ้าน’    

จากจุดนั้นได้นำมาสู่ความสงสัย และตั้งคำถามต่อว่ากลุ่มที่มีเงื่อนไขในการชีวิตที่เฉพาะ และเป็นอุปสรรคต่อการหารายได้ อย่างผู้สูงอายุ และผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ซึ่งมีรายได้น้อยนั้น มีความต้องการพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย ‘น้อยที่สุดเท่าไหร่’ ที่ยังสามารถอยู่อาศัยได้โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และประกอบอาชีพได้ด้วย

เพื่อให้ได้คำตอบของคำถามดังกล่าว รศ.ดร.ชุมเขต อธิบายว่า เราทำการค้นคว้าหาข้อมูลจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นบ้านผู้สุงอายุในชนบท บ้านผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย บ้านผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือรูปแบบการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุตามพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งทางธรรมศาสตร์เองก็ได้ทำโครงการเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามชุมชนต่างๆ อยู่เสมอกว่า 15 ปี ผ่านการปรับสภาพแวดล้อมของบ้าน และที่อยู่อาศัย อันเป็นเงื่อนไขสำคัญของความสำเร็จในงานออกแบบชิ้นนี้

บนกองข้อมูลมหาศาลถูกร่อนผ่านตะแกรงทางความคิดอย่างเข้มข้น พร้อมยึดหลักแนวคิดอารยสถาปัตย์ หรือ การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) จนในที่สุดตกตะกอน และก่อตัวเป็นแบบบ้านสำเร็จรูป (Knockdown House) ที่มีขนาดกระทัดรัด 3 x 6 เมตร แต่สอดคล้องกับพฤติกรรม และเงื่อนไขการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ และผู้พิการ ในราคา 1.2 แสนบาท หรือขนาด S

รวมถึงต่อมายังมีการยกระดับให้มีทั้งขนาด M และ L เพื่อรองรับสำหรับกรณีต้องการที่ขยายพื้นที่ต่อจากโครงสร้างบ้านเดิมด้วย โดยขนาด M จะมีพื้นที่ 6 x 6 เมตร ราคา 1.7 แสนบาท และขนาด L มีพื้นที่ 9 x 6 เมตร ราคา 2.3 แสนบาท มากไปกว่านั้นยังได้รับการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้วด้วย

“จุดเด่นของงานออกแบบของเราอีกอย่างหนึ่งคือสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง และราคาไม่แพง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนกลุ่มนี้สามารถจ่ายได้ (Affordable) รวมถึงทั้งหมดเหล่านี้มาจากฐานของงานวิจัยที่สนับสนุนว่าสามารถใช้งานได้จริง” รศ.ดร.ชุมเขต ชี้ให้เห็นสิ่งสำคัญของผลงานชิ้นนี้

สำหรับความแตกต่างของบ้านแสนอยู่ดี กับบ้านทั่วไป อธิบายให้เข้าใจง่าย คือ โดยปกติงานออกแบบบ้านทั่วไปมักจะตัด หรือนำเอาพื้นที่สำหรับการใช้งานของผู้สูงอายุ หรือผู้พิการออกเป็นอย่างแรก ตัวอย่างเช่น การมีบันไดแต่ไม่มีทางลาด ที่แม้จะดูเป็นจุดเล็กน้อยในมุมมองของคนปกติ แต่นั่นเป็นการ ‘ตัดขาดโลกภายนอก’ ออกจากผู้สูงอายุ และผู้พิการที่ต้องนั่งรถเข็นวีลแชร์ เนื่องจากการเดินทางจากพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่งมีความยากลำบาก จนบางคนไม่สามารถพาตัวเองผ่านแต่ละส่วนของบ้านไปได้

ขณะที่บ้านแสนอยู่ดีจะผสานสิ่งที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้งานสำหรับคนกลุ่มนี้เข้ากับบ้าน โดยไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นส่วนเกิน เช่น ทางลาดคู่กับบันได ราวจับเพื่อการเคลื่อนไหว ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้สามารถนำบางส่วนจากแบบของบ้านแสนอยู่ดีไปปรับใช้ผ่านการต่อเติมเพิ่มจากบ้านทั่วไปได้ด้วย เพราะการมีรูปแบบของโครงสร้างบ้านที่ชัดเจนของบ้านแสนอยู่ดี ทำให้งานออกแบบชิ้นนี้รองรับวัสดุการใช้งานได้นานารูปแบบตามแต่ละพื้นที่ที่จะนำไปใช้ เช่น ไม้ ปูน เหล็ก ฯลฯ

“Pain point อย่างหนึ่งของผู้ที่มีรายได้น้อยก็คือเวลาปรับปรุง หรือซ่อมบ้าน เขาจะไม่มีที่อยู่อาศัยสำรอง บางคนต้องไปอยู่กับญาติ หรือบางคนคือศาลาวัด เราจึงต้องทำเป็นบ้านน็อคดาวน์ โดยถ้าที่ไหนมีความต้องการเราสามารถเนรมิตบ้านใหม่ให้เขาได้เลยในวันเดียว เพราะเราจะสร้างด้วยมาตรฐานของเราและส่งไปให้ได้เลย และหากผู้อยู่อาศัยไม่มีโฉนดที่ดิน และมีการเสียชีวิตลง ก็สามารถส่งต่อบ้านหลังนั้นให้ผู้ที่มีความจำเป็นต่อได้ด้วย ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ตาม” อาจารย์ชุมเขต กล่าวเสริม

สิ่งเหล่านั้นทำให้ตอนนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 30 แห่งแล้วที่นำบ้านแสนอยู่ดีในรูปแบบบ้านน็อคดาวน์ไปใช้ อย่างพื้นที่ใกล้เคียงธรรมศาสตร์ เช่น เทศบาลนครรังสิต เทศบาลเมืองท่าโขลง ฯลฯ

“ส่วนตัวแบบบ้านแสนอยู่ดีก็มีการนำไปปรับใช้แล้วทั่วประเทศ โดยเป็นการเปลี่ยนเป็นไม้ หรือเป็นโครงสร้างอื่นๆ ที่ช่างชุมชนสามารถทำได้ เพราะเรามีการถ่ายทอดองค์ความรู้ของนวัตกรรมให้กับช่างชุมชนด้วยครบวงจรของการทำบ้าน” อาจารย์ชุมเขต อธิบายเพิ่มเติม

นอกจากนี้ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว รวมถึงกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยังมีการนำไปใช้ปรับบ้านให้ผู้ที่มีความจำเป็นอีกด้วย เพราะไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุ และผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่ต้องการที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม แต่ยังมีกลุ่มอื่นๆ อย่างหญิงตั้งครรภ์ และเด็ก ซึ่งหากประสบอุบัติเหตุแล้วจะกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว

อีกทั้งล่าสุดยังได้มีการนำบ้านแสนอยู่ดีไปขับเคลื่อนนโยบาย 4 หมื่นบาทซ่อมบ้านให้พอ ของกรมกิจการผู้สูงอายุ และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณชีวิตคนพิการ พม. ด้วย โดยมีการทำข้อมูลต้นทุน และเงินเฟ้อไปเสนอแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งถ้าได้เดินหน้าต่อ บ้านแสนอยู่ดีก็จะถูกนำไปขยายผลเพื่อช่วยประชาชนได้อย่างมาก

“เราพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐทุกแห่ง รวมถึงผู้ประกอบการเอกชนด้วย เพื่อให้บ้านแสนอยู่ดีสามารถขยายผลให้เกิดประโยชน์กับผู้สูงอายุ ผู้พิการที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว และประชาชนที่มีความจำเป็นกลุ่มอื่นในประเทศได้มากขึ้น” รศ.ดร.ชุมเขต กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง