เปิด 6 สาระสำคัญ ร่างกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

'กมธ.วิสามัญคุ้มครองชาติพันธุ์‘ แถลง 6 สาระสำคัญร่าง กม. มอบสิทธิคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์-เข้าถึงการศึกษา-สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

18 ก.ย. 2567 - ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ... สภาผู้แทนราษฎร นำโดย น.ส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญฯ แถลงผลการประชุมว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นร่างกฎหมายที่ยกร่างขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับเป็นครั้งแรก

โดยมีเจตนารมณ์ให้เป็นกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรมเนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์มีอัตลักษณ์ และการสั่งสมทางวัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และความเชื่อตามจารีตประเพณีเป็นของตัวเอง จึงมีความจำเป็นต้องมีบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ให้สามารถดำรงวิถีชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามหลักสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

สำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้ ส่วนที่ 1 หลักพื้นฐานแห่งสิทธิและการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีบทบัญญัติรับรองให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วน อาทิ สิทธิที่จะได้รับ การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยต้องไม่เหยียดหยาม สร้างความเกลียดชัง หรือเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มชาติพันธุ์ สิทธิทางวัฒนธรรม, สิทธิในการจัดการศึกษาด้วยภาษาของตนเอง, สิทธิในที่ดินและการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สิทธิในการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสวัสดิการสังคมที่มีคุณภาพ

ส่วนที่ 2 กลไกการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ กำหนดให้มีกลไก 2 ระดับ ได้แก่ 1.กลไกระดับนโยบาย ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน โดยมีผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เป็นกรรมการและเลขานุการ และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) รับผิดชอบงานวิชาการและธุรการของคณะกรรมการ และ 2.กลไกระดับปฏิบัติการ กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องหรือคณะอนุกรรมการอื่น

ส่วนที่ 3 การจัดตั้งสภากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นกลไกการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนเป็นศูนย์ประสานงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความเข้าใจอันดี และเสนอนโยบาย มาตรการคุ้มครอง และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่อคณะกรรมการ

ส่วนที่ 4 การจัดทำฐานข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ ที่กำหนดให้มีการจัดทำฐานข้อมูลกลางของประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญประกอบการกำหนดนโยบาย การพิสูจน์
ข้อเท็จจริงในการรับรองสถานะบุคคล สิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการดำเนินกิจการของรัฐที่อาจกระทบต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์

ส่วนที่ 5 การจัดตั้งเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่บัญญัติให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดพื้นที่คุ้มครองฯ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรม การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน และการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ตามภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งนี้ การกำหนดพื้นที่คุ้มครองฯ ไม่ใช่เป็นการให้สิทธิพิเศษแก่กลุ่มชาติพันธุ์ แต่เป็นการคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะชุมชนดั้งเดิม เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในการเข้าถึงทรัพยากร

ส่วนที่ 6 บทกำหนดโทษ เมื่อการคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว ก็ได้มีการระบุห้ามไม่ให้การกระทำการใดๆ อันเป็นการเหยียดหยาม สร้างความเกลียดชัง หรือเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ตลอดจนห้ามไม่ให้บังคับให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องผสมกลมกลืนทางศาสนา วัฒนธรรม หรือทำลายวัฒนธรรมของตนไว้ จึงต้องมีการกำหนดบทลงโทษกรณีมีผู้ละเมิดดังกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชำแหละ 'เพื่อไทย' ครบรอบ 1 ปี เลือกตั้ง 66 ทำประเทศเสียหายมากมาย

ครบรอบหนึ่งปี เลือกตั้ง 66 'จตุพร' ซัดเพื่อไทยทำ ปท.เสียหายมากมาย ตั้งแต่ตระบัดสัตย์ ปล่อย'ทักษิณ' จุ้นจ้านสงครามพม่า แต่นายกฯ กลับเงียบ ไม่มีใครทำอะไรได้ จึงลำพองอำนาจ ลั่น 29 พ.ค.วันชี้ชะตาบ้านเมืองครั้งสำคัญ

บี้รับผิดชอบ! นายกฯ-รมต. รู้เห็นเป็นใจ 'นักโทษ' จุ้นจ้านเมียนมา

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า รัฐบาลเมียนมาตำหนิทักษิณทำสิ่งไม่เหมาะสม ระวังกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

'บ้านแม่ปอคี' จ.ตาก เตรียมจัดงานสถาปนาพื้นที่คุ้มครองชุมชนกะเหรี่ยง

นายประหยัด เสือชูชีพ กลุ่มเยาวชนบ้านแม่ปอคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เปิดเผยว่าในวันที่ 26 เมษายน 2567 ชุมชนบ้านแม่ปอคีจะจัดงานสถาปนาพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์บ้านแม่ปอคี (ขุนแม่เหว่ย) เพื่อรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนไว้ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการเก็บข้อมูลศึกษาวิจัย

มติเอกฉันท์ สภาฯรับหลักการร่าง พรบ.คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้ง 5 ฉบับ

ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ.…คณะรัฐมนตรี(ครม.) เป็นผู้เสนอ และร่างพ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย