'สามารถ' หนุนซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืน คุมค่าโดยสาร

27 ส.ค. 2567 – ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า เอาเลย ! ซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืน

มีข่าวที่น่าสนใจว่ารัฐจะซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน เพื่อทำให้ค่าโดยสารเหลือ 20 บาทตลอดสาย

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยมีข่าวว่ารัฐจะซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนเมื่อต้นปี 2547 แล้วจะเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย แต่ก็ไม่สามารถทำได้ ทั้งๆ ที่ในเวลานั้น มีรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วเพียงสายเดียว ระยะทาง 23.5 กิโลเมตรเท่านั้น คือสายสีเขียวช่วงหมอชิต-อ่อนนุช ระยะทาง 17 กิโลเมตร และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร

ผมอยากให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลงเพื่อช่วยลดค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน แต่เนื่องจากรถไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ทำให้ค่าโดยสารแพง หากไม่ให้เอกชนมาร่วมลงทุน ถึงเวลานี้จะมีรถไฟฟ้าน้อยกว่าปัจจุบันมาก รถไฟฟ้าหลายสายคงยังไม่เกิด การให้เอกชนมาร่วมลงทุนมีข้อดีก็คือทำให้สามารถขยายเส้นทางรถไฟฟ้าได้เร็ว แต่ก็มีข้อเสียที่ทำให้ค่าโดยสารแพง

ด้วยเหตุนี้ การซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนกลับมาเป็นของรัฐจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง แต่การซื้อคืนจะต้องใช้เงินจำนวนมาก เนื่องจากถึงวันนี้มีรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้ว 8 สาย ระยะทางรวม 274 กิโลเมตร จะหาเงินมาจากที่ไหน ? จึงเกิดแนวคิดที่จะหาเงินจากการเก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจซึ่งมีรถติด เรียกกันว่าค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge หรือ Congestion Pricing)

สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ใช้มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด โดยเรียกมาตรการนี้ว่า Area Licensing Scheme (ALS) โดยเริ่มเมื่อปี 2518 ในขณะนั้นสิงคโปร์ยังไม่มีรถไฟฟ้า แต่มีรถเมล์ที่มีประสิทธิภาพให้บริการ ตอนเริ่มใหม่ๆ มีคนคัดค้านเพราะมาตรการนี้ส่งผลกระทบต่อการใช้รถส่วนตัว แต่ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและการเข้มงวดกวดขัน ทุกคนก็ต้องปฏิบัติตาม

ประเทศไทยของเราเคยมีการศึกษาที่จะใช้มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เคยนำมาใช้ปฏิบัติ มาวันนี้จะศึกษาอีก ผมจึงขอถือโอกาสนี้ฝากข้อห่วงใยเกี่ยวกับการใช้มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดไปถึงรัฐบาลดังนี้

(1) ภายในพื้นที่ที่จะเก็บค่าธรรมเนียมรถติดจะต้องมีรถไฟฟ้าให้บริการทั่วถึง พร้อมทั้งมีรถเมล์ที่ดีทำหน้าที่รับส่งผู้โดยสารจากรถไฟฟ้า

(2) ภายนอกพื้นที่ที่จะเก็บค่าธรรมเนียมรถติดจะต้องมีที่จอดรถ เมื่อจอดรถแล้วผู้ขับขี่สามารถเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าหรือรถเมล์ที่ดีได้ในลักษณะ “จอดแล้วจร (Park and Ride)” เพื่อเดินทางสู่จุดหมายปลายทางต่อไป

(3) จะยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ที่อยู่อาศัยและผู้ทำการค้าภายในพื้นที่ที่จะเก็บค่าธรรมเนียมรถติดหรือไม่ ?

(4) กรุงเทพฯ มีตรอกซอกซอยเยอะ จะหาทางป้องกันไม่ให้รถใช้เป็นเส้นทางหลบหลีกการชำระค่าธรรมเนียมได้อย่างไร ?

(5) ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากที่จะต้องพิจารณา เช่น วันและเวลาการเก็บค่าธรรมเนียม ประเภทรถ จำนวนผู้โดยสารในรถรวมทั้งคนขับที่จะได้รับการยกเว้น วิธีการเก็บค่าธรรมเนียม และบทลงโทษ เป็นต้น

เมื่อรัฐมีแนวคิดที่จะซื้อสัมปทานคืนจากเอกชน ผมจึงขอฝากคำถามและข้อเสนอแนะไปถึงรัฐบาลเกี่ยวกับสัมปทานดังนี้

(1) ในอนาคตรัฐจะเชิญชวนเอกชนให้มาร่วมลงทุนในกิจการรถไฟฟ้าอีกหรือไม่ ?

(2) หากรัฐไม่สามารถซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชนได้ รัฐจะต้องเลิกขยายระยะเวลาสัมปทานรถไฟฟ้าให้เอกชนทุกราย

(3) รัฐจะซื้อสัมปทานทางด่วนคืนจากเอกชนด้วยหรือไม่ ? เพื่อทำให้ค่าผ่านทางถูกลง หากไม่ซื้อ รัฐจะต้องเลิกขยายระยะเวลาสัมปทานทางด่วนให้เอกชนทุกราย

ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดี อยากให้รัฐประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาการจราจร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุริยะ' ย้ำศึกษาเก็บภาษีรถติด​ ขอเวลา​ 6 เดือน - 1 ปี

“สุริยะ" ชี้​ ยังเป็นแค่ผลการศึกษาเก็บภาษีรถติด​ ขอเวลา​ 6 เดือน-1 ปี​ ตั้งธงเก็บแค่รถเก๋ง 40-50 ต่อวัน​ เฉพาะเส้นมีรถไฟฟ้า ส่วน​รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย​ต้องทำให้เสร็จก่อน​ลั่น ปีหน้า​ เกิดแน่​

ดร.สามารถ : เก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจ หาเงินซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืน

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “เก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจ หาเงินซื้อ