ตั้งวงถกพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชี้มาตรา 32 สุดโต่งไม่แก้ปัญหา ล้าสมัย ไม่สมดุล

16 ส.ค.2567-สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบธุรกิจคราฟท์เบียร์ (สมาคมคราฟท์เบียร์) จัดงานเสวนาในหัวข้อ “32 Civilized, No More Total Ban: ยกเครื่องกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สู่สังคมที่ดีกว่า” เพื่อบอกเล่าความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. ….. ซึ่งขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและตอบข้อสงสัยต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นมาตรา 32 ซึ่งเกี่ยวกับการควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ณ ร้าน Sociefee x Chouxstory ใกล้สถานี MRT หัวลำโพง โดยมีผู้ร่วมเสวนาซึ่งเป็นกรรมาธิการฯ จากฝั่งประชาชนและผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลุ่มต่างๆ ในคณะกรรมาธิการฯ และมีผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายอื่นๆ สื่อมวลชน และผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วม

น.ส.เขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย และคณะกรรมาธิการฯ กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า การประชุมคณะกรรมาธิการฯ เพื่อยกร่างพระราชบัญญัติจาก 5 ร่างฯ ที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการ โดยยึดเอาร่างฯ ของคณะรัฐมนตรีเป็นหลักนั้น ดำเนินไปแล้ว 30 ครั้งนับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่การพิจารณาเป็นไปอย่างล่าช้าเนื่องจากต้องใช้เวลาหารือ ถกเถียง และทำความเข้าใจถึงข้อมูล เหตุผลความจำเป็น และข้อเสนอของแต่ละร่าง อย่างรอบคอบก่อนจะมีมติร่วมกัน โดย 5 ร่างฯ ดังกล่าว ซึ่งผู้ประกอบการและประชาชน ฝ่ายรณรงค์ พรรคการเมือง และรัฐบาลเป็นผู้เสนอ มีจุดยืนและหลักการที่แตกต่างกันมาก โดยเฉพาะการควบคุมการโฆษณาและสื่อสารการตลาด ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานความไม่ไว้วางใจผู้ประกอบการและวุฒิภาวะของผู้บริโภค อย่างไรก็ดี คณะกรรมาธิการฯ มุ่งมั่นที่จะทำให้พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นกฎหมายแห่งอนาคต เป็นกฎหมายของส่วนรวมที่ประชาชนมีส่วนร่วมและให้การยอมรับ ปฏิบัติได้ สร้างสมดุลกับนโยบายอื่นของรัฐ และมีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสุขภาวะของประชาชน โดยไม่สร้างอุปสรรคหรือภาระแก่ผู้ประกอบการจนเกินสมควร โดยที่รัฐเองต้องเร่งสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ประชาชนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับโทษภัยของการดื่มที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะการดื่มจนขาดสติ เมาแล้วขับ และการดื่มก่อนวัยอันควร โดยอาจดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติและตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ให้เป็นแนวทางในการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ ในระหว่างที่เข้าพบเพื่อรายงานความคืบหน้าการทำงานของคณะกรรมาธิการในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

น.ส.เขมิกา ได้สรุปประเด็นที่คณะกรรมาธิการฯ เห็นชอบร่วมกันในหลักการ คือ 1. การยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 ซึ่งใช้มานานกว่า 51 ปี โดยกำหนดเวลาห้ามขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, 2. การเพิ่มโทษแก่ผู้ขายที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์และผู้ที่เมาจนครองสติไม่ได้, 3. การปลดล็อคสถานที่ห้ามดื่มและขายบางสถานที่เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว, และที่สำคัญที่สุด คือ 4. การเปลี่ยนผ่านมาตรการการควบคุมการโฆษณาจากลักษณะ near total ban (ห้ามเกือบเด็ดขาด) เป็นการผ่อนคลายมากขึ้นในลักษณะ partial ban (ห้ามเป็นบางส่วน) โดยการให้ข้อเท็จจริงของผลิตภัณฑ์สามารถกระทำได้ แต่จะปลดล็อกมากน้อยเพียงใดยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา

นอกจากนี้ น.ส.เขมิกา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ตนและเครือข่ายของผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคม และการปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยง่าย อย่างไรก็ดี มาตรการที่เข้มข้นจนเกินจำเป็นของรัฐในปัจจุบันแก้ไม่ตรงจุด สัดส่วนการดื่มของกลุ่มเด็กและเยาวชนไม่ได้ลดลง ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งศึกษาอย่างรอบคอบจากข้อมูลทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเด็น หนึ่ง แก้ไขมาตรา 32 ให้ผู้ประกอบการโฆษณาได้ โดยให้ข้อเท็จจริงมิใช่อวดอ้างสรรพคุณ โดยต้องกำหนดขอบเขตเนื้อหาที่สามารถโฆษณาได้ และต้องไม่มุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี, สอง เพิ่มบทลงโทษผู้ประกอบการที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และผู้ที่มึนเมาจนขาดสติ ซึ่งปัจจุบันมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ในขณะที่การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท, และสาม เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ผู้ซื้ออายุต่ำกว่า 20 ปี โดยการมีส่วนร่วมของชุมขน

“เราตระหนักถึงความห่วงใยของสังคมที่มีต่อกลุ่มเด็กและเยาวชน ดังนั้นจำเป็นต้องยกเครื่องมาตรการทางกฎหมายโดยมองไปในอนาคตและเล็งผลสัมฤทธิ์ในการแก้ไขและป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืน มีความชัดเจน ปฏิบัติได้ ลดการใช้ดุลยพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ ก่อให้เกิดความสมดุลทั้งด้านสังคม สาธารณสุข และเศรษฐกิจ ควบคู่กับการให้การศึกษาแก่ประชาชนตั้งแต่วัยเรียนเพื่อสร้างความตระหนักรู้และสร้างภูมิคุ้มกันจากการดื่มอย่างเป็นอันตราย ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำมาตรการกำกับดูแลตนเอง หรือ Self-regulation ซึ่งทำได้จริงโดยสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย และในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ จีน เป็นต้น” น.ส.เขมิกา กล่าว

ด้าน น.ส.ประภาวี เหมทัศน์ เลขาธิการสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟท์เบียร์ (สมาคมคราฟท์เบียร์) และโฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า มาตรา 32 ของกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้กว้างๆ โดยไม่ได้กำหนดรายละเอียดข้อห้ามการโฆษณาว่าสิ่งได้ทำได้หรือไม่ได้ไว้อย่างชัดเจน ประชาชนและผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจในการตีความอย่างกว้างขวางว่าการกระทำใดเป็นความผิดหรือไม่ กำหนดโทษอาญา โทษจำคุก และโทษปรับที่สูงไม่ได้สัดส่วนกับลักษณะการกระทำผิด นอกจากนี้แล้ว การบังคับใช้กฎหมายนี้ลิดรอนสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นและเพียงพอต่อการตัดสินใจเลือกซื้อของผู้บริโภค ทั้งยังสร้างอุปสรรคในการทำธุรกิจสุจริตและอาชีพที่รักของผู้ประกอบการรายเล็กและผู้ผลิตในชุมชน ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้เพราะไม่สามารถแนะนำหรือให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้จักได้ และโดยที่ช่องทางการจำหน่ายมีจำกัดอยู่แล้วแต่รัฐยังได้ออกมาตรการห้ามขายทางช่องทางออนไลน์อีก ถือเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการและทำร้ายอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างแท้จริง หรืออีกนัยหนึ่งคือส่งเสริมการผูกขาดโดยผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย ย้อนแย้งกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการผลิตสุราชุมชน การสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการรายย่อย สุราชุมชน ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงเป้าหมายการเติบโตรายได้จากภาษีสรรพสามิตสุรา และการท่องเที่ยวเชิงสุราชุมชน

น.ส.ประภาวี กล่าวอีกว่า ที่ผ่านหน่วยงานของรัฐไม่เคยมีคำอธิบาย หรือสามารถให้ความชัดเจนว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ตามมาตรา 32 ทุกอย่างจึงอยู่ที่ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นที่ยอมรับ สร้างความขัดแย้งและความหวาดระแวงระหว่างประชาชน ผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย

“เราเรียกกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันว่าพ.ร.บ.ต้านเหล้า กฎหมายนี้มุ่งเน้นกำจัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งสร้างรายได้ภาษีสรรพสามิตกว่า 1.5 แสนล้านต่อปี ไม่รวมภาษี earmarked (ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ) ภาษีนำเข้า และภาษี VAT อีกหลายหมื่นล้าน อีกทั้งยังไม่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนการประกอบอาชีพอย่างสุจริตของผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อย ทำให้ประชาชนธรรมดาถูกดำเนินคดีจำนวนมาก เช่น จากการโพสต์โดยรู้เท่าไม่ถึงการในโซเชียลมีเดีย แม้จะไม่ได้ชักจูงหรือเพื่อประโยชน์ทางการค้า ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้รวมตัวกันต่อสู้ เริ่มจากการขอแก้ไขมาตรา 32 ก่อนที่จะขอให้ทบทวนมาตราที่สร้างความเดือดร้อนเกินจำเป็นอื่น เช่น เวลาและสถานที่ดื่มและขาย จนต้องรวบรวมรายชื่อเสนอแก้ไขกฎหมาย เพราะเราเดือนร้อนและต้องแบกรับภาระจากกฎหมายนี้หนักมากจริงๆ หลายคนถูกจับปรับเป็นเงินจำนวนที่เกินกว่ารายได้และฐานะทางเศรษฐกิจ ถูกดำเนินคดีทั้งที่ไม่ได้มีเจตนา” น.ส.ประภาวี กล่าว

“เราภูมิใจที่ต่อสู้จนมาถึงวันนี้ที่เราได้มีส่วนร่วมในการยกร่างกฎหมายให้มีความสมดุล โปร่งใส ปฏิบัติได้ เรายืนยันว่าจะสู้ต่อไปจนกว่าจะเห็นมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สมเหตุสมผลและมีประสิทธิผลอย่างแท้จริง เราขอโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ทำธุรกิจ ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และค้าขายได้ดังเช่นปุถุชนทั่วไป เราตั้งใจสร้างนวัตกรรมและพัฒนาคุณภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างภาคภูมิ ซึ่งที่ผ่านมาเราได้รับรางวัลและความชื่นชมมากมายจากสถาบันที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ เราต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมและสร้างสังคมแห่งความรับผิดชอบไปพร้อมกับภาครัฐ ขอให้ภาครัฐเชื่อใจผู้ผลิตและประชาชนให้มากขึ้น และหวังว่าความพยายามทั้งหมดทั้งมวลของพวกเราจะสะท้อนออกมาเป็นรูปธรรมในพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ ซึ่งจะไปแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับปัจจุบันให้ก้าวหน้า ล้ำสมัย เหมาะสมกับสังคมและเศรษฐกิจทั้งปัจจุบันและอนาคต และสร้างความเป็นธรรมเท่าเทียม” น.ส.ประภาวี ทิ้งท้าย

ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย นักวิซาการด้านเทคโนโลยีอาหารและเครื่องดื่ม ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ… และรองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ตนเป็นนักวิชาการและอาจารย์ด้านเครื่องดื่ม และเป็นแอดมินเว็บไซต์และเพจเฟสบุ๊คสุราไทย เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับการทำสุรา และแลกเปลี่ยนกับผู้ที่สนใจในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสุรา ที่ผ่านมาตนได้พบปะและให้คำปรึกษากับคนที่สนใจและรักการทำสุราทุกเพศทุกวัยจากทั่วประเทศ รวมถึงนักศึกษาและเด็กรุ่นใหม่ที่อยากสร้างสรรค์สุราคราฟต์ อยากเป็นเจ้าของกิจการโรงเบียร์ โรงกลั่น หรือเปิดร้านเหล้าเพื่อเป็นที่ใช้เวลาว่างสังสรรค์กับเพื่อนฝูง แต่กฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ของรัฐสร้างอุปสรรคในการทำมาหากินหรือสร้างสรรค์สินค้าที่มีคุณภาพ และไม่ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ตั้งแต่มีกฎหมายนี้ การให้ข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความสุ่มเสี่ยงจะถูกดำเนินคดี แม้แต่การโพสต์ภาพหรือพูดถึงโดยไม่ได้ชักจูงหรือโฆษณาเพื่อประโยชน์ทางการค้าก็ยังถูกจับ ปรับ ในอัตราโทษที่สูงได้ ใครไม่ยอมจ่ายค่าปรับก็อาจต้องไปสู้คดีความในศาล

“ช่วงก่อนโควิด ราวปลายปี 2563 มีการลักไก่ออกกฎหมายห้ามขาย โพสต์ หรือสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งสวนทางกับเทรนด์เทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค และการเติบโตของอีคอมเมิร์ซทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย โดยผู้ออกกฎหมายยอมรับในที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นที่มีผู้ประกอบการสุรา ค้าปลีก ค้าส่งหลายร้อยรายเข้าร่วมประชุมว่ากฎหมายยังไม่สมบูรณ์ ต้องปรับปรุงอีกมาก แต่จะต้องนำบังคับใช้ก่อนแล้วจะรีบแก้ไขในภายหลัง จนปัจจุบันผ่านไปแล้ว 3 ปีครึ่ง ก็ยังไม่มีการแก้ไขปรับปรุงใดๆ ตามที่ประกาศเป็นสัญญาประชาคมไว้บนเวที ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการบังคับใช้กฎหมายแบบสุดโต่ง ไล่จับประชาชนและผู้ประกอบการทั้งก่อนและในระหว่างยุคโควิด ซึ่งทุกคนกำลังเผชิญกับทั้งวิกฤติชีวิตและวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าปรับในอัตราที่สูง ไม่สมสัดส่วน บางคนต้องโทษคดีอาญา ซึ่งสร้างความเดือดร้อน ไม่ได้รับความยุติธรรม และสงสัยว่าอาจจะมีแรงจูงใจในการดำเนินการบังคับกฎหมายที่เข้มข้นมาจากสินบนรางวัลที่สูงถึงร้อยละ 60-80 ของค่าปรับหรือไม่” ผศ.ดร.เจริญ เปิดเผย

ผศ.ดร.เจริญ กล่าวด้วยว่า พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และมาตรการต่างๆ ที่ออกตามมานั้นไม่ได้ช่วยลดปัญหาเมาแล้วขับ เมาหัวราน้ำ หรือป้องกันการเข้าถึงแอลกอฮอล์ของผู้เยาว์อย่างถูกที่ถูกทาง แต่เป็นกฎหมายที่ตัดแข้งตัดขาผู้ประกอบการรายเล็ก ผู้ผลิตระดับชุมชน และทำให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตไม่ได้ แต่กลับมีนัยยะเอื้อประโยชน์ให้กับทุนใหญ่ เพราะทุนใหญ่มีสินค้าเป็นที่รู้จักอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องทำการโฆษณาสินค้าโดยตรง แต่สามารถทำโฆษณาโดยใช้เครื่องหมายการค้าของสินค้าที่มีความคล้ายคลึงกันได้ ในขณะที่ผู้ประกอบรายเล็กมีทุนน้อย ไม่มีศักยภาพพอที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายประเภทพร้อมกระจายสินค้าในวงกว้าง และไม่มีงบประมาณในการทำโฆษณาหรือการตลาดจำนวนมากเหมือนรายใหญ่ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ส่วนมากกระทำ ณ จุดขาย หรือช่องทางออนไลน์ จึงส่งผลให้โอกาสที่สินค้าจะเป็นที่รู้จัก หรือได้รับความนิยมมีน้อยกว่า

“เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยและสังคมโลกมานาน แน่นอนว่ามีทั้งคนดื่มและคนไม่ดื่ม คนที่ชอบและไม่ชอบ คนที่ไม่ดื่มหรือไม่ชอบ เราต้องเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ประเด็นอยู่ตรงที่เราต้องทำให้คนดื่มดื่มแค่พอประมาณ ดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ มีความตระหนักรู้ ดื่มแล้วไม่ขับ ไม่ก่อความเดือดร้อน ส่วนคนขายและคนให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ต้องรับผิดชอบต่อลูกค้าและสังคม โดยไม่ขายให้เด็กและคนเมา ไม่ปล่อยคนเมาออกไปขับ ซึ่งมาตรการควบคุมการโฆษณาและกฎหมายสุดโต่งแต่กำกวมต่างๆ ที่ออกมาบังคับใช้ต่อเนื่องและเข้มข้นของภาครัฐนั้นแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ปัญหาอุบัติเหตุจราจรที่เกิดเมาแล้วขับ ต้องให้ตำรวจซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายโดยตรงดำเนินการอย่างเข้มแข็งตรงไปตรงมา เพื่อจำกัดไม่ให้คนเมาอยู่บนถนน ไม่ใช่ให้รัฐออกมาตรการห้ามดื่มและออกแคมเปญตีตราให้ผู้ดื่มและผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นคนบาป เป็นผู้ร้ายของสังคม พวกเขาเหล่านี้มีสิทธิโดยชอบภายใต้รัฐธรรมนูญในฐานะประชาชนที่จะประกอบกิจกรรมหรือดำเนินธุรกิจโดยสุจริต รับผิดชอบต่อตนและส่วนรวม หากกฎหมายได้รับการยกเครื่องโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชนและผู้ประกอบการ มีความสมดุลที่จะเอื้อให้รัฐบรรลุเป้าหมายทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการเหล่านี้จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยผ่านการยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ก้าวไกลไประดับโลก รวมถึงยกระดับรายได้จากภาษีและการท่องเที่ยวได้แน่นอน ขณะนี้ประเทศไทยมีทั้งคน เทคโนโลยี วัตถุดิบ ภูมิปัญญา และซอฟต์พาวเวอร์ เราขาดแค่การปลดล็อคกฎหมายให้มองผลลัพธ์ในอนาคตและเอื้อต่อการพัฒนา” ผศ.ดร.เจริญ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ร่วมเวทีเสวนา “32 Civilized, No More Total Ban: ยกเครื่องกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สู่สังคมที่ดีกว่า” ประกอบด้วย ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย นักวิซาการด้านเทคโนโลยีอาหารและเครื่องดื่ม, น.ส.เขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA), น.ส.ประภาวี เหมทัศน์ เลขาธิการสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟท์เบียร์ (สมาคมคราฟท์เบียร์), นายศุภพงษ์ พรึงลำภู ตัวแทนผู้ผลิตสุรารายย่อย, นายศุภวิชญ์ มุททารัตน์ เจ้าของกิจการบาร์ค็อกเทลและบาร์เทนเดอร์แถวหน้าของประเทศไทย, น.ส.สุวิสุทธิ์ โลหิตนาวี เลขาธิการสมาคมผู้ประกอบการไวน์ไทย (Thai Wine Association; TWA) และตัวแทนผู้ผลิตสุราและสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร, และนายอาทิตย์ ศิวะหรรษาพันธ์ ตัวแทนภาคประชาชน ซึ่งผู้เสวนาทั้งเจ็ดเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

อนึ่ง เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2567 ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาและลงมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ….. รวม 5 ฉบับ ซึ่งเสนอโดย นายเจริญ เจริญชัย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,942 คน, นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กับคณะ, นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ กับคณะ, นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 92,978 คน, และคณะรัฐมนตรี และได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ โดยการประชุมคณะกรรมาธิการเริ่มต้นครั้งแรกในวันพุธที่ 3 เมษายน 2567 จนถึงปัจจุบัน มีการประชุมมาแล้ว 30 ครั้ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวฯบุกสภาค้านร่างกม.ฉลากและภาพคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ที่อาคารรัฐสภา สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการ โรงแรม ร้านอาหาร และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นำโดย ผศ.ด

ผู้ประกอบการท่องเที่ยวฯ ยื่นหนังสือหนุนรัฐบาลคลอดนโยบายเร่งด่วนขับเคลื่อน Soft Power กระตุ้นท่องเที่ยวทุกมิติ

ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ โรงแรม ร้านอาหาร สถานบันเทิงนักร้องและนักแสดง รวม 14 กลุ่มองค์กร นำโดย น