ถอดความสำเร็จ รพ.สต.ถ่ายโอนฯ อภิบาลระบบด้วย 'สมัชชาฯจังหวัด' เพื่อนร่วมทางที่ไม่ปล่อยให้ อบจ. เดินลำพัง

ถือเป็น ‘เรื่องใหม่’ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เมื่อต้องจัด ‘ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ’ ให้กับประชาชนในพื้นที่ หลังจากรับการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ‘ล็อตใหญ่’ เข้ามาบริหารจัดการ ตั้งแต่ปี 2565

และถือเป็น ‘ความท้าทาย’ อย่างยิ่ง เมื่อ อปท. โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ขณะนี้มีมากกว่า 60 จังหวัด ที่จะต้องจัด ‘บริการสาธารณะ’ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพเฉพาะทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้ ‘ตรงตามความต้องการ’ ของประชาชนมากที่สุด

แน่นอน คงสำเร็จไม่ง่าย หากปล่อยให้ อบจ. ต้องดำเนินการในเรื่องเหล่านี้เพียงลำพัง ทว่าในทางกลับกัน ย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ หากทุกฝ่ายร่วมกัน ‘อภิบาลระบบอย่างมีส่วนร่วม’

 กลไกความร่วมมือระหว่าง อปท. ในการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ผ่านการระดมความเห็น ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน วิชาการ และประชาชน จึงเข้ามามีส่วนสำคัญในการทำงาน และเป็นสิ่งที่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)​ ให้ความสำคัญผ่านการทำวิจัยภายใต้ “โครงการการศึกษาและพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่ออภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น ภายใต้บริบทการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด” โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

ระยะเวลากว่า 1 ปีเต็ม นอกเหนือจากข้อเสนอเชิงนโยบายแล้ว องค์ความรู้จากการวิจัยยังถูกนำมาถ่ายทอดผ่านเวทีเสวนา “การมีส่วนร่วมเพื่ออภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น” ภายใต้เวทีสาธารณะ ‘จากปฏิบัติการพื้นที่ สู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย : ความท้าทายระบบสุขภาพในมือของชุมชนและท้องถิ่น’ ที่จัดขึ้นเมื่อ 19 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยมี ‘ภาคประชาชน’ และ ‘กระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัด’ ในฐานะตัวแปรสำคัญในสมการความสำเร็จ มาร่วมกันบอกเล่าเรื่องราว

ดร.พรเพ็ญ โสมาบุตร สมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น ระบุว่า กระบวนการสมัชชาสุขภาพได้เข้าไปมีบทบาทในการอภิบาลระบบ ผ่านการสร้างความร่วมมือ เวทีสาธารณะ ตลอดจนการประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งจากการทำงานในพื้นที่พบว่าการถ่ายโอนฯ ยังมีช่องว่างอยู่ นำมาสู่การตั้งคณะกรรมการสุขภาพพื้นที่ระดับอำเภอ หรือ กสพอ. เข้ามาเป็นกลไกกลางเชื่อมการทำงานระหว่างพื้นที่และจังหวัด คาดว่า จ.ขอนแก่น เป็นจังหวัดแรกที่มีเครื่องมือนี้ ส่วนการทำงานของ รพ.สต.เมืองเพีย และ สนอ. บ้านเมืองใหม่ ซึ่งเป็น 2 หน่วยบริการปฐมภูมิที่ได้รับคัดเลือกเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัย ได้ใช้ต้นทุนและสายสัมพันธ์เดิมมาดำเนินกิจกรรม พร้อมทั้งสร้างความเป็นหุ้นส่วนผ่านการเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาร่วมกันออกแบบเป้าหมายสุขภาพของพื้นที่

สำหรับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือการเกิดเครือข่ายสุขภาพประชาชน หรือ Health Station ใน 15 หมู่บ้าน และมีการยกระดับศักยภาพของอาสาสมัครผู้ให้การดูแล (Care Giver: CG) เป็น CG Plus ในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และรักษาส่งผลให้มีผู้ป่วย Stroke ได้รับการดูแล และรักษาจนหายได้จำนวน 2 คน นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนานวัตกรรมไม่ว่าจะแปลงการคัดกรองมาเป็นภาษถิ่นเพื่อให้เกิดดความเข้าใจง่ายขึ้น รวมถึงเครื่องมือที่ใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพจากชุมชน และเกิดการแลกเปลี่ยนกันระหว่างเครือข่ายผู้ป่วยอีกด้วย

เจริญ ถิ่นเกาะแก้ว สมัชชาสุขภาพจังหวัดภูเก็ต เล่าว่า จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่ที่มีจุดแข็ง ทั้งการมีโรงพยาบาลสังกัด อบจ. รวมถึงกองสาธารณสุข และที่สำคัญคือนโยบายของผู้บริหารที่มุ่งชัดเรื่องการดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งในโครงการวิจัยนี้ได้มีการคัดเลือก รพ.สต.ราไวย์ และ รพ.สต.บ้านเกาะมะพร้าว เป็นพื้นที่ศึกษา โดยการทำงานของ รพ.สต. ราไวย์ ตั้งเป้าหมายการทำ ‘Premium OPD ทันตกรรมนอกเวลา’ ซึ่งภาคประชาสังคมและสมัชชาสุขภาพจังหวัด ได้เข้าไปมีบทบาทในการประสานการพูดคุย จนเกิดการจัดบริการทันตกรรมนอกเวลาผ่านการออกแบบระบบคิวนัด และอื่นๆ ขึ้น ซึ่งจากการทดลองเพียง 1 เดือนกว่า ก็พบว่ามีผู้เข้ามาใช้บริการทันตกรรมนอกเวลาทั้งหมด 28 คน เช่นเดียวกับ รพ.สต. บ้านเกาะมะพร้าว ที่เดิมมีปัญหาเรื่องการส่งต่อผู้ป่วย ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนรถกอล์ฟจาก อบจ. จนสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเกาะขึ้นมายังฝั่งได้อย่างปลอดภัย???

นายเจริญ ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าการที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสุขภาพในพื้นที่เป็นเรื่องที่ดี เพราะที่ผ่านมาการทำงานจะเป็นลักษณะ ‘จากบนลงล่าง’ ซึ่งอาจไม่ใช่ความต้องการของพื้นที่ ฉะนั้นจึงต้องใช้ รพ.สต. มาเป็นฐานในการขับเคลื่อน เพื่อดูแล และอภิบาลระบบที่สอดคล้องกับกระบบวนการมีส่วนร่วม เราต้องเข้าใจว่า รพ.สต. เป็นผู้เล่นหลักของระบบปฐมภูมิ ฉะนั้นสมัชชาสุขภาพจะต้องวางตัวเป็นกลไกกลางในการประสานให้เกิดกระบวนการจากล่างขึ้นบน โดยใช้ รพ.สต.เป็นฐานในการขับเคลื่อนงานสุขภาพ ซึ่งจากโมเดลทั้ง 2 ที่นี้ เห็นเลยว่าเกิดเป็นข้อเสนอเป็นความต้องการของชุมชน ฉะนั้น อบจ. จะต้องเป็นผู้สนับสนุน

ชาคริต โภชะเรือง สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา เล่าว่า ที่ จ.สงขลา จะใช้กลไกการมีส่วนร่วมมาวิเคราะห์ปัญหา เพื่อดูช่องว่างที่ต้องได้รับการเติมเต็ม โดยใช้โอกาสนี้นำข้อมูลมาเชื่อมโยง และพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนสำหรับการสร้างระบบนิเวศของการทำงาน เช่น ข้อมูลผู้ป่วยที่เข้าไม่ถึงบริการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเริ่มพัฒนา ‘Data Center’ ที่เชื่อมข้อมูลระหว่างท้องถิ่นกับกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อใช้ข้อมูลของคน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ฯลฯ มาเป็นตัวตั้ง

เช่นเดียวกับ ระบบดูแลผู้ป่วย ที่ใช้โอกาสจากการพูดคุย เชื่อมโยงพื้นที่การถ่ายโอนฯ นำมาพัฒนาเป็นแบบการคัดกรองสุขภาวะรายบุคคล ผ่านแอปพลิเคชัน iMed@home ทั้ง 4 มิติ ประกอบด้วย สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่วนนี้ยังเป็นการคืนข้อมูลใช้ประชาชนสามารถเห็นข้อมูล และเป็นเจ้าของข้อมูลของตัวเองได้

อย่างไรก็ดี ภาคประสังคมเองก็พยายามทำงานในพื้นที่ เพื่อสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมในพื้นที่ และจากการถ่ายโอนฯ ทำให้มีการวางยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน 6 เรื่อง ได้แก่ การยกระดับบริการ งบประมาณที่เพียงพอ ก้าวต่อด้วยเทคโนโลยี เจ้าหน้าที่ก้าวหน้า สร้างหุ้นส่วนในการพัฒนา และประชามีสุข

“หน้าที่ของเราคือทบทวน สร้างการมีส่วนร่วมด้วยการดึงภาคีที่ไม่ได้อยู่ใน กสพ. เข้ามาเพื่อช่วยกันเติมเต็ม นี่จึงเป็นโอกาส เพราะแทนที่จะมองว่าเป็นเรื่องของ อบจ. และสาธารณสุข แต่ใช้ฐานคิดมองเป็นเรื่องของทุกคน ซึ่งสงขลาเองก็ได้ทำโครงสร้างอภิบาลทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล ด้วยการเองปัญหาเป็นตัวตั้งในการคุย เพื่อดูว่าจะต้องเติมอะไรบ้าง" นายชาคริต กล่าว

ขณะที่ สุรีรัตน์ ตรีมรรคา สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ เล่าถึงการดำเนินงานของ รพ.สต.แม่ข่า ซึ่งเป็น 1 ใน 12 รพ.สต.ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ทำงานวิจัย โดยระบุว่า ในพื้นที่มีการทำงานของภาคประชาชนในนาม ‘ภาคีสร้างนำซ่อม’ อยู่ก่อนแล้ว เมื่อมีการถ่ายโอนฯ รพ.สต. มา จึงได้นำภาคีส่วนนี้เข้ามาเชื่อมการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ระหว่างเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ที่อยู่ในภาคี กับ อปท. พร้อมทั้งใช้กลไกคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) เข้ามาทำงานร่วมกับผู้นำชุมชน รวมถึงการดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมกันทำงานด้วย เพราะเมื่อพูดถึงหน่วยบริการแล้ว มีทั้งของรัฐ เอกชน รวมถึงโรงเรียนแพทย์ด้วย ส่วนตัวมองว่าการถ่ายโอน รพ.สต. ไปอยู่กับท้องถิ่น ถือว่ามีความก้าวหน้ามาก

ประกาศ เปล่งพานิชย์ สมัชชาสุขภาพจังหวัดปทุมธานี เล่าถึง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่แทบไม่เกิดปัญหาการถ่ายโอนฯ พร้อมยกตัวอย่างการทำงานของ รพ.สต.บ่อเงิน และ รพ.สต.บางขะแยง ซึ่งเป็นพื้นที่ตัวอย่างการศึกษา โดยใช้หลักสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขามาใช้ในการดำเนินงานเพื่อจัดการกับปัญหา อาทิ การขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ การดูแลผู้ป่วยระยะยาว ตลอดจนการจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่ และการนัดหมายบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเข้ารับบริการ นอกจากนี้กระบวนการสมัชชาสุขภาพได้เข้ามาเป็นตัวเชื่อมประเด็นกับคนทำงานในภาคส่วนต่างๆ กระทั่งตกผลึกเป็นนโยบายของผู้บริหารในท้ายที่สุด

เบญญาภา มะโนธรรม สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครราชสีมา บอกเล่าว่า จ.นครราชสีมา เป็นจังหวัดใหญ่ ทำงานโดยอาศัยหลัก ‘2 สายงาน 1 สายใจ’ เพื่อการปฏิรูประบบปฐมภูมิแบบใหม่อย่างไร้รอยต่อ โดยมีการศึกษาใน รพ.สต.ตลาดแค และ รพ.สต.โตนด ที่สามารถพัฒนานวัตกรรมการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ที่พัฒนาต่อยอดจากกองทุนฟื้นฟูระดับจังหวัด ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่าง อบจ. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการสมทบงงบประมาณร่วมกัน

ขณะเดียวกัน ยังมีกลไกความร่วมมือในระดับอำเภอ ซึ่งก็ได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานเข้าสู่ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ หรือ พชอ. เพื่อเข้ามาเป็นส่วนสนับสนุน สอดรับด้วยการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นระดับตำบล เพื่อให้เห็นถึงเรื่องการแก้ปัญหาและความต้องการที่แท้จริง

“การถ่ายโอนภารกิจฯ ควรจะมีเรื่องของการพัฒนาโครงสร้าง ความสัมพันธ์การจัดระบบสุขภาพให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญต้องมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกันว่าเมื่อถ่ายโอนฯ ไปแล้วประชาชนจะได้รับการดูแลสุขภาพแบบไร้รอยต่อ” น.ส.เบญญาภา ระบุ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นุ่น สินิทธา' กับชีวิตที่เปลี่ยนไป ใช้ 'Water Fasting' รักษาเนื้องอก!

นักแสดงสาวสายสุขภาพ "นุ่น-สินิทธา บุญยศักดิ์" เปิดใจเล่าถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป หันมาใส่ใจสุขภาพสาเหตุจากการป่วยเป็นโรคเนื้องอก ทำทุกวิถีทางจนต้องใช้การรักษาแบบ Water Fasting เพราะต้องการมีอิสรภาพทางการแพทย์ ในรายการ "On the way with Chom" โดยมีซูเปอร์สตาร์ตัวแม่ "ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต" รับหน้าที่เป็นพิธีกร