กสม. ชงแก้กม. ให้ผู้ติดยาเสพติดได้บำบัดรักษา โดยไม่ถูกจำกัดสิทธิ

‘กสม.’ ชงแก้ไข กม. ให้ผู้ติดยาเสพติด เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้ โดยไม่จำกัดสิทธิว่าเป็นผู้กระทำผิด ตามหลักสากล ‘ผู้เสพคือผู้ป่วย’

2 ส.ค. 2567 – นายภาณุวัฒน์ ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​ เปิดเผยว่า กสม. เมื่อเดือนม.ค. 2567 ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ออกประกาศเรื่อง กำหนดแบบบันทึกการตรวจหรือทดสอบสารเสพติดในร่างกาย การตรวจสอบพฤติการณ์และสอบถามความสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา พ.ศ. 2565 และแนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เพื่อนำผู้เสพหรือผู้ติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ขัดหรือแย้งกับหลักสิทธิมนุษยชน และเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติด และกรณีหน่วยงานของรัฐบังคับให้ผู้ต้องสงสัยว่าติดยาเสพติด ต้องเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด จึงมีมติให้ศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย

กสม. ได้พิจารณาบทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน พันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี มาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นยาเสพติด และการประชุมรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า มี 3 ประเด็นที่ควรพิจารณา ดังนี้

ประเด็นที่ 1 กฎกระทรวงการดำเนินการเพื่อบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2565 ให้อำนาจเจ้าพนักงานในการนำตัวผู้ที่มีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อเสพให้อยู่ในความดูแลเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ตรวจหรือทดสอบว่ามีสารเสพติดอยู่ในร่างกาย ซึ่งยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นผู้เสพหรือผู้ครอบครองเพื่อเสพหรือไม่ ไม่สอดคล้องกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) นอกจากนี้ กฎกระทรวงฯ ข้อ 16 วรรคสอง ให้ใช้สถานที่ดูแลเป็นการชั่วคราวในสถานที่ราชการหรือสถานที่อื่นใดซึ่งเจ้าพนักงานเห็นสมควร มีลักษณะเปิดกว้างในการให้ดุลพินิจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่และสุ่มเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่ 2 ประกาศสำนักงาน ป.ป.ส. เรื่อง กำหนดแบบบันทึกการตรวจหรือทดสอบสารเสพติดในร่างกาย การตรวจสอบพฤติการณ์และสอบถามความสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา พ.ศ. 2565 แบบบันทึกการตรวจหรือทดสอบสารเสพติดฯ หรือ แบบ ปยส. 115 มีข้อความว่า “กรณีที่ไม่ได้เข้ารับการบำบัดรักษา หลบหนี หรือไม่ได้รับการรับรองเป็นหนังสือว่าเป็นผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาจนเป็นที่น่าพอใจ หากเจ้าพนักงานตรวจพบว่าเสพหรือครอบครองเพื่อเสพอีก จะไม่สามารถสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาในครั้งต่อไปได้และต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย” เป็นการจำกัดสิทธิในการเข้ารับการบำบัดรักษาทางการแพทย์ในครั้งต่อไป ไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) และเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ให้ถือว่า “ผู้เสพคือผู้ป่วย” และให้บำบัดรักษายิ่งกว่าการลงโทษ

ประเด็นที่ 3 แนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เพื่อนำผู้เสพหรือผู้ติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาตามประมวลกฎหมายยาเสพติด กรณีเคยถูกตรวจพบและสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษามาก่อน แต่ไม่ให้ความร่วมมือหรือหลบหนี ให้ถือว่ามีพฤติกรรมต้องห้ามและให้ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี เป็นการจำกัดสิทธิการเข้ารับการบำบัดรักษา และเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสุขภาวะและภาวะพึ่งพิงยาเสพติด อันไม่สอดคล้องกับกติกา ICESCR และมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ การกำหนดให้การมียาเสพติดไว้ในครอบครอง ซึ่งแม้มีปริมาณน้อยกว่าที่กำหนดในบทสันนิษฐานตามร่างกฎกระทรวง แต่หากผู้กระทำความผิดนั้นมีพฤติการณ์และพยานหลักฐานรวมถึงประวัติในการกระทำความผิดว่าเป็นผู้ค้าหรือผู้จำหน่ายยาเสพติดมาก่อน ต้องถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดฐานครอบครองเพื่อจำหน่ายไม่ใช่ฐานครอบครองเพื่อเสพ ต้องนำตัวส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีเป็นการให้อำนาจเจ้าพนักงานเกินสมควรโดยยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการกำกับ อีกทั้งการดูพยานหลักฐานและประวัติในการกระทำความผิด ถือเป็นการตีตราผู้ที่กระทำความผิดมาก่อนว่าต้องเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำ อันไม่สอดคล้องกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ สรุปได้ดังนี้

1.ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายกระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงาน ป.ป.ส. หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแก้ไขมาตรา 115 (6) แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด หากจำเป็นต้องคงบทบัญญัติดังกล่าวไว้ให้กำหนดแนวปฏิบัติหรือหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวงฯ ให้ชัดเจนว่า กรณีใดต้องให้บุคคลอยู่ในความดูแลเป็นการชั่วคราว และสถานที่ซึ่งใช้ดูแลเป็นการชั่วคราวตั้งอยู่ที่ใดบ้าง รวมทั้งต้องติดตั้งกล้องวงจรปิด และกำหนดมาตรการให้มีหน่วยงานอิสระหรือหน่วยงานอื่นควบคุมหรือถ่วงดุลเพื่อตรวจสอบและป้องกันการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงาน

นอกจากนี้ ให้หารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อเปลี่ยนมาตรการลงโทษเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นการใช้นโยบายที่มีพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนและสาธารณสุข หรือพิจารณาส่งเสริมบทบาทของสถาบันครอบครัว สถาบันชุมชนให้ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ส่วนกรณีที่ผู้ต้องสงสัยว่าเสพหรือครอบครองเพื่อเสพยืนยันว่าไม่เข้ารับการบำบัดรักษา หน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายควรนำมาตรการทางปกครองหรือมาตรการทางเลือกที่เหมาะสมมาใช้แทนการลงโทษทางอาญา เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ

2.ให้กระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ตัดข้อความแบบ ปยส. 115 ที่เป็นการตัดสิทธิของผู้เสพหรือผู้ครอบครองเพื่อเสพในการเข้ารับการบำบัดรักษา ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และให้พิจารณาเพิ่มข้อความแบบ ปยส. 115 การนัดหมายกรณีไม่สามารถส่งตัวไปคัดกรองยังสถานพยาบาลยาเสพติด/ศูนย์คัดกรอง เป็น “กรณีไม่มารายงานตัวและรับการคัดกรองในวันและเวลาที่เจ้าพนักงานกำหนด โดยไม่มีเหตุจำเป็น และไม่มีเหตุผลอันสมควรจะถือว่าไม่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาและจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย…” เพื่อให้ผู้ถูกจับกุมและประสงค์จะเข้ารับการบำบัดรักษา แต่มีเหตุจำเป็นและเหตุผลอันสมควรที่ไม่อาจมารายงานตัวและรับการคัดกรองในวันและเวลาที่กำหนด มีโอกาสในการเข้ารับการบำบัดรักษาต่อไป

รวมทั้งให้แก้ไขแนวปฏิบัติ หัวข้อ การพิจารณาพฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเพื่อการดำเนินคดี หรือเพื่อส่งตัวไปเข้ารับการบำบัดรักษา ให้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนว่า “ผู้เสพคือผู้ป่วย” “การลดบทลงโทษทางอาญาของผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด” เพื่อมิให้เป็นการตัดโอกาสการเข้ารับการบำบัดรักษา และลดการตีตราผู้เคยมีประวัติเป็นผู้ขายหรือผู้จำหน่ายยาเสพติดมาก่อน ทั้งนี้ ให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นหรือกระบวนการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานด้านการสาธารณสุขและผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด ตลอดจนหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องด้วย

3.ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำรายชื่อสถานพยาบาลหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่ได้มาตรฐาน เพื่อเป็นข้อมูลในการเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟู อันเป็นมาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แก๊งยาเสพติดข้ามชาติ ยัดผงขาว-ไอซ์ มูลค่ากว่า 100 ล้าน ในองค์พระพุทธรูป

ที่หน้ากองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 237 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 23 (ร้อย ตชด.237 กก.ตชด.23) พล.ต.ฉัฐชัย มีชั้นช่วง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 (มทบ.210) และ  รองผู้บัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด

สนธิกำลังจับแก๊งขนยาบ้า ลอบขายช่วงลอยกระทง ยึดของกลาง 2.5 แสนเม็ด

ตำรวจ ทหาร ปกครอง จ.บุรีรัมย์ สนธิกำลังร่วมตำรวจ จ.สุรินทร์ ตามไล่ล่าติดตามจับกุม ทีมขนลำเลียงยาเสพติด ที่จะขนมาขายช่วงเทศกาลลอยกระทง ได้ยกแก๊ง 9 คน ยึดของกลางยาบ้า กว่า 2.5 แสนเม็ด ยาไอซ์จำนวนหนึ่ง กระสุนปืนอีก 14 นัด

'สนธิญา' ยื่น 'กสม.' สอบ 'ทักษิณ' ละเมิดสิทธิ์ หานักร้องเป็นหมา

ที่สำนักงาน​คณะกรรมการ​สิทธิมนุษยชน​แห่ง​ชาติ​ (กสม.)​ นายสนธิญา สวัสดี เดินทางยื่นหนังสือ พร้อมหลักฐานภาพข่าวการหาเสียงนายก องค์การ

ตำรวจแถลงจับเครือข่ายยาบ้ารายใหญ่ ของกลางยาบ้า 41 ล้านเม็ด

ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. ,พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี, พล.ต.ท.สำราญ นวลมา และ พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. ,พล.ต.ต.สมบูรณ์ เทียนขาว รอง

ทหารพราน ปะทะเดือด กลุ่มค้ายาชายแดน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ยึดยาบ้า 2 แสนเม็ด

ภายหลังจากที่หน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือ วางมาตรการสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดนช่วงประเพณีลอยกระทงประจำปีนี้

'ทวี' ตื่น แม่สร้างห้องขังดูแลลูกติดยา รุกจับมือทุกฝ่ายดูแลก่อนออกสู่สังคม  

“ทวี”เยี่ยม “เอ็ม” หนุ่มบุรีรัมย์ที่ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่ รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น ครบ 1 อาทิตย์หลังแม่ทนไม่ไหวสร้างห้องขังลูกเหตุเพราะติดยา พร้อมประกาศเดินหน้ากวาดล้างยาเสพติดอย่างจริงจัง และสร้างคนให้มีความรู้ความสามารถทัดเทียมนานาประเทศ