ชาวบ้านบุกสภาฯ ยื่นหนังสือร้องกมธ. หวั่นเมืองอุบลน้ำท่วมรุนแรงซ้ำซากทุกปี

หวั่นเมืองอุบลน้ำท่วมรุนแรงถาวรทุกปี หากเดินหน้าสร้างเขื่อนภูงอยกั้นโขงแถมเส้นเขตแดนเปลี่ยน ชาวบ้านบุกสภายื่นหนังสือร้อง กมธ.ตรวจสอบ “แม่สมปอง”เผยเขื่อนปากมูลทำปลาหายห่วงถูกซ้ำเติมอีก

1 สิงหาคม 2567 - ที่อาคารรัฐสภา เครือข่ายประชาชนจับตาน้ำท่วมอุบลและเขื่อนภูงอย และตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จำนวนกว่า 50 คน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูประเทศ ที่อาคารรัฐสภาเกียกกาย โดยมีนายรังสิมันต์ โรม ประธาน กมธ. เป็นผู้รับหนังสือ

น.ส.สดใส สร่างโศรก ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจับตาน้ำท่วมอุบลและเขื่อนภูงอย กล่าวว่าที่มาวันนี้มีตัวแทนจากชุมชนเมือง ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล เครือข่ายประชาชนแม่น้ำโขง ที่ต่างมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการเขื่อนพูงอยที่จะก่อสร้างบนแม่น้ำโขง แขวงจำปาสัก ทางใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว ซึ่งอยู่ห่างจากพรมแดนไทยที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เพียงราว 60 กิโลเมตร โครงการเขื่อนภูงอยจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประชาชนในจ.อุบลราชธานี ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมเกือบทุกปี แม้โครงการเขื่อนภูงอยสร้างอยู่ในเขตของประเทศลาว แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเด็นเส้นเขตแดนของไทย

นายจำนงค์ จิตรนิรัตน์ ตัวแทนเครือข่ายชุมชนเมืองอุบล กล่าวว่าขณะนี้ภาวะน้ำท่วมในเมืองอุบลเกิดขึ้นทุกปีและซ้ำซาก และยังไม่มีการแก้ไข หากจะมีโครงการเขื่อนภูงอยเกิดขึ้น ก็ยิ่งจะทำให้ปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น

“เขื่อนแห่งจะเป็นตัวชี้ขาดว่าจะทำให้เกิดน้ำท่วมเมืองอุบลฯ อย่างถาวรหรือไม่อย่างไร ชุมชนเมืองเป็นกลุ่มที่ประสบภัยน้ำท่วมอยู่ทุกปีอยู่แล้ว และโครงการเขื่อนภูงอยเป็นโครงการที่บริษัทไทยไปลงทุนด้วย จึงเป็นประเด็นที่น่ากังวลของชาวอุบลเป็นอย่างมาก” นายจำนงค์ กล่าว

นางสมปอง เวียงจันทร์ ผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล กล่าวว่าพวกเราได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลมาอย่างยาวนาน แม้จะมีบันไดปลาโจนก็ไม่สามารถที่จะทดแทนการอพยพขึ้นลงของปลาจากแม่น้ำโขสู่แม่น้ำมูลได้ หากมีโครงการเขื่อนภูงอย จะยิ่งทำให้ประชาชนมีปัญหาเรื่องการหาปลาเป็นอย่างมาก แล้วประชาชนอยู่อย่างไร โครงการเขื่อนภูงอยแห่งนี้จะอยู่ในลาว หากเกิดปัญหาเราจะมีอำนาจอะไรไปสั่งให้เขาเปิดหรือปิดเขื่อน อยากให้ กมธ.รับพิจารณาว่าประชาชนไม่ต้องการให้มีการสร้างเขื่อนแห่งนี้ เพราะปลาเป็นอาหารและความมั่นคงของชุมชนและสำคัญต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นอย่างมาก

นายรังสิมันต์ โรม ประธานกมธ. กล่าวว่าโครงการเขื่อนแห่งนี้แม้จะสร้างบนแม่น้ำโขงในลาว แต่จะสร้างผลกระทบต่อประเทศไทย และกรณีน้ำท่วมที่ จ.อุบลราชธานี ตนก็เคยไปลงพื้นที่และเห็นแล้วว่าน้ำท่วมเป็นปัญหาหนักหนาขนาดไหนบ้าง และคิดว่ากมธ. จะรีบการตรวจสอบและเป็นประเด็นหลักสำคัญที่อยู่ในขอบเขตอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่ให้การตรวจสอบได้แน่นอน

“เป็นประเด็นที่ประชาชนทุกข์ร้อน ผมจะเร่งการตรวจสอบให้เร็วมากที่สุด กรณีเขื่อนบนแม่น้ำโขง เราปฏิเสธไม่ได้ว่า มีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว มันเป็นข้อเท็จจริงที่สื่อมวลชนรายงานข่าวตรงกัน เราคิดเรื่องการสร้างเขื่อนและผลิตไฟฟ้าเพิ่มว่า เราจำเป็นหรือไม่ แต่เราไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่ยาวนาน เราไม่เห็นมาตรการรองรับอะไรเลย เราจะเป็นสะพานเชื่อมเอาปัญหาของประชาชนกับภาครัฐเพื่อการแก้ไขปัญหาต่อไป” ประธานกมธ. กล่าว

ทั้งนี้เนื้อหาในหนังสือถึงคณะกมธฯ ระบุว่า ขอให้ตรวจสอบการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูงอย โดยสถานการณ์ปัจจุบัน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 โดยภายใต้แผนดังกล่าวจะมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตใหม่มากถึง 42,751 เมกะวัตต์ และส่วนหนึ่งมาจากการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 3,500 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะมาจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก ได้แก่ โครงการเขื่อนภูงอย เขื่อนปากชม เขื่อนบ้านกุ่ม และเขื่อนสานะคาม ซึ่งจะเป็นการทำให้ประเทศไทยมีปริมาณไฟฟ้าสำรองมากเกินความจำเป็น และประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่เกิดความเป็นจำเป็นแล้ว ยังจะสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและวิถีการดำรงชีวิตของคนลุ่มน้ำโขง

“เครือข่ายจับตาน้ำท่วมฯเห็นว่า การศึกษาการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไม่ครบคลุมถึงพื้นที่ในเขตประเทศไทยและประชาชนไทย รวมถึงมาตรการลดผลกระทบอาจจะไม่มีชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้จริง เขื่อนภูงอยจะทำให้เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งเอ่อท่วมพื้นที่สำคัญ เช่น อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ รวมทั้งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการไหล การสะสมตะกอน และจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและการระบายน้ำของเขื่อนปากมูล ตลอดจนจะส่งผลกระทบต่อการจัดการบริหารอุทกภัย โดยจะทำให้ จ.อุบลราชธานี กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมรุนแรงและภาวะน้ำท่วมที่กินเวลายาวนานกว่าที่ผ่านมา ซึ่งจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงและมิอาจประเมินได้”หนังสือระบุ

หนังสือระบุด้วยว่า นอกจากนี้เขื่อนพูงอยจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลำน้ำและร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขง ในเส้นพรมแดนไทย-ลาว ซึ่งยังไม่สามารถปักปันเขตแดนที่ชัดเจน และอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศเพื่อนบ้านหรือนำไปสู่การสูญเสียอธิปไตยบางแห่ง สุดท้ายเขื่อนพูงอยซึ่งกำลังจะถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยหรือ PDP 2024 นั้น ไม่อาจจะนับว่าเป็นพลังงานสะอาดที่แท้จริง เนื่องจากมีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อประชาชน และมีผู้ถูกบังคับให้ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานหลายครอบครัว และต้องสูญเสียที่ดินทำกินและพื้นที่เพาะปลูกริมฝั่งแม่น้ำในฤดูแล้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากนั้นเครือข่ายประชาชนจับตาน้ำท่วมอุบลฯ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงบริษัทผู้พัฒนาโครงการของไทย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โฆษกศปช. เผยกรณี 'น้ำผุด' อ.เชียงดาว มอบหน่วยงานลงพื้นที่ศึกษาแนวทางใช้ประโยชน์

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า ตามที่ ศปช. ได้เคยประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนักในพื้นที่ระหว่างวันที่ 20-24 พ.ย.ไปแล้วก่อนหน้านี้

พยากรณ์ 10 วันล่วงหน้า ตั้งแต่ 18 พ.ย. อากาศเริ่มเย็นลงอีกครั้ง

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 15 -24 พ.ย. 67

กรมอุตฯ ประกาศเตือนพายุ 'โทราจี' ฉบับสุดท้าย

นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ “โทราจี” ฉบับที่ 10 โดยมีใจความว่า

อุตุฯ เตือนฝนฟ้าคะนอง 31 จังหวัด 'เหนือ-อีสาน' อุณหภูมิสูงขึ้น

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบนมีฝน/ฝนฟ้าคะนอง