ภาคประชาชนตั้ง 'เครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ' สู้ทุนผูกขาดครอบรัฐ

ภาคประชาชนจัดตั้ง 'เครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ' สู้ ทุนผูกขาดครอบรัฐ หวังแก้วิกฤตประเทศ ยึดรัฐคืนเป็นของประชาชน"

31 ก.ค.2567 - ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถ.ราชดำเนิน สถาบันสังคมประชาธิปไตย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมจัดประชุมเครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และอภิปรายเรื่อง เรื่อง "ทุนผูกขาดเศรษฐกิจครอบรัฐ ผลกระทบต่อผู้บริโภค กับวิกฤตการเมืองไทย" โดยมีผู้ร่วมอภิปรายคือ ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยารัตน์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต. สถาบันพัฒนบัณฑิต บริหารศาสตร์ (นิด้า) นายสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) นายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นายธีรเนตร ไชยสุวรรณ ประธานเครือข่ายประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) นางทองเชื้อ วระชุน ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค นายเยี่ยมยอด ศรีมันตระ ที่ปรึกษาสภาพครูแห่งชาติ นายจำนงค์ หนูพันธุ์ ประธานที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) และนายเมธา มาสขาว ผอ.สถาบันสังคมประชาธิปไตย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ร่วมอภิปราย

นายเมธา มาสขาว ผอ.สถาบันสังคมประชาธิปไตย และผู้ประสานงานเครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ กล่าวว่า ประเทศไทยตกเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจตั้งแต่สนธิสัญญาเบาว์ริง ที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าเสรี และรับประกันสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ตลอดจนอนุญาตให้ชาวอังกฤษสามารถถือครองที่ดินในสยามได้ รวมถึงต้องพึ่งพาเรือสินค้าของอังกฤษเป็นหลัก

การเติบโตของทุนพาณิชย์ ทุนการเงินการธนาคาร และทุนอุตสาหกรรม ในยุคสร้างชาติไทยใหม่ทำให้เห็นพัฒนาการในการก่อตัวของทุนระดับชาติ ที่การสะสมทุนเริ่มแรกนั้นก่อตัวมาจากทุนพาณิชย์ ก่อนที่จะขยายเข้าสู่ทุนการเงินการธนาคาร และการขยายตัวของทุนอุตสาหกรรมในภายหลัง

หนึ่ง การเติบโตทุนของเอกชนที่เริ่มต้นด้วยทุนพาณิชย์ชาวจีน ซึ่งมีฐานการสะสมทุนจากการค้าภายในและต่างประเทศ การเป็นตัวแทนนายหน้าระหว่างทุนต่างชาติกับผู้ผลิตในภาคเกษตรกรรม

สอง การเติบโตของทุนของเจ้านายและขุนนางในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เป็นชนชั้นเจ้าที่ดินที่สะสมทุนจากการเก็บค่าเช่า กิจการผูกขาดของหลวง ตลอดจนการร่วมทุนกับต่างประเทศในกิจการธนาคารและอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมรูปแบบทุนดังกล่าว

สาม ซึ่งก่อตัวขึ้นมาภายหลังคือ “ทุนของรัฐ” ที่พัฒนาขึ้นมาเมื่อรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม เลือกดำเนินนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม และสร้างรัฐวิสาหกิจขึ้นมาดำเนินกิจการที่เป็นอุตสาหกรรมการผลิตโดยตรงในหลายด้าน จนปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจกว่า 55 แห่งในปัจจุบันที่มีทุนและทรัพย์สินรวมกว่า 17 ล้านล้านบาท

เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและพลเรือนของรัฐมีความรู้และความสามารถเกี่ยวกับการพาณิชย์อย่างจำกัด จึงจำเป็นอยู่เองที่ต้องปล่อยให้พ่อค้าคนจีนเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่รัฐเป็นฝ่ายริเริ่มธุรกิจผูกขาดดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจึงเริ่มก่อตัวขึ้นในระยะนี้เอง ระบบดังกล่าวเปิดทางให้พวกข้ารัฐการระดับนำยินยอมยกอภิสิทธิ์หลายประการแก่นักธุรกิจชาวจีนบางกลุ่ม ตระกูลใหญ่ๆ เหล่านี้ทุกตระกูลล้วนพัฒนาธุรกิจของตนโดยอิงทุนแห่งรัฐเป็นเครื่องมือ บรรดาธุรกิจขนาดใหญ่ของพวกเขาล้วนมีเจ้าหน้าที่รัฐระดับกุมอำนาจเข้าไปมีหุ้นอยู่ด้วยเสมอ

โดยแผนการพัฒนารัฐและทุนนิยมไทยเกิดพร้อมแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 โดยปัญหาประเทศไทยปัญหาหลักคือ การออกกฎหมาย BOI ให้อภิสิทธิ์แก่กลุ่มทุนเอกชนเพื่อส่งเสริมการลงทุนไม่รู้จบ เดินตามระบอบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่และแผนธนาคารโลก จนเกิดทุนผูกขาดเศรษฐกิจครอบรัฐ ผลประโยชน์ทับซ้อน รายการทุจริตเชิงนโยบายนำมาสู่ยุคสมัยปัจจุบันคือยุค ทุนยึดรัฐ [state capture]

วันนี้จากที่ทุนยึดโทรคมนาคมมาถึงทุนยึดพลังงาน และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จาก ปตท. ถึง กฟผ. การบินไทย และขนส่งมวลชน การยึดรัฐเป็นการทุจริตทางการเมืองอย่างเป็นระบบชนิดหนึ่ง ซึ่งผลประโยชน์ของเอกชนมีอิทธิพลต่อกระบวนการวินิจฉัยสั่งการของรัฐอย่างมากเพื่อประโยชน์ส่วนตน

ดังนั้นไม่น่าแปลกใจที่ในเวลาต่อมา จากการสัมปทานความร่ำรวยแบบเก่าจนถึงการเข้าผูกขาดเศรษฐกิจโดยวิธีธุรกิจการเมืองและนโยบายเอื้อประโยชน์จากรัฐบาล ยิ่งทำให้การเติบโตของทุนไทยพุ่งสูงขึ้นจนกลายเป็นความเหลื่อมล้ำอันดับ 1 ของโลก

เนื่องจากรัฐและทุนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ยึดครองทรัพยากรของประเทศและระบอบราชการ ประชาชนจึงกลายเป็นผู้บริโภค และผู้ซื้อบริการภาครัฐ ทำให้รัฐชาติยิ่งอ่อนแออย่างยิ่ง ในยุคสงครามความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์โลกใหม่

ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยารัตน์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่า ทุนนิยมย่อมผูกขาดตนเองในที่สุด ตอนแรกอาจมีการแข่งขัน จากผู้ค้าหลายราย แต่ท้ายที่สุดคือจะไม่มีการแข่งขัน และเจ้าใหญ่ในตลาดสามารถกำหนดราคาได้ สุดท้ายกระบวนการสะสมทุนของทุนนิยมนำไปสู่การผูกขาดเสมอ

ทุนกับรัฐ ในทางรัฐสมัยใหม่รัฐบาลคือองค์กรกลางเพื่อดูแลประชาชน แต่พัฒนาการของทุนคือการเข้ายึดกลไกรัฐเพื่อกำหนดกฎระเบียบต่างๆ เอื้ออำนวยให้ทุน แต่ถ้าทุนกำหนดรัฐจนประชาชนไม่มีอำนาจซื้อแล้วก็ไม่ได้ จึงมักกดดันให้รัฐทำเงินผัน ปัจจุบันอาจจะเรียกว่าเงินดิจิตัล

ทุนมากับอำนาจรัฐสมัยอาณานิยม ทุนนิยมจักรวรรดินิยม แต่ไทยส่งออกสินค้า 2 อย่างคือข้าวและวัตถุดิบ จึงพัฒนาทุนนิยมตามตะวันตก หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยพยายามปรับเป็นทุนนิยมโดยรัฐและสร้างรัฐวิสาหกิจขึ้น แต่ต่อมายุคทหารเราเดินทางธนาคารโลกและเสรีนิยมใหม่เพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น ผ่านการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งลักษณะของทุนนิยมคือการยึดรัฐในตัวของมันเอง “ทุนนิยมเติบโตขึ้น โดยการกลืนกินชนบท”

นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การเข้าเขมือบทรัพยากรของกลุ่มทุนมีมานานแล้วและมักเข้ามาอยู่ข้างกายผู้มีอำนาจตลอด ตัวอย่างในรัสเซียก็ชัดเจน จนกลายเป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำอันดับหนึ่งของโลก เพราะอาณาเขตกว้างใหญ่ ทรัพยากรใต้ดินมีมากกว่า 30% ของโลก จึงไม่แปลกที่เขาใช้อำนาจนิยมยึดครองทรัพยากรจนผูกขาด

แต่ที่ตนแปลกใจคือประเทศไทยเป็นประเทศเล็กๆ แต่ทำไม่เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจากการผูกขาดไม่ต่างจากรัสเซีย ทำไมการกระจายรายได้เกิดความไม่เป็นธรรมมหาศาล

จากการเปรียบเทียบการเติบโดของค่ายทุนนิยมเสรีกับค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันมีการยอมรับเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy) มากขึ้น โดยรัฐเป็นกรรมการกลางเพื่อไม่ให้ทุนใหญ่จนเกินไป ประเทศไทยมีการเขียนกฎหมายการแข่งขันทางการค้าเพื่อแก้ปัญหา แต่ไม่มีเคยจับใครได้เลย เพราะการคัดเลือกกรรมการถูกแทรกแซงจากกลุ่มทุน

เราต้องหารัฐที่มีประสิทธิภาพและเป็นกรรมการกลางมาจัดการเรื่องนี้ อย่าให้ใครมามีอำนาจเหนือตลาด มีอำนาจเหนือรัฐและเอาเงินมาซื้อผู้บริหารรัฐบาลในที่สุด

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) กล่าวว่า ผลิตผลของระบอบทุนนิยมทำให้คนเป็นปัจเจกชน และภาคประชาชนอ่อนแอลงมาก ทำให้ไม่มีพลังพอในการต่อสู้และเรียกร้องรัฐให้แก้ปัญหาทุนผูกขาด ขณะที่ลักษณะประเทศไทยเป็นทุนบริวารที่พึ่งต่างชาติด้วย หวังนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน

นายทุนกับผู้มีอำนาจกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ในการออกกฎหมายต่างๆ ดังนั้น ภาคประชาชนจะต้องสามัคคีกันดังคำขวัญสามัคคีประชาชน สามัคคีกรรมกร เพื่อสร้างพลังของประชาชน และต่อสู้เรื่องแนวคิดระบอบเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อหาวิธีการกระจายโภคทรัพย์ที่เป็นธรรม

ประเทศทุนนิยมแบบอเมริกาทำไมมีคนไร้บ้านจำนวนมาก เพราะเกิดการผูกขาด ประเทศไทยกำลังเดินไปแบบนั้น เพราะทุนเข้ายึดทรัพยากรต่างๆ ทั้งใต้ดินบนดินชัดเจนขึ้น รวมถึงยึดรัฐวิสาหกิจของรัฐต่างๆ เพื่อแปรรูปไปเป็นของเอกชน วันนี้ ขสมก.ก็แปรรูปไปเป็นเอกชนเกินครึ่งแล้ว

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต. สถาบันพัฒนบัณฑิต บริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ลักษณะการผูกขาดมาหลายอย่าง รวมถึงการผูกขาดการกำหนดราคา เราจะทำอย่างไรไม่ให้มีการกำหนดราคาจากผู้ผูกขาด ซึ่งกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคโดยตรง แต่ผู้ผูกขาดมักจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อไม่ให้คนรู้สึกว่าไม่เกิดการผูกขาด

ปัญหาสำคัญคือ การที่ทุนได้รับใบอนุญาตจากรัฐให้สัมปทานหรือผูกขาด ซึ่งภาคประชาชนควรตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาการผูกขาดภาคประชาชนและไปรื้อกฎหมายและใบอนุญาตต่างๆ เหล่านั้นมาดู เพราะทุนใช้รัฐในหลายปัจจัยเพื่อสร้างส่วนแบ่งทางการตลาดที่มากขึ้นเพื่อสร้างการผูกขาด

ผลกระทบการผูกขาดมีมหาศาล มีทั้งต่อประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อย และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วย ทำให้ประเทศไทยไม่ค่อยมีนวัตกรรมใหม่ขึ้นเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพทางการผลิต เนื่องจากไม่เกิดการแข่งขันกัน นอกจากนี้ การปล่อยให้กลุ่มทุนใหญ่เติบโตมากๆ จนหากล้มละลายแล้วจะได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รัฐจึงเข้าไปช่วยเหลือกลายเป็นปัญหาใหญ่
ในทางการเมือง นโยบายถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนทั้งหลาย นักการเมืองถูกครอบงำ ทรัพยากรสังคมกระจุกตัวกับทุนผูกขาด ประชาชนถูกกีดกันทางการเมืองและไม่พอใจจากค่าครองชีพ ทำให้ขยายความขัดแย้งลุกลามมากขึ้น และนำไปสู่วิกฤตขึ้นมา

ประเทศไทยเกิดการผูกขาดใหญ่ๆ หลายครั้ง คือการควบรวมการค้าปลีก และการควบรวมบริษัทโทรคมนาคมที่ดูแลคลื่นความถี่ แต่ภาครัฐไทยไม่ทำอะไรเลย แทนที่จะคัดค้านและสนับสนุน SME ให้เติบโตได้เพื่อทลายข้อจำกัดทางการค้า

นายกรัฐมนตรี หรือผู้นำรัฐบาลควรเป็นผู้นำในการต่อต้านการผูกขาดของกลุ่มทุน แต่ในประเทศไทยไม่มีผู้นำแบบนั้น เพราะมักจะถูกคลุมโดยนายทุนผูกขาด และผู้ที่มีแนวโน้มที่จะแก้ไขก็จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง

ประชาชนจะต้องร่วมกำหนดและเลือกซื้อสินค้าเพื่อกดดันสินค้าของบริษัทผูกขาด และอาจเข้าชื่อเสนอกฎหมายแก้ไขกฎหมายการผูกขาด รวมถึงสนับสนุนนักการเมืองที่มุ่งแก้การผูกขาด และช่วยกันสื่อสารสังคมร่วมกันรณรงค์

นายสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า ประชาชนได้รับผลกระทบจากการผูกขาดทั่วประเทศ และมีการออกแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน และพร้อมที่จะยกเลิกหรือแก้ไขการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ได้โดยง่ายดาย ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิชุมชนอย่างกว้างขวาง

การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษส่งเสริมทุนธุรกิจ หลายเรื่องละเมิดรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่รัฐบาลไม่นำพาที่จะแก้ไขปัญหา ภาคประชาชนจะพึ่งใครมาแก้ปัญหาได้ ตนคิดว่าขณะนี้เกิดสงครามการแย่งชิงทรัพยากรอย่างกว้างขวางและพยายามเข้าผูกขาดทรัพยากรหลักของกลุ่มทุน เช่น ไฟฟ้า การบริหารจัดการน้ำ ซึ่งภาคประชาชนควรจะรวมตัวขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังเป็นวาระสำคัญหลักของสังคม

ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า เรื่องปลาหมอคางดำเป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่จะทำอย่างไรให้หน่วยงานรัฐเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และกรมประมงควรจะรับผิดชอบ หากไม่รับผิดชอบตนสนับสนุนให้ประชาชนออกมาฟ้องร้องกรมประมงผ่านศาลปกครอง รวมถึงฟ้องร้องค่าเสียหาย ที่ละเลยและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จนประชาชนเสียหายและได้รับผลกระทบ

สำหรับการแก้ไขปัญหาการผูกขาดเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ต่างจากเรื่องปลาหมอคางดำที่กินไปเรื่อยจนสัตว์น้ำอื่นอยู่ไม่ได้ ตนเสนอให้ใช้แนวคิดการแบ่งสรรปันส่วน ประโยชน์และภาระ โดยเปิดโอกาสให้คนเข้าสู่การจัดการพื้นที่สาธารณะมากขึ้น ซึ่งก็คือการกระจายอำนาจ และช่วยคนให้เข้าถึงโอกาสต่างๆ ด้วยการส่งเสริมเสรีภาพ

นายธีรเนตร ไชยสุวรรณ ประธานเครือข่ายประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) กล่าวว่า รัฐบาลนี้มีแผนแม่บทเพิ่มเพื่อแย่งยึดที่ดินภาคการเกษตรมากขึ้นจากเกษตรกรและคนจนมากขึ้น ไล่ที่คนจนออกจากที่ดินทำกินของตนเอง โดยอ้างว่าจะเอาที่ดินมาปลูกป่า ทั้งที่หลายพื้นที่ชาวบ้านอยู่มาก่อนกฎหมาย บางที่อยู่มาก่อนก่อตั้งประเทศด้วยซ้ำ บางส่วนอ้างว่าจะปลูกป่าแต่กลับไปยกให้กลุ่มทุนทำกังหันลมไฟฟ้า เป็นต้น

ตนสนับสนุนให้ออกกฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในพื้นที่พิพาทเรื่องที่ดินมากมายโดยเฉพาะภาคใต้ ตนเสนอให้มีการส่งเสริมให้ชุมชนจัดการตนเอง ไม่ใช่ปล่อยให้กลุ่มทุนเข้าไปแย่งยึดพื้นที่ แต่ต้องกระจายการถือครองที่ดินเพื่อแก้ปัญหาคนจนถูกแย่งยึดที่ดินทำกิน

พญ.กมลพรรณ ชีวพันธุ์ศรี นักเคลื่อนไหวเรื่องพลังงานกล่าวว่า ผู้มีอำนาจรัฐออกแบบกฎหมายแม่บทเพื่อให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้การคอนโทรลของกลุ่มทุน กลายเป็นกับดักการเมืองที่ถูกออกแบบไว้ เมื่อยึดการเมืองได้ก็ตั้งองค์กรอิสระจากฝ่ายการเมืองที่ไม่สามารถตรวจสอบกันเองได้ ดังนั้นในทางการเมืองน่าผิดหวัง

แต่ในส่วนประชาชนควรรวมตัวกันให้ได้เพื่อขับเคลื่อนแต่ละประเด็น ออกแถลงการณ์ร่วมกันแต่ละเรื่องได้ และเชิญนักคิดระดับหัวกะทิมาร่วมเคลื่อนไหว โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ถูกผูกขาดชัดเจน

นายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า การเมืองเป็นเรื่องจัดแจงผลประโยชน์ให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่วันนี้การเมืองกับกลุ่มทุนกลายเป็นกลุ่มเดียวกัน คนหนึ่งทำหน้าที่ผู้แทน คนหนึ่งทำหน้าที่อยู่ข้างหลัง การแข่งขันในกลไกตลาดจึงไม่มีอยู่จริงในประเทศไทย

ในภาพของกลุ่มทุนและนักการเมืองไปตีกอล์ฟกัน ตนคิดว่าไม่ใช่วิกฤตการเมือง เพราะเขายังสนุกสนานมีความสุขกัน แต่อาจจะเป็นวิกฤตการเมือง ที่รัฐบาลจะต้องดูแลผลประโยชน์ประชาชนไม่ใช่กลุ่มทุนดังตัวอย่างเรื่องปลาหมอคางดำ สังคมไทยบิดเบี้ยวเพราะรัฐดูแลแต่เอกชน

ปัญหาเรื่องที่ดินเป็นตัวอย่างของทุนผูกขาดที่เข้าไปยึดทรัพยากรสาธารณะ จนครอบครองมากกว่า 1 ล้านไร่ รวมถึงความพยายามเข้าไปยึดครองรัฐวิสาหกิจและแปรรูป เพื่อทำให้รัฐวิสาหกิจอ่อนแอลงเพื่อให้กลุ่มทุนสามารถเข้าไปหาผลประโยชน์ ซึ่งเป็นแผนของกลุ่มทุนและการเมืองที่ขยับเข้าไปแทรกแซง จนกระทั่งผลักดันประเด็นเข้าไปในรัฐธรรมนูญว่าห้ามรัฐวิสาหกิจแข่งขันกับเอกชนเป็นต้น แต่สนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจทำธุรกิจแทนการบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน ดังนั้น รัฐวิสาหกิจถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อหาผลประโยชน์แก่กลุ่มทุนแทน เช่น กฟผ. ขสมก. เป็นต้น ซึ่งสุดท้ายเป็นความพยายามทำให้รัฐวิสาหกิจล่ม เพื่อเข้าไปแปรรูป

นายเมธา มาสขาว ผอ.สถาบันสังคมประชาธิปไตย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ กล่าวสรุปว่า 1.ภาคประชาชนจะรวมตัวกันในนามเครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพื่อตรวจสอบเศรษฐกิจผูกขาดร่วมกันเป็นรายประเด็นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผูกขาดไฟฟ้า น้ำ น้ำมัน ที่ดินหรือทรัพยากรอื่นๆ รวมถึงประเด็นการพยายามเข้ายึดครองทรัพยากรของรัฐ เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

2. ประชาชนจะร่วมกันขับเคลื่อนการกระจายอำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ เพื่อมีอำนาจในการจัดการทรัพยากร

3. ร่วมกันเข้าไปตรวจสอบองค์กรอิสระและกลไกของรัฐที่ดูแลเรื่องการป้องกันการผูกขาดไม่ว่าจะเป็น boi กขค. หรือ กสทช.

4.. ผลักดันกฎหมาย และเข้าไปมีส่วนในอำนาจทางการเมืองมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนยึดรัฐคืนจากนายทุน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลขาครป.จี้รัฐแก้ปัญหาโครงสร้างยุติซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ให้กฟผ.กลับมาผลิตเองเหมือนเดิม

เลขาครป.จี้รัฐบาลแก้ปัญหาโครงสร้างยุติการซื้อไฟฟ้าจากเอกชน แต่ให้กฟผ.กลับมาผลิตเองเหมือนเดิม ด้วยต้นทุนที่ต่ำจะสามารถลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนได้ และขอให้ตรวจสอบสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเอื้อประโยชน์ให้นายทุนของรัฐบาล

ครป. อัดโผครม.เศรษฐา 1 แบ่งโควตาให้ผู้มีอำนาจ-นายทุนพรรค

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ขณะนี้เหมือนมีการจัดตั้ง ครม.ชุดใหม่ ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากมีคนไปเยี่ยม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เกือบ

'สนนท.' จับตาไม่กะพริบ กม. 2 ฉบับโผล่สกัดพลังนักศึกษา

ครป. ผนึกองค์กรนักศึกษา แถลงคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.สภาผู้แทนนิสิตฯ ชี้ เป็นการจำกัดเสรีภาพ สกัดองค์กรนักศึกษาทำกิจกรรมอย่างอิสระ ชี้อย่าออกกฎหมายควบคุมประชาชนซ้ำซ้อน 

เซ็งเป็ด! ครป.ผิดหวัง ผู้มีบารมีนอกพรรคเพื่อไทย คุมเกมเลือกประธานสภาฯผ่าน 'อ้วน-ภูมิธรรม'

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่ 2 พรรคใหญ่ไม่สามารถตก

ฟันเปรี้ยง! 'พิธา' ฝ่าขวากหนามสู่ประตูไทยคู่ฟ้า นั่งเก้าอี้นายกฯ

เลขา ครป. ชี้ "พิธา"ฝ่าด่าน กกต.-ส.ว. ได้เป็นนายกฯ ห่วงทุนใหญ่ไล่ฟ้องปิดปาก ประชาชน – นักวิชาการ เหตุวิจารณ์เพื่อประโยชน์สาธารณะ  

มาแต่เช้า! ครป.จี้ 'ประยุทธ์-ครม.' แสดงสปิริตหยุดปฏิบัติหน้าที่

ครป.ออกแถลงการณ์จี้ 'บิ๊กตู่' พร้อม ครม.แสดงสปิริตหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้วให้ปลัดรักษาราชการแทนจากกรณีถูกศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดเรื่อง พ.ร.ก.อุ้มหายขัด รธน. พร้อมจี้ ป.ป.ช.ถอดถอน