ภาคต่อความสัมพันธ์ครั้งประวัติศาสตร์!! 'พีระพันธุ์' นำทีมเยือนซาอุดีอาระเบีย ถกความร่วมมือด้านพลังงานอย่างจริงใจและจริงจัง เผย‘ซาอุฯ’พร้อมลงทุนไทยในทุกมิติ นำร่องผลิตพลังงานไฮโดรเจนระดับ ‘บิ๊กดีล’ ไฟเขียวถ่ายทอดองค์ความรู้ ‘วิทยาลัยพลังงาน’ หนุนการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันของไทย
26 ก.ค.2567 - นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภารกิจภายหลังการเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยปลัดกระทรวงพลังงาน และคณะทำงาน ระหว่างวันที่ 15-16 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมาว่า ในการเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ มีภารกิจสำคัญอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกคือ การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย ส่วนที่สองเป็นการติดตามความคืบหน้าในเรื่องของการทำความตกลง (MOU) ระหว่างกระทรวงพลังงานไทยกับกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย ที่ได้มีการลงนามไปเมื่อปี 2565 โดยคณะของกระทรวงพลังงานไทยได้มีการหารือกับคณะเจรจาของกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย นำโดย เจ้าชายอับดุลอาซิซ บิน ซัลมาน อัล ซาอุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย และยังมีหน่วยงานชั้นนำของประเทศซาอุดีอาระเบียและของโลกเข้าร่วมหารือด้วย เช่น Saudi Aramco บริษัทน้ำมันชั้นนำระดับโลก บริษัท SABIC ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่ระดับโลก บริษัท ACWA Power ผู้ประกอบธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้า และ SEEC หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงานของประเทศ
นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ในด้านภารกิจกระชับความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดีอาระเบียหลังจากที่มีการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกันในรอบ 32 ปีนั้น ได้มีการพูดคุยกันในกรอบการค้า รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่จะเกิดประโยชน์โดยภาพรวมต่อทั้งสองประเทศ ส่วนภารกิจด้านการติดตามความร่วมมือด้านพลังงานตาม MOU เดิมทั้ง 8 ข้อนั้น ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทางซาอุดีอาระเบียในทุกข้อตกลง โดยทั้งสองฝ่ายได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อติดตามและผลักดันความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียต่อไป
นายพีระพันธุ์ได้เปิดเผยถึงข้อตกลงสำคัญ ๆ ในการหารือว่า ขณะนี้ทางซาอุดีอาระเบียได้ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของพลังงานแห่งอนาคต และกำลังพิจารณาที่จะเข้ามาลงทุนด้านนี้ในประเทศไทย โดยเฉพาะพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งเป็นพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งรถยนต์ในอนาคต รวมถึงเรื่องของพลังงานเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ อีกทั้งสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ด้วย
"เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะถ้าหากว่าเราสามารถพัฒนาไฮโดรเจนจนได้ต้นทุนที่ถูกลง ก็จะสามารถนำพลังงานส่วนนี้มาชดเชยก๊าซ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ช่วยลดต้นทุนผลิตไฟฟ้า และลดค่าไฟแก่พี่น้องประชาชนได้ ซึ่งทางซาอุฯ ก็รับปากที่จะมาลงทุนในไทยในเรื่องของพลังงานไฮโดรเจน"
นายพีระพันธุ์กล่าวอีกว่า การลงทุนผลิตพลังงานไฮโดรเจนในประเทศไทยถือเป็นความร่วมมือระดับ “บิ๊กดีล” ระหว่างไทยและซาอุฯ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว เพราะทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศต่างก็มีเป้าหมายจะพัฒนาและลงทุนในด้านนี้
นอกเหนือจากข้อตกลงทั้ง 8 ข้อใน MOU เดิม นายพีระพันธุ์ยังได้เสนอให้เพิ่มเติมความร่วมมือในด้านอื่นๆ ซึ่งได้แก่ การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านพลังงาน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานในการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของไทย ซึ่งทางซาอุดีอาระเบียก็ได้ให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการให้การสนับสนุนด้านวิชาการแก่ 'วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ' ที่กำลังเตรียมจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย เพื่อช่วยยกระดับองค์ความรู้และบุคคลากรพลังงานที่จะสร้างประโยชน์ต่อประเทศไทยในอนาคตต่อไป
นายพีระพันธุ์กล่าวอีกว่า การเยือนซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของไทย ซึ่งเป็นผลจากการต่อยอดการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ โดยเจ้าชายอับดุลอาซิซ บิน ซัลมาน ในฐานะ รมว.พลังงานซาอุฯ รวมถึงบุคลากรระดับสูงของภาครัฐ และผู้นำของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานในซาอุดีอาระเบียต่างให้การต้อนรับคณะของกระทรวงพลังงานไทยเป็นอย่างดีในทุก ๆ ด้าน
"การเยือนซาอุฯ ครั้งนี้ เราได้รับการตอบสนองอย่างดีในทุกๆ เรื่อง และเราได้รับการต้อนรับที่ดีจริงๆ เราได้ชมกระบวนการทำงาน เทคโนโลยี และนวัตกรรมขั้นสูงของบริษัทด้านพลังงานระดับโลก และทางซาอุฯ ก็ยินดีที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ให้กับประเทศไทย เหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นความตกลงข้อที่ 9 ที่เราได้มา นอกเหนือจาก MOU ทั้ง 8 ข้อ ซึ่งล่าสุดทั้งสองประเทศก็ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันในทุกๆ ประเด็นความร่วมมือที่มีการพูดคุยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว"
นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ยังได้เชิญชวนให้ซาอุดีอาระเบียพิจารณาเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน โรงกลั่นน้ำมัน คลังน้ำมัน ท่าเรือ และท่อขนส่งน้ำมันในพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve : SPR) ให้กับประเทศไทย และสามารถเป็นจุดกระจายน้ำมันจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งลงได้ โดยทาง ซาอุฯ ได้ให้ความสนใจและพร้อมที่จะเข้ามาศึกษารูปแบบการดำเนินระบบ SPR ของไทยทันทีเมื่อไทยมีความพร้อม
ขณะเดียวกัน ทางซาอุดีอาระเบียก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับไทยในเรื่องของการผลิตพลังงานสะอาด และเน้นย้ำนโยบายการขับเคลื่อนพลังงานที่ต้องการผลักดันเพื่อไปสู่เป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย
สำหรับโอกาสการลงทุนในซาอุดีอาระเบียนั้น นายพีระพันธุ์เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ซาอุฯ มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศสูงมาก แต่ยังไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ จึงส่งสัญญาณผ่านทางกระทรวงพลังงานของไทยไปถึงนักลงทุนไทยที่สนใจจะมาลงทุนโรงไฟฟ้าให้ที่ซาอุฯ ด้วย
"การไปเยือนและเจรจาครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดประตูครั้งสำคัญของสองฝ่าย หลังจากที่ทาง ซาอุฯ เอง ก็รอไทยมาตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งเกือบสองปีเต็มนั้นยังไม่มีอะไร แต่วันนี้ความคืบหน้าของ 'ไทย-ซาอุฯ' เกิดขึ้นแล้ว และแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งผมก็จะเร่งผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป นี่คือสัญญาณที่ดีมากๆ เพราะทุกการเจรจา ทุกความร่วมมือที่กล่าวถึง ทาง ซาอุฯ ไม่ได้มาเพียงเพื่อพูดคุยเล่นๆ แต่เขาเอาจริง" นายพีระพันธุ์กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอวรงค์' อัด 'ภูมิธรรม' ยังสับสนเรื่องเกาะกูด
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานทราปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า นายภูมิธรรมยังสับสนเรื่องเกาะกูด
'พีระพันธุ์' เตรียมขยายเวลาตรึงค่าไฟ 4.18 บาทต่อหน่วย ถึงสิ้นปี 67
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงมาตรการดูแลราคาพลังงานให้ประชาชน หลัง
‘ภูมิธรรม’ ทุบฝ่ายต้านบิดเบือน MOU เกาะกูด ทำผลประโยชน์ชาติสั่นคลอน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "ผลประโยชน์ชาติสั่นคลอน เมื่อการเมืองบิดเบือน MOU เกาะกูด" ระบุว่าการจุดประเด็นทางการเมืองเรื่อง MOU 44 ในช่วงนี้ ได้สร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยในหลา
'วรงค์' เหนื่อยใจกับนายกฯอิ๊งค์ พูดวกวน เหมือนดีใจที่กัมพูชาลากเส้นไหล่ทวีปอ้อมเกาะกูด
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "เหนื่อยใจกับอุ๊งอิ๊ง"