'เนเน่' ค้านสส.กก.เสนอกฎหมายห้ามBullyตีบุตรหลาน แนะให้ความรู้ผู้ปกครองดีกว่า

12 ก.ค.2567 - เนเน่ รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ และรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

#รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี สุภาษิตไทยที่บ่งบอกให้เห็นว่าคนไทยนั้นมีความเข้าใจว่า #ตีลูก นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อถึงความรักที่มีต่อลูก ซึ่งความเชื่อนี้อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน แต่ถ้าถามว่า "ตีลูกดีจริงไหม" จริงๆ แล้วปัจจุบันนี้มีงานวิจัยมากมาย ทั้งด้านจิตวิทยา ด้านครุศาสตร์ ฯลฯ ที่บ่งชี้ว่า ในกระบวนการสั่งสอนหรือโน้มน้าวสมองมนุษย์ (ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่) ให้เรียนรู้ จดจำ และทำตามได้ #แย่ที่สุด #ไร้ประสิทธิภาพที่สุด ก็คือการลงโทษ (Punishment) หรือ การตี นั่นแหละ ...การลงโทษนั้น นอกเหนือจากไม่มีประสิทธิภาพแล้วอาจจะนำไปสู่ผลที่ได้ที่ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เช่น การทำให้เด็กมีพฤติกรรมชอบโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงความผิด หรือ ความผูกพันและความสัมพันธ์อันดีที่พ่อแม่มีต่อลูกทุกบั่นทอนลง เป็นต้น
.
ฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ว่าทำไมถึงมีกระแสต้องการที่จะยกเลิก #การตีลูก โดยล่าสุด นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.พรรคก้าวไกล เสนอการแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยจะเพิ่มสาระสำคัญคือ ห้าม #ทําร้ายร่างกาย และห้าม #กลั่นแกล้งผ่านคําพูด #Bully กับบุตรหลานในการเลี้ยงดูและสั่งสอน ซึ่งฟังแล้วดูดี และต้องขอขอบคุณคุณณัฐวุฒิที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้... แต่คงต้องถามด้วยว่าทุกปัญหาสามารถแก้ได้ด้วยการแก้กฎหมายไหม คงต้องขออนุญาตไม่เห็นด้วย
.
หลักความคิดว่าการ "ลงโทษ" คือการทำทารุณกรรม คือการ #บูลลี่ เป็นแนวคิดของทางตะวันตก ซึ่งแนวคิดนี้ใช่ว่าจะไม่ดี แต่หากจะแก้ปัญหาให้ประเทศไทย เราก็ต้องเข้าใจบริบทสังคมไทยด้วยว่ามันมีวิวัฒนาการมายังไง แล้วออกแบบแนวทางที่เหมาะสมให้ตัวเราเอง การคล้อยตามแนวคิดคนอื่น หยิบยกนำวิถีของเขา ยกเอากฎหมายของเขาที่เราคิดว่าดี เอามาบังคับใช้ในประเทศไทยนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับการบังคับให้คนไทยสวมใส่รองเท้าของฝรั่ง ที่ทั้งใหญ่เกินไป เดินไม่สะดวก ไม่ได้เหมาะสมกับเราเลยในหลายๆ ด้าน ...เนเน่ขอเสนอใน 3 ประเด็นดังนี้
.
#หนึ่ง ขอย้ำว่าการ #แก้กฎหมายไม่ใช่ทางออก อย่างแน่นอน ร่างพระราชบัญญัติที่พรรคก้าวไกลเสนอมีความ ซํ้ำซ้อนกับกฎหมายหลายฉบับ แถมอีกว่าเมื่อวันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2567 ผ่านมานี้เอง ครม. เพิ่งเห็นชอบให้ประเทศไทยถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กไป ซึ่งตรงนี้มีนัยยะสำคัญค่ะ ตอนที่ประเทศไทยตัดสินใจเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 เราได้สงวนไว้ถึง 3 ข้อ เพราะ ณ ตอนนั้นบริบทของสังคมไทยและกฎหมายของเรายังไม่มีความพร้อมเพียงพอ แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป ในวันนี้กฎหมายของไทยมีความเข้มแข็งเรื่องการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่เกี่ยวข้องกับเด็กในด้านต่างๆ เพียงพอแล้ว เราจึงสามารถถอนข้อสงวนข้อสุดท้ายออกได้ กล่าวคือกฎหมายของไทยตอนนี้มีมาตรฐานในระดับสากลเพียงพอแล้วค่ะ ไม่จำเป็นต้องมาแก้กฎหมายอะไรให้มันยุ่งยากซับซ้อนเข้าไปอีก
.
#สอง สิ่งที่ขาดหายไปคือ #ความเข้าใจและการอัพเดทข้อมูล ว่าศาสตร์การสอนในโลกปัจจุบันนี้มีการศึกษาวิจัยก้าวหน้าไปถึงจุดไหน เราเจือจางความคุ้นชินกับธรรมเนียมเดิมๆ ของคนไทยที่เชื่อว่าการเลี้ยงดูบุตรต้องมีการสั่งสอนโดยใช้ลงโทษ การตีเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่จะทำให้เด็กออกมาเป็นคนดี ถ้าทางรัฐจะต้องทำอะไร ควรจะเป็นการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองมากกว่าค่ะ ซึ่งในโรงพยาบาลต่างๆ มีนักจิตวิทยาเก่งๆ อยู่มากมาย ในขณะที่ปัจจุบันนี้ เด็กๆ ทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีนขั้นพื้นฐานเพื่อป้องกันเขาจากโรคต่างๆ เขาก็ควรที่จะได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันภัยร้ายทางจิตใจด้วย ซึ่ง #วัคซีนที่ดีคือพ่อแม่ที่มีความรู้ ควรมีหลักสูตรฟรี (และบังคับเรียน) สำหรับพ่อแม่ทุกคน ให้ได้รับการอบรมเป็นระยะๆ เพื่อให้มีความรู้และศาสตร์ของการเป็นพ่อแม่ที่มีคุณภาพไปประกอบการเลี้ยงลูกอย่างมีคุณภาพ โดยเนื้อหาหลักสูตรควรออกแบบให้เหมาะสมแบ่งเป็นตามช่วงวัยของเด็กค่ะ
.
#สาม เราต้องทำให้ #คนทำผิดโดนกฏหมายลงโทษ เราคงไม่สามารถพูดได้ว่าการลงโทษหรือการตีเด็กทุกกรณีนั้นเกิดจากความรักที่พ่อแม่มีให้เด็ก สำหรับคนที่มีจิตใจโหดร้ายทำทารุณกรรมต่อเด็ก ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่เป็นการกระทำโดยไม่ได้มีเป้าหมายที่จะหล่อหลอมให้เด็กออกมาเป็นคนดีนั้น แม้ว่ากฎหมายของประเทศไทยตอนนี้ครอบคลุมแล้ว แต่คำถามคือกระบวนการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษผู้กระทำผิดเข้มแข็งเพียงพอหรือยัง ทางรัฐควรเพิ่มบทบาทและอำนาจให้กับผุ้นำระดับท้องถิ่น ระดับชุมชน มีบทบาทมากขึ้น จะได้ช่วยดูแลสอดส่องความปลอดภัยให้กับเยาวชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง
.
ขอบคุณอีกครั้งที่ทำให้ประเด็นนี้มาเป็นความสนใจในสังคม แต่ขอชวนให้แก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธีกันดีกว่านะคะ
.
---------------------------
.
#ข้อมูลวิจัยที่น่าสนใจ -- บี.เอฟ.สกินเนอร์ (B.F. Skinner ชื่อเต็ม Burrhus Frederic Skinner) นักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยม ชาวอเมริกันที่โด่งดังจากเป็นผู้คิดค้นทฤษฎีการวางเงื่อนไขด้วยการกระทำ (Operant Conditioning Theory) ที่เป็นข้อสรุปมาจาการทดลองที่มีชื่อเสียงของ Skinner ชื่อ Skinner's Box ซึ่งคือกล่องจะเป็นรูปทรงสีเหลี่ยม มีคันโยก และหลอดไฟอยู่เหนือคันโยก โดยมีหนูขาวตัวเล็กๆ อยู่ในนั้น เมื่อหนูขาวหิว เขาจะวิ่งวนไปวนมา เขี่ยสิ่งต่าง ๆ ภายในกล่องเพื่อหาทางออกไป ซึ่งหากเขาเอามือไปแตะกับคันโยกในขณะหลอดไฟสีฟ้าสว่าง อาหารจะตกลงมาจากท่อจ่าย เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ เจ้าหนูขาวเรียนรู้ว่าการแตะที่คันโยกนี้อาหารจะตกลงมา เขาก็ใช้เวลาวิ่งวนอย่างไร้เป้าหมายน้อยลงเรื่อย ๆ สิ่งนี้เรียกว่าการเสริมแรง (Reinforcement) ค่ะ
.
กับมนุษย์ก็เป็นเช่นนั้น การเสริมแรงเชิงบวก (Positive Reinforcement) เช่น การชื่นชม การให้กำลังใจ การให้รางวัล ได้พิสูจน์ให้เห็นหลายต่อหลายครั้งว่ามีประสิทธิภาพกว่า การเสริมแรงเชิงลบ (Negative Reinforcement) เช่น การตี การตำหนิ การหักคะแนน ค่ะ ในศาสตร์การสอนนั้น เมื่อนักศึกษาได้รับคำชม หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทุกคนชื่นชมกัน (Antecedent) ย่อมทำให้เขาตั้งใจเรียน (Behavior) และเมื่อนักศึกษาได้ผลจากการกระทำ(Consequences) คือเกรด A นั้น หากอาจารย์อยากทำให้นักศึกษาอยากได้ A อย่างต่อเนื่อง อาจารย์สามารถชมเชยให้นักศึกษาตั้งใจเรียนอย่างต่อเนื่อง จนพฤติกรรมตั้งใจเรียนกลายเป็นนิสัยของนักเรียนค่ะ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือน ระวังข่าวเท็จ! โปรโมชั่น ครบรอบ 45 ปี เติมน้ำมันฟรี 245 บาท ปตท.

'รัดเกล้า' เตือน ระวังข่าวเท็จ ! โปรโมชั่น ครบรอบ 45 ปี เติมน้ำมัน 245 ฟรี 245 บาท ปตท. เป็นเฟกนิวส์ ขอให้ตรวจสอบแหล่งที่มาให้แน่ชัด ก่อนเชื่อหรือส่งต่อ

'แกนนำพรรคส้ม' ให้รอลุ้นเปิดตัวพรรคใหม่ ยัน 143 ส.ส. ไปพร้อมกัน​ ไม่แตกแถว​

นายณัฐวุฒิ​ บัวประทุม​ สส.​บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคก้าวไกล​ เปิดเผยก่อนเข้าประชุมร่วมกับ​ สส.​ ภายหลังพรรคก้าวไกลถูกยุบ ว่า​ ในช่วงเช้าวันนี้ ที่ประชุมจะเป็นผู้พิจารณารายชื่อตำแหน่งหัวหน้า และกรรมการบริหารพรรค

'ไทย-ออสเตรเลีย' ทำเอ็มโอยูร่วมมือ 8 สาขา

'รัดเกล้า' เผย ไทยและออสเตรเลียร่วมกันจัดทำ 8 รายละเอียดสาขาความร่วมมือ และวาระการดําเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ออสเตรเลีย (เซก้า)

พม.ปลุกสังคมดูแลเด็กและเยาวชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์

​พม.เชิญชวนประชาชนและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในสังคม ร่วมกันรณรงค์การปกป้องดูแลเด็กและเยาวชน อันเป็นอนาคตในการพัฒนาประเทศ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์

'ดีป้า' เดินหน้า โครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย

'รัดเกล้า'เผย ดีป้า ดศ. ขับเคลื่อนโมเดลพัฒนากำลังคนดิจิทัลของประเทศ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างยั่งยืนผ่าน 'โครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย'