90 ปี สถาปนาธรรมศาสตร์ ก้าวสู่ 'มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำเพื่อสังคมแห่งอนาคต'

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบปีที่ 90 พร้อมมอบรางวัลเข็มเกียรติยศ ให้แก่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” อดีต รมว.คลัง และ อดีต รมว.คมนาคม ในฐานะผู้ประกอบคุณงามความดีต่อสังคมและประเทศชาติ ขณะที่รักษาการอธิการบดี ‘ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์’ ประกาศขับเคลื่อนไปสู่ “มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำเพื่อสังคมแห่งอนาคต” พร้อมหลอมรวมองค์ความรู้และทรัพยากรที่เรามีเข้ากับประเด็นทางสังคม เพื่อให้บริการและเป็นที่พึ่งของประชาชน

27 มิ.ย.2567 - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบปีที่ 90 ขึ้น ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2567 อันเป็นวาระแห่งการเฉลิมฉลองและเชิดชูเกียรติบุคคลที่ทำคุณงามความดีต่อสังคมและประเทศชาติ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์และจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ที่อยู่ร่วมกับความเปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้า และการช่วยเหลือสังคมมาโดยตลอด โดยในปีนี้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีนักศึกษา คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ศิษย์เก่า ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานภาคีองค์กรเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในปีที่ 90 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยนั้น หากพิจารณาแล้วจะพบว่าเรายังมีความท้าทายอีกอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ การ Disruption ของระบบการศึกษา การ Disruption ของรูปแบบการเรียนรู้ และความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางประชากรทั้งในประเทศและโลก ซึ่งถือเป็นโจทย์และเป็นสิ่งที่ประชาคมธรรมศาสตร์ต้องช่วยกันออกแบบและทำงานอย่างจริงจัง เพื่อขับเคลื่อนปีที่ 90 ของธรรมศาสตร์ไปสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำเพื่อสังคมแห่งอนาคต” หรือ “Leading Comprehensive University for Future Societies” ให้เกิดขึ้นจริง ภายใน 3 ปี นับจากนี้

“แม้ว่าพื้นฐานของธรรมศาสตร์จะเป็นมหาวิทยาลัยสายสังคม ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ตั้งแต่สถาปนาเมื่อปี 2477 ที่ต้องการเป็นแหล่งศึกษาให้กับประชาชนในรูปแบบของตลาดวิชา แต่ทว่าในวันนี้เรามีความพร้อมในทุกสาขาวิชา เราเป็นหนึ่งในไม่กี่มหาวิทยาลัยในประเทศที่มีคณะแพทย์ถึง 2 คณะ ทั้งไทยและนานาชาติ มีคณะวิศวะฯ ถึง 2 คณะ ทั้งไทยและนานาชาติ นั่นแปลว่าในวันนี้ ธรรมศาสตร์ไม่ใช่เพียงแค่มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์ แต่เราคือ Comprehensive University หรือมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ ที่เป็นเลิศทุกสาขาวิชา ซึ่งก้าวต่อไปในปีที่ 90 นี้ คือเราจะทำอย่างไรให้เป็น Leading Comprehensive University หรือ มหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบชั้นนำ โดยไม่ทิ้งจุดกำเนิดของเราคือการทำเพื่อประชาชน เราต้องหลอมรวมองค์ความรู้และทรัพยากรที่เรามีเข้ากับประเด็นทางสังคม เพื่อให้บริการและเป็นที่พึ่งของประชาชน” ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าว

นายภูมิบดี ฮุ่นตระกูล รักษาการประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้เวลาล่วงเลยมาถึง 90 ปี และชื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะไม่มีคำว่าการเมืองต่อท้ายแล้ว แต่ความเป็นศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวทางการเมือง ความเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงไม่เคยจางหายไป ซึ่งเมื่อ 90 ปีที่แล้ว อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้สร้างมหาวิทยาลัยแห่งนี้เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่สำหรับไทยที่มีประชาธิปไตยเป็นศูนย์กลาง ปัจจุบันถึงเวลาที่เราต้องย้อนมองว่าธรรมศาสตร์ยังคงไว้ซึ่งจิตวิญญาณนี้หรือไม่

“ผมอยากใช้เวทีนี้เรียกร้องให้ธรรมศาสตร์เป็นกำลังสำคัญในการนำพาหลักนิติรัฐและนิติธรรมกลับคืนมา ขอให้เราทุกคนไม่เพิกเฉยดูดาย และรวมกันนำพาความยุติธรรมมาให้กับชาวธรรมศาสตร์และประชาชนผู้เผชิญกับความอยุติธรรม ให้ธรรมศาสตร์มั่นคงในภารกิจที่มุ่งหมายนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้า ดังคำกล่าวที่ว่าฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชนอย่างแท้จริง” นายภูมิบดี กล่าว

นายธีรดนย์ พงษ์ดนตรี นายกองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัย จึงขอเชิญชวนทุกท่านที่ไม่ว่าจะนิยามหรือมีความเห็นอย่างไรกับธรรมศาสตร์ในวันนี้ มาร่วมกันสร้างและขับเคลื่อนที่นี่ในแบบที่ทุกท่านอยากเห็นกัน เพราะธรรมศาสตร์ดำรงอยู่ได้จนถึงวันนี้ได้ไม่ใช่เพราะใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือผู้คนมากมายที่ร่วมเดินทางกันมาเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ศตวรรษ ทั้งผู้บริหาร คณาอาจารย์ นักศึกษา เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย ลุงยาม ป้าแม่บ้าน และประชาชนอีกมากมาย

“คงไม่มีประโยชน์อะไรเลยหากวันสถาปนามหาวิทยาลัยเราหลงลืมผู้คนที่ร่วมสร้างที่นี่กันมา เพราะเรามีทุกวันนี้ได้ไม่ใช่เพราะตึกโดม ranking หรือเงินทอง แต่ธรรมศาสตร์อยู่ได้เพราะประชาชน หากธรรมศาสตร์รักประชาชนเหตุนั้นประชาชนจึงไม่ทิ้งธรรมศาสตร์ สุดท้ายผมขอเชิญชวนทุกท่านเหลียวหลังแลอดีตเพื่อทบทวนว่าเราเป็นใคร เพื่อก้าวเดินต่อไปในอนาคตข้างหน้าอย่างมั่นคง” นายธีรดนย์ กล่าว

สำหรับบรรยากาศงาน เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้า เวลา 07.00 น. มีการจัดพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 91 รูป โดยมี ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธาน ก่อนจะเข้าสู่กิจกรรมในงานพิธี พระสงฆ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์ ถวายเครื่องไทยธรรมและภัตตาหาร ถัดจากนั้นเวลา 09.30 น. มีการจัดพิธีมอบ “เข็มเกียรติยศ” รางวัลอันทรงคุณค่าสูงสุด ที่จะมอบให้แก่ผู้ที่ประกอบคุณงามความดีต่อสังคมและประเทศชาติ โดยผู้ที่ได้รับรางวัล ได้แก่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กรรมการกฤษฎีกา อดีต รมว.คลัง และ อดีต รมว.คมนาคม

พร้อมกันนี้ มธ. ยังได้มอบรางวัลอันทรงเกียรติในด้านต่างๆ แก่บุคลากรซึ่งได้สร้างสรรค์ผลงานและคุณงามความดี ควรค่าแก่การยกย่อง ประกอบด้วย รางวัลกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2566 ในสาขาสังคมศาสตร์ ได้แก่ ศ.ดร.ศากุน บุญอิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ขณะที่สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ Professor.Dr.Sandhya Babel สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT)

รางวัลครูดีเด่น ประจำปี 2566 มอบให้ผู้ที่มีความเสียสละ อุทิศตนให้แก่การสอน มีจริยธรรมและเมตตาธรรม เป็นแบบอย่างความเป็นครูที่ดี จำนวน 4 ท่าน 4 สาขา ได้แก่ รศ.ดร.ลัดดาวัลย์ แก้วกิติพงษ์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ครูดีเด่นสาขาสังคมศาสตร์ รศ.ดร.ดำรงค์ อดุลยฤทธิกุล คณะศิลปศาสตร์ ครูดีเด่นสาขามนุษยศาสตร์ ผศ.ดร.จรีภรณ์ เอกวัฒน์ชัย คณะสหเวชศาสตร์ ครูดีเด่นสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และ รศ.ดร.วรางคณา สมพงษ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครูดีเด่นสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

รางวัลบุคลากรดีเด่น ประจำปี 2566 จำนวน 4 ท่าน ได้แก่ น.ส.พรพรรณ จันทร์แพทย์รักษ์ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา น.ส.ขวัญจิตร์ ปุ่นโพธิ์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ นางวันเพ็ญ บำรุงสิน คณะเศรษฐศาสตร์ และนายวิทยา มาชมสมบูรณ์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

ในโอกาสนี้ ยังมีพิธีมอบรางวัล โล่เกียรติยศ ให้แก่ศิษย์เก่าดีเด่นและผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัย จำนวน 53 ท่าน

สำหรับศิษย์เก่าดีเด่น ได้แก่ 1. นายกรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ 2. ดร.กฤชชลัช ฐิติกมล 3. น.ส.กฤติญา เรืองเวช 4. นางกาญจนา กาญจนมยูร 5. นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ 6. นายเกรียงไกร เธียรนุกุล 7. นางเฉิดโฉม จันทราทิพย์ 8. นายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ 9. นพ.ชาญชัย บุญอยู่ 10. นายโชคทวี พรหมรัตน์ 11. นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร 12. น.ส.ตวงรัตน์ โล่สุนทร 13. ดร.ทิศพล นครศรี 14. นายธนพล กองบุญมา 15. นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส 16. นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์

17. นายประพัฒน์ ตันสุวรรณนนท์18. นายปัณฑพล ประสารราชกิจ 19. น.ส.ปานบัว บุนปาน 20. นายพรชัย ฐีระเวช 21. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 22. นางเมทินี สิหนาทกถากุล 23. นายวรญาณ บุญณราช 24. นายวินท์ ภักดีจิตต์ 25. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วีระ สมบูรณ์ 26. นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ 27. น.ส.สนธยา บุณยภูษิต 28. นางสุนันทา วรรณสินธ์ เบล 29. รศ.ดร.สุมาลี ชิโนกุล 30. นายอนันต์ นาคนิยม 31. นายอลงกต วรกี 32. น.ส.อุไรรัตน์ วัฒนาสงวนศักดิ์

ในส่วน ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัย ได้แก่ 1. ดร.กล้า มณีโชติ 2. นายเจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ 3. นพ.ชัยฤกษ์ ลิมปวัฒนศิริ 4. นพ.ชิตพงษ์ สัจจพงษ์ 5. น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย 6. พล.อ.นพ.ถนอม สุภาพร 7. นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ 8. นายทักขศิษฏ์ จิตติวาณิชย์ 9. นายธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค 10. ดร.พัทธนนท์ เปรมสมิทธ์ 11. รศ.เยาวมาลย์ เมธาภิรักษ์

12. นายรุจน์ทัย รักราชการ 13. นายวิน พรหมแพทย์ 14. รศ.ศรีเพ็ญ ทรัพย์มนชัย 15. นางสายฝน อินทร์แก้ว 16. นายสุชาติ ฐิติรัตนาภินันท์ 17. พล.อ.อ.อำพล อินทรไทยวงศ์ 18. บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด 19. สมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สคฝท.) 20. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) 21. บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (โครงการ Education Institute Support Activity (eisa))

อนึ่ง ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง 2 ปี ซึ่งเป็นยุคที่ประชาชนกระหายใคร่รู้และตื่นตัวกับประชาธิปไตย ได้มีการสถาปนา “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง” (มธก.) ขึ้น เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 โดยมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้ประศาสน์การ อันมุ่งหมายสร้างสถาบันการศึกษา ให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องประชาธิปไตย นั่นทำให้ทุกวันที่ 27 มิถุนายนของทุกปีถือเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ระบุ สว. ชุดใหม่ คือผู้กำหนดภูมิทัศน์การเมืองไทยไปอีก 5 ปี

อาจารรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ระบุ สว. ชุดใหม่ ยังมีอำนาจมากเกินไป และจะเป็นผู้กำหนดภูมิทัศน์การเมืองประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า

'การีนา อคาเดมี่' ห้องเรียนอีสปอร์ต 2024 ผนึกโรงเรียน-มหาวิทยาลัย

การีนา (ประเทศไทย) ผู้พัฒนาและให้บริการเกมออนไลน์ชั้นนำ ต่อยอด Garena Academy สู่โครงการ “ห้องเรียน อีสปอร์ต 2024” โดยมุ่งใช้เกมและอีสปอร์ตเป็นตัวกลาง ในการเปิดมุมมองให้คนรุ่นใหม่เห็นโอกาสทางอาชีพที่กว้างขึ้นและพัฒนาทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนต่อและทำงานในยุคดิจิทัล โดยในปีนี้ โครงการ “ห้องเรียนอีสปอร์ต 2024” มุ่งเข้าถึงนักเรียนและคุณครูในกทม. และภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ กว่า 400 คน รวมถึงจับมือกับมหาวิทยาลัยเพื่อให้ทุนแก่นักเรียนในโครงการฯ และต่อยอดหลักสูตรห้องเรียนอีสปอร์ตสู่การเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัย

มธ. จัดเสวนารุมสับระบบเลือก สว.ชุดใหม่ เป็นปัญหามากที่สุด ซับซ้อน ทำให้งงอย่างจงใจ

ศูนย์นิติศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ “การเลือก สว. และประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กับอนาคตประชาธิปไตยไทย” เนื่องในงานรำลึก 32 ปี พฤษภาประชาธรรม 2535

'ธรรมศาสตร์' เตือน! อย่าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แจ้งเตือนบุคลากร นักศึกษา ศิษย์เก่า ประชาคมธรรมศาสตร์ และประชาชน ระวังตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ขณะนี้พบพฤติกรรมของมิจฉาชีพแอบอ้างว่าเป็น “เจ้าหน้าที่กอง

สำรวจบาดแผล 'เด็ก' ในยุคที่กลายมาเป็น 'คอนเทนต์' ของผู้ใหญ่

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชวนสำรวจบาดแผล ‘เด็ก’ ในยุคที่ต้องกลายมาเป็น ‘คอนเทนต์’ เพราะความเปราะบางของเนื้อหาจะทิ้งร่องรอยความบอบช้ำไว้เสมอ

ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ ผงาดนั่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 4/2567 ซึ่งเริ่มการประชุมตั้งแต่ในเวลา 09.00 น. ของวันนี้ ได้มีวาระการประชุมเพื่อเลือกอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนใหม่เป็นรอบสุดท้าย