อาจารย์ มธ. ชี้ 'หมูแพง' สะท้อนประสิทธิภาพ 'กรมปศุสัตว์'

นักเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ เสนอรัฐอุดหนุนราคาเนื้อหมู จี้ “กรมปศุสัตว์” รับผิดชอบ-วางมาตรการรับมือโรคระบาดในอนาคต พร้อมตั้งคำถามมีการ “ปิดข่าว” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้อุตสาหกรรมส่งออกอาหารหรือไม่

9 ม.ค.2565 – อาจารย์วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงปรากฏการณ์ราคาเนื้อหมูแพงในขณะนี้ว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาเนื้อหมูแพงขึ้นเป็นเพราะเกิดโรคระบาดในหมูจนทำให้หมูล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจเทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา นั่นคือโรคระบาดที่เกิดขึ้นในวัว ที่ชื่อว่า “โรคลัมปี สกิน” หรือ LSD ซึ่งโรคดังกล่าวไม่ใช่โรคประจำถิ่น ประเทศไทยจึงไม่มียารักษาในขณะนั้น

“ในขณะนั้นมีความพยายามที่จะนำยาเข้ามา แต่ก็ถูกรัฐปรามว่ายาดังกล่าวต้องผ่านการรับรอง ซึ่งรัฐจะเป็นผู้จัดหาให้ สุดท้ายก็ทอดเวลายาวนานออกไปจนกระทั่งบริษัทยาเอกชนได้รับการอนุมัติให้นำยาเข้ามาขาย โรค LSD จึงสิ้นสุด ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์ในหมูก็คล้ายคลึงกัน” อาจารย์วีระวัฒน์ กล่าว

อาจารย์วีระวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า การเกิดโรคระบาดในหมูจึงสะท้อนถึงประสิทธิภาพและการวางมาตรการรองรับที่อาจไม่ดีพอของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักในการควบคุมดูแลในเรื่องนี้ ฉะนั้นความตระหนักถึงปัญหาและการเตรียมความพร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญ

 “เราคงไม่ทราบว่าเหตุการณ์นี้มีเบื้องลึกเบื้องหลังหรือมีอะไรที่ซ่อนเร้นอยู่หรือไม่ เราคงไม่สามารถไปกล่าวโทษใครได้ แต่สิ่งที่สะท้อนคือประสิทธิภาพในการป้องกันและการมีมาตรการรองรับเมื่อเกิดเหตุ ที่ต้องมีมากกว่านี้” อาจารย์วีระวัฒน์ กล่า

อาจารย์วีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า เราทราบข่าวเรื่องโรคระบาดภายหลังที่ผลกระทบเกิดขึ้นเป็นห่วงโซ่ไปแล้ว เราพบว่ามีผู้เลี้ยงสุกรจำนวนหนึ่งที่หยุดประกอบการไปแล้ว เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นจนแบกรับไม่ไหวทั้งจากอาหารสัตว์ที่ราคาแพงและการเกิดโรคระบาด ขณะที่ผู้บริโภคปลายทางก็เผชิญกับราคาเนื้อหมูที่แพงขึ้นแล้ว

อาจารย์วีระวัฒน์ ระบุด้วยว่า ฉะนั้นมาตรการของรัฐบาล อาทิ สั่งห้ามส่งออกเนื้อหมู หรือการตั้งจุดจำหน่ายเนื้อหมูราคาถูก  อาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในขณะนี้ แต่หากต้องการทำให้ดีกว่า รัฐจำเป็นต้องอุดหนุนราคาด้วย ซึ่งก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าจะอุดหนุนไปที่ไหน ระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู พ่อค้าคนกลาง เขียงหมู หรือทั้งหมด

อาจารย์วีระวัฒน์ กล่าวว่า ณ จุดนี้ คงเป็นเรื่องยากที่จะกลับไปแก้ที่โครงสร้างหรือกลับไปที่การป้องกันตั้งแต่แรก ที่สำคัญคือเราไม่สามารถไปกล่าวหาใครได้ว่าเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากมาตรการห้ามส่งออก หรือการปล่อยให้เกิดโรคระบาดในหมูหรือไม่ อย่างไรก็ตามหมูเป็นสัตว์ที่ใช้เวลาเลี้ยงไม่นานก็สามารถจำหน่ายได้ คาดการณ์กันว่าประมาณ 6 เดือน สถานการณ์จะคลี่คลายลง ฉะนั้นประเด็นจึงอยู่ที่ว่า หลังจากนี้กรมปศุสัตว์จะเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตอย่างไร เพราะเป็นหน้าที่โดยตรงของกรมปศุสัตว์ที่จะทำงานเชิงรุกเพื่อติดตามสถานการณ์ คาดการณ์ และเฝ้าระวังเหตุการณ์อย่างสม่ำเสมอ

“เมื่อปีที่ผ่านมาผู้บริหารของกรมปศุสัตว์ได้ให้สัมภาษณ์ว่าประเทศไทยไม่มีโรคอหิวาต์ในหมูอย่างแน่นอน แต่ผลการตรวจสอบของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กลับพบโรคระบาดในปี 2564 ซึ่งก็คือปีที่แล้ว คำถามคือมีการปิดข่าวหรือไม่ เนื่องจากการส่งออกเนื้อสัตว์หรือการส่งออกอาหาร เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่มีความสำคัญของประเทศ หากเกิดโรคระบาดในประเทศย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค”อาจารย์วีระวัฒน์ กล่าว

อาจารย์วีระวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ในฐานะผู้บริโภคที่เป็นประชาชนทั่วไป ควรได้รับคำอธิบายถึงสาเหตุที่ราคาเนื้อหมูแพงขึ้นอย่างทันทีทันใด และที่สำคัญคือหากสาเหตุเกิดจากโรคระบาดตามที่สื่อมวลชนรายงาน ความรับผิดชอบโดยตรงก็จะต้องตกอยู่ที่กรมปศุสัตว์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บ้านแสนอยู่ดี' ที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตร นวัตกรรมธรรมศาสตร์เพื่อคนทั้งมวล

แม้ว่าที่อยู่อาศัยจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ หากแต่มีที่อยู่อาศัยจำนวนไม่น้อยที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 'ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์' ดำรงตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ต้องไม่ยอมมัน! อดีตรองอธิการบดี มธ. ปลุกขวางแก้ รธน. ทำลายความถูกต้อง-เป็นธรรม

ความพยายามในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราครั้งนี้ หากทำได้สำเร็จ จะเป็นลดความสำคัญของความซื่อสัตย์สุจริต และมาตรฐานทางจริยธรรม

'ธรรมนัส' ของขึ้นฟาดเดือด 'หมอวรงค์' หาแทรกแซงขรก. ลั่นพร้อมรบ-ดุกว่าเดิม!

กรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.จังหวัด พะเยา พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กระทำผิดรัฐธรรมนูญข้อที่ห้าม สส.แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ

'ธรรมศาสตร์' จัดงานครบรอบ 79 ปี วันสันติภาพไทย

“ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์” นำอ่านประกาศสันติภาพ 16 สิงหาคม 2488 ในงาน “ครบรอบ 79 ปี วันสันติภาพไทย” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดรำลึกปฏิบัติการกอบกู้ชาติของ “ขบวนการเสรีไทย” จน