21 มิ.ย.2567 - น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่ากสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายอันเข้าข่ายการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ระบุว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี (ผู้ถูกร้อง) หลายนาย เข้าตรวจค้นและจับกุมผู้เสียหาย 2 ราย ในข้อหาครอบครองยาเสพติดให้โทษ หน้าร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านคลอง 5 จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวผู้เสียหายไปกดเงินจากตู้เอทีเอ็มประมาณ 300,000 บาท เพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี นอกจากนี้ยังข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่เป็นผู้หญิงอีกด้วย จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 28 ได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคล โดยเน้นย้ำว่าการทรมาน ทารุณกรรม หรือลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้ และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 5 บัญญัติว่า หากเจ้าหน้าที่รัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจเพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพจากผู้ถูกกระทำย่อมมีความผิดฐานกระทำทรมานซึ่งสอดคล้องตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี
กสม. เห็นว่า พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนประจำกองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานีและสายลับในการเข้าควบคุมตัวผู้เสียหายทั้งสองโดยนำตัวไปขึ้นรถแยกกันคนละคัน พาวนไปตามจุดต่าง ๆ สลับกับไปจอดในที่มืดและมีการต่อรองให้ช่วยขยายผล ก่อนจะนำตัวไปที่ที่ทำการของกองกำกับการสืบสวน เป็นการกระทำอันมีลักษณะเป็นขบวนการ สมรู้ร่วมคิด แบ่งหน้าที่กันทำ ถือว่าเป็นการทำให้บุคคลทั้งสองสูญหายไปโดยไม่ทราบชะตากรรมชั่วขณะหนึ่ง และการที่ผู้ถูกร้องมีส่วนยินยอมให้บุคคลซึ่งเป็นสายลับนำตัวผู้เสียหายหญิงออกไปจากการควบคุมของเจ้าพนักงานโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายให้กระทำได้ นอกจากจะเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้เสียหายจนเกินสมควรแก่กรณีแล้ว ยังเป็นการกระทำที่เข้าข่ายทำให้บุคคลสูญหาย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ประเด็นต่อมา การที่บุคคลซึ่งเป็นสายลับของผู้ถูกร้องนำตัวผู้เสียหายไปข่มขืนกระทำชำเราและถอนเงินออกจากบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ถูกร้อง ต้องรู้เห็นการกระทำดังกล่าวด้วย อันเป็นการกระทำที่ละเมิดอย่างร้ายแรงต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้เสียหาย และเป็นการกระทำที่เป็นความผิดเกี่ยวกับเพศและความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งพนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องบุคคลซึ่งเป็นสายลับรายนี้ตามข้อหานี้ด้วยแล้ว อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ถูกร้องย่อมต้องมีความผิดฐานกระทำทรมานต่อผู้เสียหายหญิง และในฐานะเป็นเจ้าพนักงานกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จากการปล่อยหรือยินยอมให้สายลับรายดังกล่าวกระทำการเช่นนี้ด้วย
นอกจากนี้ การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ถูกร้อง ที่ไม่ได้แจ้งการควบคุมตัวต่อพนักงานอัยการและฝ่ายปกครองทันที รวมทั้งไม่ได้บันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับกุมและควบคุมตัวผู้เสียหายจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป และไม่บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว ยังไม่เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 กำหนดไว้ว่าให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัว ประเด็นนี้ จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้เสียหายทั้งสองเช่นกัน
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสืบเนื่องจากคำร้องนี้ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดยให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดดังกล่าวที่กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายตามความเหมาะสมทั้งในรูปแบบทรัพย์สิน การฟื้นฟูสภาพจิตใจ และการเข้าถึงความยุติธรรม และให้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 22 และมาตรา 23 ในเรื่องการควบคุมตัว อย่างเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการกระทำทรมานโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ และส่งเรื่องไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ด้วย
ทั้งนี้ ให้ส่งรายงานตามคำร้องนี้ไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาดำเนินการจากการกระทำที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ถูกร้อง มีส่วนรู้เห็นต่อการบังคับต่อรองเอาเงินจากผู้เสียหาย ซึ่งเข้าข่ายความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สนธิญา' ยื่น 'กสม.' สอบ 'ทักษิณ' ละเมิดสิทธิ์ หานักร้องเป็นหมา
ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายสนธิญา สวัสดี เดินทางยื่นหนังสือ พร้อมหลักฐานภาพข่าวการหาเสียงนายก องค์การ
'จตุพร' หวด ป.ป.ช.-แพทยสภา เร่งสอบชั้น 14 ข้องใจลากเวลาให้ประเทศย่อยยับจึงตื่นตัว?
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่รายงานฉบับเต็
เปิดฉบับเต็ม! รายงานกสม. มัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพ-รพ.ตำรวจ เลือกปฏิบัติช่วยทักษิณ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่อง "การเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น" กรณีผู้ร้อง(ปกปิดชื่อ) ผู้ถูกร้อง เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่ 1โรงพยาบาลตำรวจที่ 2
กสม.แถลงค้าน ปิดศูนย์เรียนรู้เด็กข้ามชาติ ชี้สถานศึกษาในพื้นที่ ยังไม่มีความพร้อม
ตามที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีประกาศปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
'ทวี' ขึงขัง! สั่ง 'กรมคุก' ตามดู 'นช.ทักษิณ' รักษาตัวชั้น 14 ละเมิดสิทธิผู้ต้องขังภาพรวมหรือไม่
ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ส่งเรื่องให้
เอาแล้ว! ป.ป.ช.รับข้อมูล กสม. พิจารณา ปมเอื้อ ‘ทักษิณ’ รักษาตัวชั้น 14
เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงรวบรวมพยานหลักฐานของคณะทำงานไต่สวนที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและทบทวนพยานหลักฐาน ซึ่งสุดตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ส่งรายงานการพิจารณาของกสม.มาให้ป.ป.ช.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา