“แอนนา ฮัมมาร์เกรน”

บทความพิเศษ จาก “แอนนา ฮัมมาร์เกรน” เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย

“วันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของมิตรภาพที่ยั่งยืนระหว่างสวีเดนกับไทย โดยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2411 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามได้ลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพ การพาณิชย์ และการเดินเรือกับสวีเดน ซึ่งเป็นการวางรากฐานความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างประเทศของเราทั้งสอง ตลอดระยะเวลา 156 ปีที่ผ่านมา ไทยกับสวีเดนได้บ่มเพาะความสัมพันธ์อันหลากหลายที่แนบแน่นในทุกระดับ เริ่มตั้งแต่ความสัมพันธ์ในระดับพระราชวงศ์ การเสด็จประพาสสวีเดนครั้งประวัติศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี 2440 ได้วางรากฐานสำหรับมิตรภาพที่ยั่งยืนระหว่างราชอาณาจักรทั้งสอง”

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สมเด็จพระราชินีไทยและสวีเดนเสด็จพระราชดำเนินเข้าร่วมการประชุม Child Protection Summit ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการปกป้องสวัสดิภาพเด็กทั่วโลก ความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองประเทศครอบคลุมการหารือด้านการเมือง ความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ และเศรษฐกิจ อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมด้วยการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของภาคธุรกิจสวีเดน อาทิ บริษัทอีริคสันผู้บุกเบิกด้านโทรคมนาคมได้จัดส่งระบบชุมสายโทรศัพท์กึ่งอัตโนมัติที่บางกอก ในปี 2451 ด้วยจำนวนผู้เช่าสาย 2,400 ราย ในปัจจุบันอีริคสันยังอยู่เคียงข้างคนไทยด้วยการร่วมมือกับบริษัทไทยหลายแห่งในการนำเสนอโซลูชัน 5G และขับเคลื่อนไทยสู่ยุคดิจิทัล ในทำนองเดียวกัน กว่าหนึ่งศตวรรษที่แล้ว บริษัทสแกนเนียได้จัดส่งรถพยาบาลคันแรกแก่สยาม จนถึงปัจจุบัน รถบรรทุกสแกนเนียก็ยังมีให้เห็นบนท้องถนนในประเทศไทย โดยมีบทบาทสำคัญในเครือข่ายโลจิสติกส์และการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศไม่เพียงแต่หยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่พัฒนาเรื่อยมาจนปัจจุบัน เมื่อปีที่แล้ว การค้าทวิภาคีมีมูลค่ากว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ มีบริษัทสวีเดนมากกว่าหนึ่งร้อยแห่งที่ดำเนินงานและลงทุนในประเทศไทย ความร่วมมือที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องนี้ได้นำผลประโยชน์ร่วมกันมาสู่ทั้งสองประเทศ บริษัทสวีเดนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยสร้างงานกว่า 100,000 ตำแหน่งในประเทศไทย และอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 170,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ บริษัทสวีเดนยังส่งเสริมนวัตกรรม การแลกเปลี่ยนความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และนำแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศทั้งในด้านความยั่งยืนและสภาพการจ้างงานที่ดีในประเทศไทย สวีเดนมีชื่อเสียงด้านการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนตลอดจนนวัตกรรมและโซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็สร้างคุณประโยชน์แก่เศรษฐกิจและสังคม

การอุทิศตนเพื่อความยั่งยืนนี้สามารถดูได้จากข้อริเริ่มต่าง ๆ ของบริษัทสวีเดนในประเทศไทยความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการส่งเสริมความเท่าเทียมกันเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น เมื่อเดือนที่แล้ว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสภาการค้าและการลงทุนแห่งสวีเดนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานชีวมวลและระบบกักเก็บพลังงานไฮโดรเจน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดและบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมกัน บริษัทสวีเดนอย่างน้อย 12 แห่งในประเทศไทยได้ริเริ่มนโยบายโดยสมัครใจที่อนุญาตให้ลูกจ้างชายลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้อย่างต่ำ 1 เดือนโดยได้รับค่าจ้าง มาตรการเชิงรุกนี้ไม่เพียงแต่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดีของลูกจ้างอีกด้วย ด้วยการสนับสนุนนโยบายที่ก้าวหน้าดังกล่าว บริษัทสวีเดนในประเทศไทยไม่เพียงแต่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกภายในองค์กรของตนเองเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวอย่างให้กับภาคธุรกิจในวงกว้างอีกด้วยเมื่อมองไปข้างหน้า แนวโน้มในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับสวีเดนนั้นค่อนข้างสดใส ผลการสำรวจล่าสุดเผยให้เห็นว่าร้อยละ 40 ของบริษัทสวีเดนในประเทศไทยอยู่ระหว่างวางแผนที่จะขยายจำนวนลูกจ้างในปี 2567 ซึ่งตอกย้ำความเชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย และความมุ่งมั่นต่อการเติบโตและการพัฒนาของไทย สวีเดนอยู่คู่กับไทยมาเป็นเวลายาวนาน และเราจะยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นพันธมิตรที่ยั่งยืนของไทย นอกจากนี้ เรายังไม่หยุดยั้งที่จะสำรวจช่องทางใหม่ ๆ ของความร่วมมือและนวัตกรรมที่จะช่วยผลักดันความเป็นหุ้นส่วนของเราให้แนบแน่นขึ้นไปอีก

อนึ่ง แม้ว่าประเทศของเราทั้งสองจะอยู่ห่างกันกว่า 8,000 กิโลเมตร แต่ความสัมพันธ์ด้านต่าง ๆ ระหว่างสวีเดนกับไทยก็มีความใกล้ชิดกันอย่างยิ่ง ชาวไทยกว่า 70,000 คนเรียกสวีเดนเป็นบ้านหลังที่สอง โดยมีส่วนช่วยในการสร้างสังคมสวีเดนให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ในทำนองเดียวกัน ชาวสวีเดนจำนวนมากเลือกที่จะตั้งถิ่นฐานในทุกภูมิภาคของประเทศไทย สิ่งเหล่านี้ล้วนช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์และความเข้าใจระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ เมื่อปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวชาวสวีเดนกว่า 200,000 คนเยือนไทย ด้วยความชื่นชอบวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา ภูมิอากาศเขตร้อน อาหารรสเลิศ และที่สำคัญที่สุดคือการต้อนรับอย่างอบอุ่นและโอบอ้อมอารีของคนไทย กอปรกับประเพณีวันหยุดฤดูร้อนที่ยาวนานของสวีเดน ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจในทางที่ดี โดยนักท่องเที่ยวชาวสวีเดนใช้จ่ายในประเทศไทยตกประมาณ 26.2 พันล้านบาทต่อปี

เกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์ของเราในอนาคตและการแลกเปลี่ยนความรู้นั้น ความเป็นพันธมิตรระหว่างสถาบันอุดมศึกษากว่า 40 แห่ง ได้ส่งผลให้เกิดความร่วมมือที่ครอบคลุม ตั้งแต่โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา ทุนการศึกษา และการฝึกงาน ไปจนถึงข้อตกลงการแลกเปลี่ยนคณาจารย์และการวิจัยร่วมกัน ความร่วมมือทางวิชาการนี้ได้ส่งผลให้มีศิษย์เก่าชาวไทยที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันในสวีเดนมากกว่า 600 คนอย่าง โดยแต่ละคนได้รับการศึกษาและวิสัยทัศน์ระดับโลก และบุคคลเหล่านี้เองที่จะมีส่วนพัฒนาประเทศไทยในอนาคต อีกทั้งยังวางรากฐานการแบ่งปันความรู้และการเสริมสร้างขีดความสามารถอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เราย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์ที่มีร่วมกัน เราจะร่วมกันมุ่งหน้าต่อไปเพื่อผลักดันความร่วมมือในอนาคต เพื่อความเจริญรุ่งเรืองและความก้าวหน้าร่วมกัน สวีเดนยังคงมั่นคงในบทบาทของเราในฐานะเพื่อนและหุ้นส่วนอยู่เคียงข้างไทย พร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อโอกาสใหม่ ๆ ขณะเดียวกันก็พร้อมจะยืนหยัดต่อสู้กับความท้าทายที่มีร่วมกัน.

Photo credit: Ericsson, Atlas Copco, Scania and Wing 7/Saab

เพิ่มเพื่อน