มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน “วันปรีดี พนมยงค์” ประจำปี 2567 พร้อมวงเสวนาว่าด้วยอำนาจหน้าที่ “วุฒิสภา” วงถกตอกย้ำคำถาม สว. มีไว้ทำไม เผยให้คะแนน “เต็มสิบ” ในแง่ของการพิทักษ์รักษาอำนาจเก่า แต่ให้ “ศูนย์” ในแง่ส่งเสริมประชาธิปไตย-ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล ระบุใช้อำนาจแทรกแซงเลือกนายกฯ-ตั้งองค์กรอิสระ-ยับยั้งการแก้รัฐธรรมนูญ ชี้เป็นเครื่องเตือนใจให้สังคมตั้งคำถามสู่การเดินหน้าเป็นสภาเดี่ยว
12 พ.ค. 2567 – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานวันปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2567 โดยมี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยคณะทายาท ผู้บริหารหน่วยงานราชการ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมวางพานพุ่มที่ประดิษฐ์จากเครื่องเขียน, อุปกรณ์กีฬา, หนังสือ พร้อมกับแขกผู้มีเกียรติภายในงาน ณ บริเวณลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยพานพุ่มทั้งหมดจะนำไปมอบให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนต่อไป
สำหรับวันที่ 11 พฤษภาคม ตรงกับวันคล้ายวันเกิดของ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่ง มธ. ได้มีการจัดงานขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อรำลึกถึงคุณูปการอันทรงคุณค่าและเชิดชูเกียรติของ ‘ปรีดี พนมยงค์’ รัฐบุรุษอาวุโสของประเทศไทยและบุคคลสำคัญของโลก ที่มีผลงานมากมายทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม และการศึกษา รวมทั้งการก่อตั้งและเป็นผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ขึ้นในวันที่ 27 มิ.ย. 2477
รศ.เกศินี กล่าวว่า ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประศาสน์การริเริ่มแนวคิดการเรียนการสอนในรูปแบบ ‘ตลาดวิชา’ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงในด้านการศึกษาให้แก่ราษฎร ดั่งปรัชญาที่ว่า “มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา” เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบสัมมาชีพ รับใช้ประเทศชาติ ทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และอื่นๆ ตามความถนัด
พร้อมกันนี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้ร่วมมอบโล่รางวัล “ปรีดี พนมยงค์” ประจําปี 2567 ให้แก่นักศึกษาดีเด่น รวม 8 ราย รวมถึงภายในงานได้มีการมอบรางวัลทุนการศึกษา “ทุนปาล พนมยงค์” ประจําปี 2567 โดยทายาทของ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ – ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และพิธีมอบทุนรุธิร์ พนมยงค์ เพื่อชุมนุมกีฬา ประจำปี 2567 โดย ศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์
นายคณิต พีชวณิชย์ ประธานฝ่ายพิธีการและสถาบันสัมพันธ์ สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า เมื่อย้อนรำลึกถึงคุณูปการของท่านอาจารย์ปรีดีที่มีต่อประเทศชาติบ้านเมือง จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อมากที่สามัญชนคนหนึ่ง สามารถใช้สติปัญญาความรู้ความสามารถด้วยความซื่อสัตย์สุจริต สร้างผลงานที่สำคัญให้แก่ประเทศชาติได้มากมายนานัปการ และการจัดงาน “วันปรีดี พนมยงค์” ที่มีมาต่อเนื่องยาวนานนี้ ก็เป็นวันสำคัญไม่แต่เฉพาะชาวธรรมศาสตร์ แต่ยังเป็นวันสำคัญของประเทศชาติที่จะรำลึกถึงความคิด ผลงาน และอุดมการณ์ที่ดีงามของท่าน ที่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนเสมอมา
ด้าน นายธีรดนย์ พงษ์ดนตรี นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่เหนือกว่าการจดจำชื่อปรีดี หรือการยกย่องสรรเสริญความดีงามของท่านผ่านสิ่งปลูกสร้างและอนุสาวรีย์ สิ่งเหล่านี้คงไม่มีความหมายอะไรเลย หากธรรมศาสตร์ปราศจากจิตวิญญาณและเจตนารมณ์เพื่อประชาชน ขาดกระดูกสันหลังที่ตั้งตรงเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมในสังคมไทย ฉะนั้นในวาระครบรอบ 124 ปีของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ จึงอยากให้เป็นเครื่องเตือนใจแก่ชาวธรรมศาสตร์ ว่าอย่าหลงลืมอะไรที่สร้างเรามา อย่าหลงลืมว่าพวกเราเป็นใคร และธรรมศาสตร์อย่าทอดทิ้งสังคมไทยและประชาชน
ขณะเดียวกันภายในงาน ยังได้มีการจัดเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “เก่าไปใหม่มา: สว.ชุดใหม่ อนาคตประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทย” โดย ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มธ. กล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบันที่รับเงินเดือนจากราษฎร ทำให้ประชาชนผู้เสียภาษีที่มีฐานะเป็นผู้ว่าจ้างต้องเกิดการตั้งคำถามว่าเราจ้างเขาไปทำไม เมื่อเทียบกับผลงานที่ต้องบอกว่าน้อยเกินไป และที่สำคัญยังมีวีรกรรมที่ไปกีดกั้นไม่ให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเสียงส่วนใหญ่ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่กลับไปเป็นตรายางที่รับรองความชอบธรรมให้กับนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ถึง 2 คน ที่ไม่ได้มาด้วยความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย
“มันทำให้เกิดข้อสงสัยว่า สว. ที่ถูกตั้งขึ้นมาโดยมองว่ามีคุณวุฒิเหนือกว่าคนทั่วไป แต่เขากลับตัดสินใจตรงข้ามกับการเลือกตั้ง ที่เป็นความชอบธรรมอันถูกต้องของระบอบประชาธิปไตย หากจะประเมินก็ต้องจบด้วยการให้คะแนน F” ศ.ดร.ธเนศ ระบุ
รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า หากจะให้คะแนน สว. ชุดปัจจุบัน ต้องบอกว่าให้เต็มสิบในแง่ของการพิทักษ์รักษาระเบียบอำนาจเดิมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งในแง่นี้ สว. ถือเป็นลูกจ้างที่ซื่อสัตย์มากต่อเจ้านายที่แต่งตั้งตนเองเข้ามา และหากมองว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 คือพินัยกรรมของคณะรัฐประหาร คสช. ที่สร้างขึ้นมาเพื่อจำกัดการเปลี่ยนแปลงของสังคมไม่ให้มากไปกว่ากรอบที่วางเอาไว้ แม้ว่าตัวเองจะไม่อยู่แล้ว สว. ก็ได้ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาพินัยกรรมฉบับนี้ไว้ได้อย่างดีมาก
รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า แต่หากมองในแง่ของการส่งเสริมประชาธิปไตย และการทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล ก็จะต้องให้คะแนนเป็นศูนย์ โดยหากพิจารณาจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เราเคยมี สว. แต่งตั้งมาแล้วหลายชุด ต้องถือว่า สว. ชุดนี้ที่แต่งตั้งโดย คสช. มีบทบาทในการขัดขวางและกร่อนเซาะประชาธิปไตยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะ สว. ที่แต่งตั้งจากคณะรัฐประหารในอดีต อาจมีบทบาทเหมือนเพียงอะไหล่เสริม เพราะถึงอย่างไรคณะรัฐประหารก็อยู่ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว เนื่องจากสังคมยังเป็นเผด็จการแบบปิด และความตื่นตัวของประชาชนยังไม่ได้สูงมาก
“พูดง่ายๆ คือ สว. ยุคก่อนไม่ได้มีบทบาทไปเปลี่ยนดุลอำนาจหรือไปขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชนได้ เพราะตอนนั้นพื้นที่ทางการเมืองของประชาชนมันปิดอยู่ หากมองเทียบกันแล้ว สว. ชุดนี้จึงมีบทบาทสำคัญกว่าทุกชุดที่ผ่านมาในอดีต เพราะมีอำนาจในการเลือกนายกฯ มีอำนาจในการรับรองคนที่มาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ แต่ สว. กลับมาทำหน้าที่รับบทบาทการสืบทอดอำนาจให้กับคณะรัฐประหาร ในยุคที่บ้านเมืองพัฒนาไปไกลมากแล้ว และประชาชนก็ตื่นตัวไปไกลมากแล้ว แต่ก็ต้องขอบคุณ สว. ที่ทำให้เราเกิดการถกเถียงกันจริงจังมากขึ้น ว่าทำไมเราต้องมี สว. อีก ถึงเวลาที่จะเปลี่ยนระบบไปเป็นสภาเดี่ยวเลยหรือไม่” รศ.ดร.ประจักษ์ ระบุ
ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากพิจารณาบทบาทของ สว. หน้าที่แรกคือการผ่านกฎหมาย จากสถิติพบว่าจากการพิจารณากฎหมาย 68 ฉบับ สว. ชุดนี้เห็นด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) รวม 37 ฉบับ แต่กฎหมายฉบับสำคัญที่สุดอย่างรัฐธรรมนูญ มีการส่งเข้าสู่กระบวนการพิจารณารวม 26 ฉบับ แต่ สว. มีการให้ผ่านอยู่ฉบับเดียวและที่เหลือถูกปัดตก จะเห็นได้ว่าเป็นการขัดขวางไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหลายฉบับที่พยายามจะแก้ไขเพื่อลดอำนาจ สว. ในการโหวตนายกรัฐมนตรี และทุกฉบับก็ถูกปัดตกหมด หรือกล่าวได้ว่า สว. ปฏิเสธที่จะปิดสวิตช์ตัวเอง
ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวว่า หน้าที่ถัดมาของ สว. อย่างอำนาจในการให้ความเห็นชอบผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ก็ถือเป็นประเด็นสำคัญที่พบว่า สว. มีการใช้อำนาจนี้อย่างน่าสงสัย มีการปฏิเสธที่จะให้การรับรองหลายบุคคล ที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าเป็นการกีดกันผู้ที่มีแนวคิดทิศทางไม่สอดคล้องกับตนเองหรือไม่ รวมถึงหน้าที่สำคัญที่สุดอีกอย่างคือการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งคิดว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้เห็นการปฏิรูปในมิติใดๆ ที่ออกดอกออกผลเลย แต่สิ่งเดียวที่เห็นได้ชัดเจนคือการสืบทอดการปกครองของ คสช.
“อย่างหนึ่งถ้าจะบอก คืออยากขอบคุณ สว. ชุดนี้ ที่เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าการรัฐประหารและการออกแบบ สว. โดยคณะรัฐประหารมันล้มเหลวอย่างไร และทำให้สังคมให้ความสำคัญกับการมีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง และที่สำคัญที่สุดคือเราควรมีฉันทามติกันแล้วว่ารัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาให้ สว. มีที่มาเช่นนี้ควรจะต้องถูกแก้ไขอย่างรวดเร็ว” ศ.ดร.สิริพรรณ ระบุ
ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้โดยรวมระบบปัจจุบันจะให้อำนาจ สว. มากกว่าที่เคยมีมาในอดีต แต่ก็ไม่เท่ากับช่วงเวลาก่อนหน้านี้ที่เราอยู่กันมา 5 ปี ในช่วง 2557-2562 ซึ่งเป็นระบบเลวร้ายที่สุดเท่าที่ประเทศไหนจะมีได้ คือให้ผู้ยึดอำนาจ เข้ามามีอำนาจเหนืออธิปไตยทั้ง 3 โดย คสช. สามารถมีอำนาจที่จะทำอะไรได้ทั้งหมด และหลังจากนั้นเราก็เข้ามาอยู่ภายใต้ระบบที่ สว. มีอำนาจมากมายมหาศาล ที่ก็มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร
“สว. ชุดปัจจุบันถือว่าทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ตามที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้มีอำนาจเหนือกว่าผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง จึงอยากฝากถึง สว. บางท่านที่อาจมีความรู้สึกขัดต่อจิตสำนึกกับการทำหน้าที่ที่ผ่านมา ก็ขอแสดงความดีใจที่จะได้พ้นหน้าที่นี้ไป ส่วนผู้ที่มีความสุขมากที่ได้ทำหน้าที่เหล่านี้ ก็ขอแสดงความเสียใจด้วยที่จะพ้นไปแล้ว และในระหว่างนี้ก็ขอว่า ช่วงที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาการต่อไป มันไม่มีกติกาเหมือนรัฐบาลรักษาการ ฉะนั้นอะไรที่ไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่ต้องทำจะดีกว่า” นายจาตุรนต์ ระบุ
ด้าน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ กล่าวว่า สว. 250 คนชุดนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากตามวัตถุประสงค์และเหตุผลของการมีอยู่ คือเป้าหมายในการแช่แข็ง ประเทศไทย รักษาระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และเป้าหมายในการสืบทอดอำนาจของกลุ่มคนที่มีความเชื่อมโยงกับคณะรัฐประหารและเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย โดยเราได้เห็นถึงผลงานสำคัญหลักๆ อยู่ 3 อย่างที่ สว. ใช้แช่แข็งประชาธิปไตยในประเทศไทย
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ผลงานแรกคือบทบาทในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี สว. ชุดนี้ก็ประสบความสำเร็จในการเข้ามาแทรกแซงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลถึง 2 ครั้ง คือการเลือกตั้งในปี 2562 และปี 2566 เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่จะรักษาระบบการเมืองที่เป็นอยู่ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2566 ที่แสดงให้เห็นอย่างโจ่งแจ้งและตอกย้ำว่า สว. หลายคนมีเจตนาที่จะแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลจริงๆ เมื่อไม่ได้มีความคงเส้นคงวาในหลักการ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเรียกได้ว่า สว. 250 คน ก็คือพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชน เพราะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการกำหนดว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า ส่วนผลงานถัดมาคืออำนาจในการยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งถือเป็นพินัยกรรมของ คสช. ที่รักษาไว้ซึ่งระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะจากการเสนอพิจารณารวม 26 ร่าง กลับผ่านให้แค่ร่างเดียว และที่น่าตกใจคือมีถึง 18 ร่าง ที่ได้เสียงเกิน 2 ใน 3 ของ ส.ส. หรือเรียกว่าเป็นฉันทามติร่วมกันระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลแล้วระดับหนึ่ง แต่กลับไม่ได้เสียงจาก สว. ที่เพียงพอต่อการแก้ไข และผลงานสุดท้ายคือ อำนาจในการรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ที่เราจะเห็นการใช้อำนาจเข้ามาปฏิเสธบุคลากรหลายคน และถูกตั้งคำถามว่าเกี่ยวข้องกับทัศนคติทางการเมืองที่ไม่เป็นไปตามแนวทางของฝ่ายอนุรักษ์นิยม
“ทั้ง 3 กลไกอำนาจนี้ถือเป็นสิ่งที่ สว. ใช้ได้ประสบความสำเร็จในการรักษาระบบความไม่เป็นประชาธิปไตย จึงอยากฝากข้อความไว้ว่าเวลาของท่านหมดแล้ว อย่าพยายามทวนเข็มนาฬิกา อย่าไปพยายามตีความอำนาจตามบทเฉพาะกาลที่ยังมีอยู่ หรือตีรวนให้กระบวนการคัดเลือก สว. ชุดใหม่มีความล่าช้า เพื่อทำให้ สว. ชุดนี้รักษาการต่อไปได้ รวมถึงอะไรก็ตามที่ยังคงมีอำนาจเชิงกฎหมายอยู่ ให้ตระหนักไว้เสมอว่าอย่าพยายามไปตัดสินใจอะไรที่ไปผูกมัดอนาคตของประเทศ ในช่วงรักษาการตอนนี้” นายพริษฐ์ ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดชื่อผู้สมัคร ป.ป.ช. 3 เก้าอี้ คนดังเพียบ ผู้พิพากษา อัยการ บิ๊กทหาร-ตำรวจ อดีตผู้ว่าฯ
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรณีแทนตำแหน่งที่ว่าง (พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.
กระจ่าง! ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน ชี้กรณีคุณสมบัติ 'สว.หมอเกศ'
“ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน ชี้ กรณี สว.หมอเกศ ปริญญาเอกและตำแหน่งศาสตราจารย์ หากไม่จริง เป็นการโชว์เหนือ หลอกลวงเพื่อจูงใจให้ผู้สมัคร สว.ด้วยกัน เข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถของตนเอง
'จิราพร' ตอบกระทู้ สว.สุนทร ถามคืบหน้าลากคอเทวดา สคบ. ตบทรัพย์ดิไอคอน
ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม วาระกระทู้ถามด้วยวาจา โดยนายสุนทร พฤกษพิพัฒน์ สว. ถามน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่องธุรกิจหลอกลวงประชาชน โดยนายกฯมอบหมายให้ น.ส.จิร
'สว.ชิบ' เค้นรัฐบาล! ใครสั่งโยกคดี 'ดิไอคอน' ให้ดีเอสไอ หวั่นบอสรอดคุก
'สว.ชิบ' ตั้งกระทู้ถามนายกฯ ข้องใจคำสั่งจากใคร ทำให้รัฐบาลโยกคดี 'ดิ ไอคอน' ใส่มือดีเอสไอ หวั่นสรุปคดีไม่ทันเวลา เปิดโอกาสบรรดา 'บอส' รอดคุก
ชวน 'นายกฯอิ๊งค์' ลงใต้ ฟังความทุกข์ทรมานจากปาก 'เหยื่อ-ครอบครัวผู้เสียชีวิต'
'อังคณา' ชี้รัฐบาลพท.-แพทองธาร ปฏิเสธความรับผิดชอบคดีตากใบไม่ได้ ชวนนายกฯ ลงใต้ ฟังความทุกข์ทรมานจากปากเหยื่อ-ครอบครัวผู้เสียชีวิต เตือนระวังคนรู้สึกไม่เป็นธรรม อาจเข้าร่วมขบวนการก่อเหตุ
ดร.ณัฏฐ์ มือกม.มหาชน ฟันเปรี้ยง 'ประชามติชั้นเดียว' เจอด่านหิน! เป้าแก้รธน.ทั้งฉบับไม่ง่าย
สืบเนื่องจากตามที่ร่างพระราชบัญญัติประชามติ ในการแก้ไขหลักการประชามติชั้นเดียว ไม่ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา ทำให้ร่างดังกล่าวย้อนกลับมาพิจารณาของ สส.อีกครั้ง