นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชวนสำรวจบาดแผล ‘เด็ก’ ในยุคที่ต้องกลายมาเป็น ‘คอนเทนต์’ เพราะความเปราะบางของเนื้อหาจะทิ้งร่องรอยความบอบช้ำไว้เสมอ
30 เม.ย.2567 - หนึ่งในปรากฎการณ์ด้านสื่อโซเชียลที่เราอาจสังเกตเห็นกันได้มากขึ้นในช่วงระยะหลัง คือคอนเทนต์เนื้อหาที่นำเสนอเรื่องราวของ ‘เด็ก’ ในวัยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะออกมาแสดงท่าทีหรือความคิดเห็นต่างๆ โดยมีตั้งแต่ครอบครัวโดยพ่อแม่-ผู้ปกครองเป็นผู้นำเสนอ หรือแม้แต่คุณครูในโรงเรียน ซึ่งหลากหลายเนื้อหา โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมิติของความเชื่อ ความศรัทธาของผู้คน นำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก
ผศ.อัญรินทร์ อมรอิสริยาชัย ผู้อำนวยการโครงการปริญญาตรีหลักสูตรนานาชาติ และอาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้ความเห็นว่า จากปรากฏการณ์คอนเทนต์เด็กที่เกี่ยวกับความเชื่อจนนำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมนั้น ในมุมหนึ่งสามารถสะท้อนกลับมาถึงบทบาทของ ‘ผู้รับสาร’ ด้วยว่า ผู้รับสารหรือผู้ที่รับสื่อจะสามารถกลั่นกรองได้หรือไม่ว่า ควรจะรับมือหรือแสดงออกต่อสื่อที่มีเด็กเป็นคอนเทนต์ในลักษณะนี้อย่างไร นั่นเพราะคนส่วนหนึ่งเมื่อรู้สึกมีอารมณ์ร่วมต่อเรื่องใด ก็มักอยากที่จะแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริม สนับสนุน ชื่นชม หรือในทางตรงกันข้ามหากรู้สึกไม่เห็นด้วย ก็อาจกลายเป็นการโจมตี ด่าทอ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าฝ่ายไหนจะแสดงความเห็นหรือจุดยืนแบบใดออกมา สิ่งที่จะยังคงค้างอยู่ในสังคมคือ ‘ร่องรอย’ ซึ่งเมื่อวันหนึ่งที่เด็กเติบโตขึ้นแล้วได้ย้อนกลับมาเจอเรื่องราว สิ่งที่คนเคยพูดถึงเขาเหล่านี้แล้วจะเป็นอย่างไร
“อย่างที่เราทราบว่าเด็กเขาก็ต้องมีพัฒนาการ ยังต้องผ่านช่วงวัยในการเรียนรู้ เติบโต และสำรวจตัวเอง ซึ่งสิ่งที่เขามีวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ บุคลิกภาพ หรือความสนใจของเขาที่ถูกนำเสนอออกมาโดยผู้ปกครองหรือคนรอบข้าง เขาอาจไม่ได้รู้สึกด้วยซ้ำว่ามันเหมาะหรือไม่เหมาะ แต่เมื่อวันที่เขาเริ่มรับรู้แล้วว่ามีคนชอบหรือไม่ชอบเขา ถามว่าเราจะรับผิดชอบกับสิ่งที่ฝังอยู่ในความทรงจำของเขาได้หรือไม่ และถ้าเขาโตไปแล้วอาจไม่ได้ชอบทางนี้เลยในอนาคต มันจะกลายเป็นความผิดของเขาหรือเปล่าที่เขาไม่เป็นเหมือนเดิม เพียงเพราะเขาได้เรียนรู้หรือรู้จักตัวเองมากขึ้น” ผศ.อัญรินทร์ ให้มุมมอง
อาจารย์คณะวารสารศาสตร์รายนี้ กล่าวอีกว่า อันที่จริงเราเคยเห็นการนำเสนอเนื้อหาของเด็กผ่านสื่อมาแล้วในอดีต เช่น รายการโทรทัศน์ เกมโชว์การแข่งขันต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่อาจจะนำเสนอในมิติเดียว คือในเชิงของทักษะความสามารถพิเศษของเด็ก ทำให้ปฏิกิริยาของผู้คนมักจะเป็นในลักษณะชื่นชม เพราะรู้สึกว่าเด็กมีพรสวรรค์ หรือ Talent ในเรื่องนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบันที่สื่อไม่ได้มีเพียงโทรทัศน์ แต่ทุกคนมีสื่ออยู่ในมือของตัวเอง จึงมีโอกาสสูงว่าสิ่งต่างๆ ที่เราถ่ายทอดออกไป ไม่ว่าจะเป็นภาพ คลิป ความคิดเห็น ฯลฯ จะนำเสนอเอนเอียงเฉพาะในมุมที่เราชอบ ซึ่งคนอื่นอาจไม่ชอบก็ได้ และเมื่อเรามีความกล้าที่จะถ่ายทอดสิ่งดังกล่าวออกไป ผู้คนภายนอกก็กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นกลับมาด้วยเช่นเดียวกัน
“ความเป็นอิสระของข้อมูลข่าวสาร มันเป็นลักษณะของสื่อสังคมออนไลน์อยู่แล้ว ซึ่งมันนำมาสู่การตั้งคำถามว่าการที่เราจะนำเสนอด้านใดด้านหนึ่งของเด็กสักคน ยิ่งในยุคนี้เราอาจต้องคิดให้รอบด้านมากขึ้น และต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่อาจเป็นความรู้สึกชื่นชม เป็นความภาคภูมิใจของผู้ปกครอง ที่อยากนำเสนอมุมนี้ ด้านนี้ของเด็ก แต่บางทีความภูมิใจนั้นอาจมองข้ามข้อควรระวังหลายอย่างไป เช่น สิทธิของเด็ก การเติบโตของเด็กในอนาคต และผลกระทบที่เด็กอาจได้รับจากความคิดเห็นในสังคม” ผศ.อัญรินทร์ ระบุ
ทั้งนี้ เมื่อถามกลับมาถึงประเด็นของความรับผิดชอบ อาจารย์รายนี้ยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของ ‘พวกเราทุกคน’ นั่นก็เพราะสิ่งที่เราเห็นปรากฏขึ้นมาทุกวันนี้บนหน้าสื่อสังคมออนไลน์ เนื้อหาหรือคอนเทนต์ต่างๆ ที่ถูกป้อนมาหาเราจะวิ่งมาตาม ‘อัลกอริทึม’ (Algorithm) ซึ่งก็มาจากพฤติกรรมการเสพเนื้อหาในรูปแบบนั้นของเราเอง ฉะนั้นเมื่อไรก็ตามถ้าเราเสพ ‘ดราม่า’ เรื่องใดแล้วรู้สึกสนุก ก็ไม่แปลกที่เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนั้นก็จะคอยขึ้นมา และกระตุ้นเร้าให้เราอยากเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น
ดังนั้น อาจารย์อัญรินทร์จึงเน้นย้ำว่า สิ่งที่เราทุกคนมีส่วนทำได้ คือการสร้าง ‘ความรู้เท่าทัน’ หรือ Social / Media Literacy ของตัวเอง ว่าเมื่อไรก็ตามที่เราเห็นเนื้อหาที่รู้สึกว่าไม่เหมาะสม ไม่สร้างสรรค์ เพียงเรา ‘ไม่เข้าไปยุ่ง - ไม่เข้าไปดู’ ก็น่าจะทำให้อัลกอริทึมลดระดับการส่งเนื้อหาลักษณะนี้มาให้ ซึ่งก็จะเป็นแรงกระเพื่อมต่อไปให้กับเนื้อหาประเภทที่มีความรุนแรง หรือประเภทที่เกี่ยวกับความเชื่อส่วนบุคคล มีความหมิ่นเหม่ต่อความรู้สึก อารมณ์ของผู้คน เนื้อหาเหล่านี้ก็จะต้องลดน้อยลง หากมันเป็นเนื้อหาที่ไม่ถูกเสพหรือไม่ได้รับความนิยม
“ในมุมของคนรับสารเราเองก็ต้องช่วยกัน ไม่ใช่สนุกกับการเสพดราม่า ซึ่งก็อดไม่ได้ที่พอเราตามแล้วก็อยากเข้าไปมีส่วนร่วม ไปคอมเมนต์ หรือแชร์ต่อ เพราะมันก็จะยิ่งป้อนสิ่งเหล่านี้มาตามอารมณ์ความอยากรู้ของเราเหมือนกัน ส่วนในมุมของผู้เผยแพร่สาร ก็ควรจะต้องระมัดระวังและกลั่นกรองมากขึ้น ในบางเรื่อง บางแง่มุม มันอาจเป็นเรื่องที่เฉพาะ เป็นเรื่องที่อ่อนไหวเปราะบาง ซึ่งเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปนำเสนอให้สังคมออนไลน์รับรู้ก็ได้ จึงคิดว่าถ้าเราเพิ่มระดับการกลั่นกรองกันมากขึ้นทั้งผู้ส่งสาร และผู้เสพสาร มันน่าจะเป็นแรงกระเพื่อมที่ทุกคนช่วยกันได้” ผศ.อัญรินทร์ ให้แนวทาง
อีกส่วนหนึ่งในมุมของ ‘สื่อสารมวลชน’ ที่มักมีการนำเรื่องราวเหล่านี้ออกมานำเสนอต่อด้วยนั้น ผศ.อัญรินทร์ ยังให้ทรรศนะว่าตัวของสื่อเองก็จะต้องระมัดระวังมากขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องด้วยบทบาทของความเป็น ‘สื่อ’ ที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเนื้อหาที่ถูกนำเสนอออกมาได้มากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว การหยิบเอาเรื่องเหล่านี้ออกมาพูดหรือใส่ความคิดเห็นเข้าไปเพิ่มเติม ก็มีโอกาสที่จะชักนำสังคม ทำให้ผู้คนที่ติดตามเกิดอคติกับประเด็นเหล่านั้นตามไปด้วย
“ก็เข้าใจว่าสภาวะของสื่อในทุกวันนี้ มันมีอัตราการแข่งขันที่สูงมาก คนทำสื่อก็อยากได้ Engagement สูงๆ ทำให้พยายามเลือกสรรหาเนื้อหาที่จะสามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้เยอะๆ ก็ไปเลือกเรื่องที่มันกระทบกับอารมณ์ ความรู้สึก หรือเกี่ยวข้องกับความเชื่อของผู้คน แต่ถ้าเราจะแข่งขันกันด้วยเรื่องแบบนี้ มันอาจต้องมองว่าเราจะนำพาสังคมไปอยู่ในจุดไหน ความเปราะบางของเนื้อหาเหล่านี้ มันก็ทิ้งร่องรอยความบอบช้ำอะไรบ้างอย่างให้กับผู้คนที่อยู่ในข่าวเหมือนกัน” อาจารย์วารสารศาสตร์รายนี้ ระบุ
ผศ.อัญรินทร์ ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงปรากฎการณ์ในอีกลักษณะ อย่างการที่พ่อแม่ผู้ปกครองมัก ‘เปิดเพจ’ หรือคอยถ่ายคอนเทนต์ของลูกน้อยเอาไว้ตั้งแต่เกิดจนเติบโต ซึ่งเธอมองว่าหากเป็นฐานคิดของพ่อแม่ที่อยากเก็บความน่ารักของลูก บันทึกพัฒนาการเก็บไว้เป็นความทรงจำ หรืออยากแบ่งปันสิ่งที่เกิดขึ้นให้กับเพื่อนๆ คนรอบข้าง โดยเนื้อหาที่ผ่านการคัดกรองมาแล้ว เธอเชื่อว่าก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้
หากแต่พ่อแม่เองก็ต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของ Social Media เพราะเมื่อไรที่เราใช้เด็กเป็นตัวละครเพื่อเรียก Engagement นั่นจะกลายเป็นคนละจุดยืนทันที ซึ่งในหลายเคสที่เมื่อเด็กถูกพลิกบทบาทไปโดยไม่รู้ตัว กลายมาเป็นตัวละครในการนำเสนอแล้ว นั่นย่อมส่งผลกระทบหลายๆ ด้านให้กับเด็กได้อย่างแน่นอน
“อย่างพ่อแม่หลายคนเมื่อถึงวันที่ลูกเริ่มรู้เรื่อง เขาอาจมีการสื่อสารกับลูก ขออนุญาตลูกก่อนว่าถ่ายภาพได้ไหม ขอลงภาพนี้ได้ไหม ซึ่งการสื่อสารเรื่องราวพวกนี้ให้เด็กรับทราบ ก็จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กแล้วว่า การที่จะโพสต์อะไร ถ่ายภาพอะไร มันต้องมีกระบวนการคิดไตร่ตรองก่อน ผ่านความสมัครใจ มีเรื่องของความเหมาะสม ทำได้-ทำไม่ได้ เข้ามาเกี่ยวข้อง” ผศ.อัญรินทร์ ให้มุมมอง
ในขณะที่อีกมุมหนึ่งที่มีความน่ากังวล คือลักษณะของเนื้อหาที่สื่อสารออกมาจาก ‘ตัวเด็กเอง’ ซึ่ง ผศ.อัญรินทร์ ระบุว่า เนื้อหาลักษณะนี้ส่วนใหญ่มักเห็นได้ชัดว่าน่าจะเกิดจากพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ ไม่ว่าจะเป็นคลิปท่าเต้น คำพูด หรือกิริยาการกระทำบางอย่าง ซึ่งเด็กอาจเรียนรู้และเข้าใจไปว่าการทำคอนเทนต์ลักษณะนี้จะทำให้คนชอบเขา เพราะผลลัพธ์ที่เขาคาดหวังคือต้องการให้คนชอบ จึงเป็นเรื่องน่ากังวลเมื่อการใช้พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์เริ่มบิดเบี้ยวไปเช่นนี้
“หลายเนื้อหาที่เด็กถ่ายทอดออกไป ก็จะเป็นเนื้อหาที่เด็กอาจเข้าใจผิดว่า แบบนี้แหละฉันจะได้รับการยอมรับ ชื่นชม ซึ่งเขาไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่จะมีประสบการณ์มากพอที่จะรู้ว่า ความจริงแล้วคนเราสามารถได้รับการชื่นชมจากพฤติกรรมอีกมากมายในเชิงสร้างสรรค์ ในทางกลับกันเราเองก็ชอบวิ่งตามเทรนด์ และยิ่งเราวิ่งตาม อัลกอริทึมก็ยิ่งทำงาน หากเราไม่ทำลายวงจรแบบนี้ คิดว่าอนาคตมันอาจจะลากสังคมเราไปในจุดที่ไม่น่ามองได้” นักวิชาการธรรมสาสตร์สะท้อนความกังวล
ผศ.อัญรินทร์ สรุปว่า สิ่งที่ควรจะเป็นแนวทางสำหรับเราในฐานะผู้ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ อันดับแรกจึงเป็นการรู้เท่าทัน เมื่อไรก็ตามที่เราเห็นเนื้อหาหรือลีลาการนำเสนอที่รู้สึกว่าไม่เหมาะสม เรามีสิทธิที่จะ ‘เลื่อนผ่าน’ ไปเลยได้ โดยที่ไปต้องไปมีปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยการด่าทอหรือตำหนิ ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
“บางทีการนิ่ง มันก็เป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง หากเราเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าไม่เห็นด้วยกับเนื้อหานั้น เราก็เลือกที่จะไม่สนใจได้ แล้วคอนเทนต์ลักษณะนี้ก็จะต้องลดน้อยลงไปตามอัลกอริทึม ซึ่งคนที่นำเสนอเขาก็ต้องรู้สึกได้เองว่าเนื้อหาประเภทนี้ไม่เวิร์คแล้ว เขาก็จำเป็นต้องเปลี่ยน ฉะนั้นเราทุกคนเองก็มีส่วนร่วมกันในการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้ เพราะมาถึงวันนี้ในหลายๆ ปรากฎการณ์มันควรจะทำให้เราต้องพิจารณากันได้แล้วว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น เรากำลังเสพ เรากำลังถกเถียงเรื่องอะไรกันอยู่ในสังคม แล้วความเห็นหรือปฏิกิริยาเหล่านี้มันไปทำร้ายใครบ้าง มันน่าจะมากพอแล้วที่เราจะเริ่มหยุดและตั้งคำถามกับปรากฎการณ์เหล่านี้” เธอทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'บ้านแสนอยู่ดี' ที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตร นวัตกรรมธรรมศาสตร์เพื่อคนทั้งมวล
แม้ว่าที่อยู่อาศัยจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ หากแต่มีที่อยู่อาศัยจำนวนไม่น้อยที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น
โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 'ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์' ดำรงตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ส.ยกน้ำหนักฯ–จ.พะเยา-กฟผ. จัดEGATยกน้ำหนักยุวฯเยาวชน 15–25ต.ค.นี้
เมื่อวันที่ 27ก.ย.ที่ผ่านมา นายปรัชญา กีรตินันท์ นายกสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย นายนำพล โพธิวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.),นายบำรุง สังข์ขาว รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา และพลอากาศโท วัฒนชัย เจริญรัตน์ กรรมการและประธานฝ่ายเทคนิคสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวการแข่งขัน EGAT ยกน้ำหนักเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2567 ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ EGAT ยุวชนชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย อายุ 13 - 15 ปี ประจำปี 2567 ณ การกีฬาแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ
ต้องไม่ยอมมัน! อดีตรองอธิการบดี มธ. ปลุกขวางแก้ รธน. ทำลายความถูกต้อง-เป็นธรรม
ความพยายามในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราครั้งนี้ หากทำได้สำเร็จ จะเป็นลดความสำคัญของความซื่อสัตย์สุจริต และมาตรฐานทางจริยธรรม
'กรมสุขภาพจิต' ส่งทีมเยียวยาจิตใจ ผู้ประสบอุทกภัยเชียงใหม่-เชียงราย
'กรมสุขภาพจิต' ส่งทีมเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม ทั้งเชียงใหม่-ศูนย์พักพิงจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ ชี้ยิ่งนานยิ่งน่าห่วง