ไทยผงาด! เด็กธรรมศาสตร์ คว้า 'แชมป์โลก' วางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ

รางวัลชนะเลิศหรือการคว้า ‘แชมป์โลก’ พ่วงด้วยอีก ‘2 รางวัลใหญ่’ จากการแข่งขันวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ Sauder Summit Global Case Competition 2024 ณ มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย (UBC) แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เมื่อช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา คือผลงานที่น่าภาคภูมิใจอย่างถึงที่สุดของประเทศไทย ซึ่งมาจากความสามารถของทีมจาก คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

เพราะในแวดวงสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนด้านบริหารธุรกิจ (Business School) ต่างทราบดีว่า การแข่งขันรายการ Sauder Summit Global Case Competition ถือเป็นสนามประลองอันทรงเกียรติ และเป็นเวทีในการแสดงศักยภาพของนักศึกษา สถาบันการศึกษา และประเทศ และในการแข่งขั้นครั้งล่าสุดนี้ ‘4 นักศึกษา’ ตัวแทนประเทศไทย จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ได้แก่ มนัสยา พลอยนำพล, สุชาดา เจริญกิตติธรรม, บุณย์บุริศร์ กิตติรัตนคุณ และ แสนเสน่ห์ มุณีกานนท์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 บริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติ (BBA) ก็ได้ประกาศความยิ่งใหญ่ให้กับประเทศไทย ด้วยการขึ้นแท่นเป็นอันดับหนึ่ง จาก 16 ทีมมหาวิทยาลัยด้านธุรกิจทั่วโลก ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมแข่งขัน

มากไปกว่านั้น ทีมนักศึกษาธรรมศาสตร์ ยังคว้าเพิ่มรางวัล People Choice Award จากคะแนนโหวตอย่างเป็นฉันทามติของผู้เข้าร่วมชมการแข่งขัน และ ดร.วรพงษ์ จันยั่งยืน ที่ปรึกษาคณบดีด้านวิชาการและกิจกรรมนักศึกษา ประจำโครงการปริญญาตรีบริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติ (BBA) ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาก็สามารถคว้ารางวัล Best Faculty Advisor มาครองได้สำเร็จด้วย

สำหรับ Sauder Summit Global Case Competition เป็นการแข่งขันวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ ใช้เวลา 5 วัน มีการกำหนดโจทย์ในหลากหลายอุตสาหกรรมให้แต่ละทีมได้วางแผน ทั้งการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน การขยายธุรกิจ โดยกรรมการผู้ตัดสินจะเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมภาคนั้นๆ ซึ่งในปี 2024 มี 16 มหาวิทยาลัยชั้นนำเข้าร่วม อาทิ Copenhagen Business School, CUHK Business School, University of Glasgow, Adam Smith Business School ฯลฯ

การแข่งขันจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม 3 รอบ โดยรอบแรกและรอบสองมีเวลารอบละ 5 ชั่วโมง ผู้เข้าแข่งขันจะได้รับโจทย์เป็นข้อมูลประมาณ 20 หน้ากระดาษ ซึ่งในระหว่างการแข่งขันไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ เมื่อหมดเวลา กรรมการจะจัดลำดับทีมที่ได้รับคะแนนมากไปหาน้อย ซึ่งลำดับจะมีผลต่อการแข่งขันในรอบสุดท้าย

การแข่งขันรอบสุดท้าย จะมีเวลาให้ทั้งหมด 24 ชั่วโมง และเปิดโอกาสให้ใช้อินเทอร์เน็ตได้ รอบนี้หลักการคล้ายคลึงกับสองรอบแรก แต่จะเพิ่มความเข้มข้นเรื่องรายละเอียดของเนื้อหาที่ต้องนำเสนอ โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 รอบย่อย เพื่อหาทีมที่ชนะมาเจอกันในรอบตัดสิน หรือ Final

มนัสยา เล่าว่า ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ หรือ Final มีเวลาทั้งหมดทีมละ 30 นาที โดยจะนำเสนอ 20 นาที และตอบคำถามกรรมการ 10 นาที ทีมของธรรมศาสตร์ได้รับโจทย์เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ ซึ่งทีมเห็นร่วมกันว่ายาก เพราะนอกจากมีเวลาจำกัดแล้ว ยังต้องอาศัยความเข้าใจลักษณะเฉพาะของอุตสาหกรรมด้วย

อย่างไรก็ดี ทีมธรรมศาสตร์ก็ค่อนข้างมีความมั่นใจ เพราะในระหว่างเรียนเคยมีประสบการณ์ในการแข่งขันทางเคสธุรกิจมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 รอบ และมีประสบการณ์จากการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยอีกไม่น้อย และทำการฝึกซ้อมกันมาอย่างหนัก ฉะนั้นเมื่อได้รับโจทย์มาก็เริ่มช่วยกันคิดแผน จากนั้นก็แบ่งงานกันเป็นสัดส่วน ทั้งด้านวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน ด้านการนำเสนอกลยุทธ์ที่จะมีอยู่ราว 2-3 แบบ ด้านการเงินและความเสี่ยง

มนัสยา เล่าต่อไปว่า จุดแข็งของทีมธรรมศาสตร์คือเรามีความเข้าใจในอุตสาหกรรม ซึ่งคณะกรรมการผู้ตัดสินก็ชื่นชมว่าทีมเรามีความเข้าใจในอุตสาหกรรมเป็นอย่างดี รวมถึงทักษะการวิเคราะห์เป็นอย่างดี และยังให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่องไม่ให้ออกมาน่าเบื่อ เพราะบางครั้งกลยุทธ์ของแต่ละทีมจะคล้ายกัน แต่วิธีการนำเสนอต่างกัน

“มาถึงตอนนี้คงต้องบอกว่าการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยสำคัญมาก และมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จในครั้งนี้ เนื้อหาในห้องเรียนเป็นฐานคิดที่ดี กิจกรรมและการยกเคสในห้องเรียน รวมถึงการแข่งขันเคสธุรกิจต่างๆ ถูกนำมาประยุกต์ใช้ หลักสูตรการเรียนการสอนที่ทำให้นักศึกษาเอาไปใช้งานจริงมีผลต่อการแข่งขันจริง พูดได้เลยว่าเอาความรู้จากห้องเรียนออกมาใช้” มนัสยา กล่าว

นอกเหนือจากตัวของผู้เข้าแข่งขันแล้ว ทีมสนับสนุนจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ก็สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นคณาจารย์หลายท่านและพี่ๆ ศิษย์เก่าที่เข้ามาเป็นโค้ช สอนพื้นฐานในทุกอุตสาหกรรมให้มีความเข้าใจตั้งแต่สมัยเรียนชั้นปี 1 และที่ขาดไม่ได้เลยคือ อาจารย์ ดร.วรพงษ์ ที่ทุ่มเทและคอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดในการแข่งขันทุกๆ รอบ

มนัสยา มองว่า สิ่งที่ได้จากการแข่งขันจะสามารถนำไปต่อยอดการทำงานในอนาคตได้ เพราะเธอวางแผนไว้ว่าจะเข้าทำงานด้านการเงิน

“จริงๆ ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะฯ โดยเฉพาะที่ปรึกษา เพื่อนร่วมทีม และโค้ชที่ค่อยให้คำแนะนำ ส่วนตัวอยากให้เด็กไทย-เยาวชนไทยได้รับการสนับสนุนและได้รับประสบการณ์ที่ดีเหมือนที่เราได้รับในครั้งนี้ เพราะแรงสนับสนุนที่ได้จากองค์กรหรือจากคนที่มีประสบการณ์ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างดีจริงๆ” มนัสยา ทิ้งท้าย

เพิ่มเพื่อน