ปลัดกระทรวงอุตฯ แจงกมธ.อุตสาหกรรม ปมกากแคดเมียม

17 เม.ย.2567 - ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)อุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานกมธ.ฯ เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาเรื่องการขนกากแร่อุตสาหกรรมแคดเมียม โดยได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล อาทิ นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวอุตสาหกรรม นายจุลพงษ์ ทวรศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่ นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายวรญัฑฐ์ หนูริต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น

ช่วงหนึ่งของการประชุม นายณัฐพล ชี้แจงว่า แผนการเคลื่อนย้ายกากตะกอนกลับที่เดิม โดยแนวทางการจัดเก็บ ณ สถานที่ที่ตรวจพบ ได้เก็บกากตะกอนทั้งหมดไว้ในอาคาร และมีการทำความสะอาดดูดฝุ่นจากในโรงงาน ส่วนที่อยู่ตามชายคาต้องใช้พลาสติกคลุมทับอีกครั้งให้มีความมิดชิดและไม่ถูกชะล้าง โดยเตรียมการขนย้ายใส่ในรถเปิดแต่ใส่ในถุงซ้อนปิดมิดชิด คลุมด้วยพลาสติกอีกครั้ง จะขนได้ประมาณ 30 ตันต่อคันรถ และใช้รถ 30 คันคาดว่าจะเพียงพอ และในวันนี้(17 เม.ย.)จะทดสอบความแข็งแรงของบ่อว่าพร้อมหรือไม่ ซึ่งตนและผู้บริหารจะลงไปตรวจสอบด้วยตนเอง เมื่อปรับปรุงบ่อเสร็จจะตรวจองค์ประกอบต่างๆ เช่น ตรวจสถานะของกากตะกอนทุกถุงว่าต้องเป็นด่าง ตามที่อีไอเอกำหนดไว้ ปรับระบบบ่อน้ำเสีย โดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมตลอดเวลา ปิดบ่อและดูดฝุ่นทุกวัน รวมถึงตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดินทุก 3 เดือน

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงต่อว่าส่วนวันที่ 18 เม.ย.นี้ จะสรุปความเห็นต่อคณะกรรมการ 6 กระทรวง หากมีจุดสุ่มเสี่ยงก็จะดำเนินการให้เหมาะสม และดำเนินการตรวจสอบอย่างเรียบร้อย ขณะที่การสืบหาสาเหตุที่กากตะกอนมาปรากฏที่กรุงเทพฯ ได้นั้น คาดว่าในกรุงเทพฯ เป็นจุดพักของ พร้อมตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริง และดำเนินการอย่างเต็มที่ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

ในที่ประชุมททางกรรมาธิการฯ เสนอให้นำกากตะกอนที่อายัดไว้ใส่ตู้คอนเทนเนอร์ไว้ก่อน เพราะประชาชนในพื้นที่กังวลเรื่องความปลอดภัย และไม่ควรรอการดำเนินการของภาคเอกชนเพียงอย่างเดียว แต่ทางกระทรวงฯ ควรของบประมาณดำเนินการจากนายกฯมาก่อนได้ แล้วไปฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายจากผู้ประกอบการแทน

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า เหตุที่ไม่ใส่ในตู้คอนเทนเนอร์ เพราะจะมีความยุ่งยากเรื่องการขนย้ายเข้า ออก ขอย้ำกากตะกอนไม่มีกัมมันตภาพรังสี หากไม่มีการฟุ้งกระจายก็สามารถควบคุมได้ แต่ให้เร่งทำถุงซ้อนสองชั้นเพื่อปกคลุมไม่ให้มีการฟุ้งกระจายไปก่อน ซึ่งมาตรการนี้เป็นไปตามมาตรฐานของสหประชาชาติ

ขณะที่นายอัครเดช ได้ตั้งคำถามว่า ทำไมต้องขนย้ายในวันที่ 7 พ.ค. โดยไม่ใช่วันที่ 17 เม.ย. ตามที่รมว.อุตสาหกรรมเคยแถลงไว้

โดย นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ ชี้แจงว่า กระบวนการในการขนย้ายกากตะกอนกลับ ต้องมีการอนุญาตและเตรียมดำเนินการ ซึ่งต้องเผื่อระยะเวลาในการตรวจสอบและซ่อมแซมบ่อสำหรับฝังกลบใน จ.ตาก ให้เรียบร้อยก่อน และต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ และขออนุญาตหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย นอกจากนี้ จะใช้เวลา 1 สัปดาห์ เผื่อขนย้ายกากตะกอนที่อยู่ใน จ.ตาก แล้ว ลงบ่อ จากนั้นเป็นการขนย้ายกากตะกอนจากพื้นที่ต่างๆ โดยเรียงตามลำดับความสำคัญและความพร้อมในการขนส่ง กระบวนการนี้เป็นร่างที่กระทรวงฯ เห็นว่ามีความเหมาะสม โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อรับฟังความเห็นอีกครั้ง

เพิ่มเพื่อน