เผยผลการศึกษา 'รุกฆาต แก๊งคอลเซ็นเตอร์'

16 เม.ย.2567- ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่ปรึกษามูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชน ที่ตั้ง ณ มหาวิทยาลัยมหิดล และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยจอร์ชทาวน์ ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์กับการจัดการความเสี่ยง (Cybersecurity and Risk Management) เปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง “รุกฆาต แก๊งคอลฯ” ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 – 15 เมษายน พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา พบข้อเท็จจริง และแนวทางแก้ไข ตามแผนภาพ ดังนี้

ข้อเท็จจริง: ขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และมิจฉาชีพออนไลน์ กำลังเดินหน้าสร้างความเดือดร้อนในหมู่ประชาชนทั่วประเทศโดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีคดีมิจฉาชีพออนไลน์เกิดขึ้นร่วม 5 แสนคดี แบ่งกลุ่มประเภทและความเสียหายออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มหลอกลวงแบบเป็นขบวนการ สร้างความเสียหายกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท (2) กลุ่มหลอกลวงแบบไม่เป็นขบวนการ สร้างความเสียหายกว่า 5.5 พันล้านบาท (3) กลุ่มข่มขู่ให้กลัว สร้างความเสียหายกว่า 7.9 พันล้านบาท (4) กลุ่มโจรไซเบอร์กระทำต่อระบบ สร้างความเสียหายกว่า 7.5 พันล้านบาท และ (5) กลุ่มมิจฉาชีพออนไลน์อื่น ๆ สร้างความเสียหายกว่า 1 หมื่นล้านบาท รวมแล้วกว่า 6 หมื่นล้านบาท

ล่าสุด พบอีก ความเดือดร้อนของประชาชนจากมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โจรไซเบอร์ที่เข้ามาดูดเงินของประชาชนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเสียหายกว่า 1.5 พันล้านบาท แต่ธนาคารอายัดบัญชีของมิจฉาชีพได้ทันเพียง 11 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.7 เท่านั้นที่ธนาคารต่าง ๆ สามารถรักษาเงินของประชาชนเอาไว้ได้ซึ่งน้อยกว่าร้อยละ 1 แสดงให้เห็นว่า มิจฉาชีพออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โจรไซเบอร์เอาเงินของประชาชนออกไปได้สำเร็จสูงถึงร้อยละ 99.3 ของมูลค่าเงินทั้งหมดที่ประชาชนฝากไว้กับธนาคาร ความรับผิดชอบจึงตกอยู่ที่ธนาคารผู้รับฝากเงินของประชาชน สอดคล้องกับผลสำรวจของซูเปอร์โพลที่ค้นพบความคิดเห็นของประชาชนว่า ผู้ที่ต้องรับผิดชอบมากที่สุดคือ ธนาคาร รองลงมาคือ มิจฉาชีพออนไลน์ อันดับสามคือ ตัวประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อเอง อันดับสี่คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย และอันดับห้าคือ ตำรวจ

ตำรวจจึงไม่ใช่แพะรับบาปเพียงลำพัง แต่ผู้ที่ต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบแถวหน้าด้วยคือ ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ควรหันหน้ามาช่วยเหลือประชาชน ทำให้เกิดการขึ้นบัญชีดำ อายัดบัญชีม้า ชะลอเงินของประชาชนไหลออกไปเพราะเงินเหล่านั้นคือ หยาดเหงื่อแรงกาย หยดน้ำตาของคนหาเช้ากินค่ำ และตำรวจกับเหยื่อ ก็ช่วยกันอย่างเต็มที่แล้ว ยิ่งเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงจะพบว่า หน้างานที่ล้นมือของตำรวจมีคดีมิจฉาชีพออนไลน์ร่วม 5 แสนคดีแต่มีพนักงานสอบสวนทำคดีออนไลน์เพียงหลักร้อย หลักพันเท่านั้น จึงจำเป็นต้องใช้ระบบเทคโนโลยี คน กลไก และการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาแก้ไขเร่งด่วน

ทางแก้ไข: จากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เร่งรัดจัดการกับมิจฉาชีพออนไลน์ เว็บพนัน แก๊งคอลเซ็นเตอร์และอาชญากรรมไซเบอร์ทุกรูปแบบให้เกิดผลงานภายใน 30 วัน สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ถูกหลอกลวงโดยมิจฉาชีพออนไลน์ และล่าสุดกองบัญชาการสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางร่วมกับกรมศุลกากร สามารถตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์-เว็บพนันออนไลน์ ยึดอุปกรณ์ของกลางได้กว่า 6,000 ชิ้น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากมิจฉาชีพออนไลน์ เว็บพนัน แก๊งคอลเซ็นเตอร์และโจรไซเบอร์ ยังคงเกิดขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่องตามที่ปรากฏในข้อเท็จจริงเบื้องต้น ดังนั้น แนวทางแก้ไขปัญหาแบบ “รุกฆาต แก๊งคอลฯ” และการขึ้นบัญชีดำ อายัดบัญชีม้า ชะลอการไหลของเงินได้ทันที มีทางแก้ไขในส่วนของตำรวจและส่วนของธนาคารและภาคีเครือข่ายอื่น ๆ บนฐานคติและตรรกะใหม่แห่งข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้ (1) ในส่วนของ “ตำรวจ” ใช้โมเดล “ตำรวจของประชาชน” ผ่านระบบเทคโนโลยี ป้องกัน ช่วยเหลือ แก้ปัญหาได้ไวให้อยู่ในฝ่ามือของเจ้าหน้าที่และประชาชน เพื่อชนะสองกลุ่มความท้าทาย คือ อาชญากรรมทางไซเบอร์ และ แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง โดยมียุทธศาสตร์สามด้าน ได้แก่ (1) ด้านธรรมาภิบาล (2) ด้านคน กับ กระบวนการแบบ shortcut รัดขั้นตอน และ (3) ด้านเทคโนโลยี

รายละเอียดคือ ด้านธรรมาภิบาล ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกระจายหน้าที่พร้อมความรับผิดชอบและความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ไปยังศูนย์ควบคุมและสั่งการระดับกองบัญชาการ กองบังคับการ สน.และ สภ. โดยเสริมสร้างคนที่มีไฟและแรงบันดาลใจเป็นเนื้อเดียวกันมุ่งมั่นทำงานหนักเพื่อประชาชนเช่นเดียวกับผู้บริหาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทนแรงกดดัน ฟื้นตัวเร็ว สามารถระบุความเสี่ยง ป้องกัน ปราบปราม แก้ และกู้ได้ และใช้ระบบเทคโนโลยี จับตา ตรวจจับ แจ้งเตือน รับแจ้งความเปิดคดี ติดตาม และรายงานความก้าวหน้าผ่านระบบเทคโนโลยีที่เป็นแบบเรียลไทม์ เชื่อมประสานกับธนาคารและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อขึ้นบัญชีดำ อายัดบัญชีม้า ชะลอการไหลของเงินได้ทันที เพราะตำรวจมีเป้าหมายตามบัญชาของ นายกรัฐมนตรี ในกรอบเวลาคาดว่าช่วง 30 วันแรกจะมีผลงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 15 และในช่วงเดือนกันยายนจะมีผลงานความสำเร็จสูงขึ้นถึงร้อยละ 70 โดยมีความพร้อมของ คน กลไก และเทคโนโลยี เริ่มจากร้อยละ 20 ในเดือนเมษายนไปอยู่ที่ร้อยละ 80 ในเดือนมิถุนายน ตามแผนภาพที่ปรากฏ

(2)ในส่วนของ “ธนาคาร” และ “ภาคีเครือข่าย” ใช้มาตรการ รุกฆาต แก๊งคอลฯ ขึ้นบัญชีดำ อายัดบัญชีม้า หยุดการไหลของเงินได้ทันที ทำให้ มิจฉาชีพออนไลน์ยอมแพ้เพราะต้นทุนและความเสี่ยงสูง ผู้ร่วมขบวนการถูกดำเนินคดีไม่มีหนทางทำธุรกรรมทางการเงิน โดยธนาคารและเครือข่ายสามารถจัดการขบวนการมิจฉาชีพออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์และโจรไซเบอร์ ตามโมเดล “ภาพใหญ่” ในแผนภาพแนบ ด้วยการแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบต่อหน้าที่และความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ (Accountability) ที่เริ่มจาก ธนาคาร ตัดเส้นทางการเงิน โดยทำร่วมกับตำรวจทั้งตำรวจไซเบอร์/ ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) /สน./สภ. มีแพลตฟอร์มการเปิดคดีที่กระชับใช้เวลาสั้น ๆ เร็วต่อการจัดการขึ้นบัญชีดำกลุ่มมิจฉาชีพออนไลน์ และจัดการแจ้งเตือนไปยังธนาคารและธนาคารสามารถตัดเส้นทางการเงิน ชะลอการไหลของเงินได้ทันทีด้วยหลากหลายวิธี เช่น การยืนยันตัวตนในการโอนเงิน และการจัดการทางเทคนิคต่าง ๆ ที่ธนาคารและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายให้ดำเนินการได้จนถึงการปิดคดี

ในระยะสั้น การจัดการกับบัญชีดำ อายัดบัญชีม้า ยังสามารถดำเนินการต่อเนื่องเพื่อสกัดกั้นการฟื้นตัวของมิจฉาชีพออนไลน์ผ่านกระบวนการยุทธวิธีงานตำรวจ และในระยะยาว รัฐสภาและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ควรปรับปรุงกฎหมายให้ทันและล้ำหน้าการทำงานของมิจฉาชีพออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และโจรไซเบอร์ สร้างกลไกการทำงานที่รวดเร็ว แม่นยำ และคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้ปลอดภัย ตามแผนภาพแสดงขั้นตอนจัดการบัญชีดำ อายัดบัญชีม้า ชะลอการโอนเงินของบัญชีม้า ผลที่ตามมาคือ ความปลอดภัยในเม็ดเงินของประชาชนที่ให้ความไว้วางใจฝากไว้กับธนาคารจะเพิ่มสูงขึ้น และเงินของประชาชนผู้ยากไร้จะไหลออกไปสู่มือมิจฉาชีพออนไลน์และออกไปนอกประเทศจะน้อยลง กลุ่มมิจฉาชีพออนไลน์ก็จะหันไปทำที่อื่น ด้วยหลักคิดและแนวทางปฏิบัติที่เสนอมาข้างต้น นโยบายเร่งด่วนของ นายเศรษฐา ทวีสิน ที่สั่งการมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้แสดงผลงาน จึงควรจะขยายข้อสั่งการไปยัง ธนาคารของรัฐ ให้แสดงผลงานเช่นกัน เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและธนาคารของรัฐอื่น ๆ เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความวางใจ ว่า ธนาคารของรัฐ สามารถรักษาเงินของประชาชนไว้ได้สำเร็จมากขึ้น ให้เป็นตัวชี้วัดของการกำกับดูแลกิจการที่ดีของผู้บริหารธนาคารรัฐทุกระดับชั้น และกลายเป็นต้นแบบตัวอย่างที่ดีให้ธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ของเอกชนเกิดความตื่นตัวช่วยเหลือรักษาเงินของประชาชนรวดเร็วขึ้นกว่าทุกวันนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลเร่งพัฒนาแพลตฟอร์ม สกัดมิจฉาชีพโทร-ส่งข้อความหลอกลวง คาดพร้อมใช้ต้นปี 68

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน

ตร. แถลงจับจีนเทาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่าเบอร์โทร 02 นับหมื่นเลขหมาย โทรหลอกกว่า 700 ล้านครั้ง

พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. แถลงผลการปฏิบัติการ “มาตรการระเบิดสะพานโจร” 2 ปฏิบัติการ จับแก๊งจีนเทาเช่าเบอร์โทร 02-xxxxxxx กว่าหมื่นเลขหมาย โทรหลอกประชาชนมากกว่า 700 ล้านครั้ง และใช้เครื่องส่ง SMS ปลอม (False Base Station) ส่งข้อความถึงประชาชนภายใน 3 วัน เกือบล้านครั้ง

จับแล้ว! 2 แม่ลูก แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ลูบคม 'ปธ.กมธ.ตำรวจ'

พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 (ผบก.สอท.5) พ.ต.อ.อุกฤช ศรีนิติวรวงศ์ ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ

เตือนระวังข่าวปลอม ลงทะเบียนคุ้มครองสิทธิแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ดีอี เตือน อย่าเชื่อ-แชร์ ข่าวปลอม “เปิดลงทะเบียนคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผ่านเพจ หน่วยงานคุ้มครองสิทธิ์อาชญากรรมทางออนไลน์” หวั่นปชช.สูญเงิน-ข้อมูลส่วนบุคคล

บุกจับ 3 นายหน้าจัดหาซิมผีบัญชีม้า ขายแก๊งคอลเซ็นเตอร์

พ.ต.อ.อนุชา ศรีสำโรง ผู้กำกับกองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 4 (ผกก.2 บก.สอท.4) นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.สอท.4 จับกุมนายธนกร