ศาลปกครองสูงสุด ไม่รับคำขอพิจารณาคดีใหม่ของนิติบุคคล 'แอชตัน อโศก' ชี้ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย

ศาลปค.สูงสุด สั่งยืนไม่รับคำฟ้องขอพิจารณาคดีใหม่ของนิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศก ชี้ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย ระบุหากมองถูกกระทบสิทธิการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ยื่นฟ้องศาลได้

10 เม.ย.2567 - ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลางไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของนิติบุคคลอาคารชุด แอชตัน อโศก ไว้พิจารณา

โดยคดีดังกล่าวนิติบุคคลอาคารชุดแอชตันอโศก ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคารโครงการอาคารชุด แอชตัน อโศก โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือฉบับดังกล่าวลงวันที่ 23 ก.พ.58 โดยอ้างว่าคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดดังกล่าวมีผลกระทบต่อการจดทะเบียนอาคารชุด แอชตัน อโศก หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด และการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับห้องชุด ทำให้นิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน และเจ้าของร่วมไม่สามารถเข้าไปดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางและทรัพย์สินส่วนบุคคลได้ และการรื้อถอนอาคารชุดจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่นิติบุคคลอาคารชุดแอชตันและเจ้าของร่วมในอาคารชุด แอชตัน อโศก อย่างร้ายแรงจนยากแก่การเยียวยา และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากผลแห่งคำพิพากษาดังกล่าวจะขยายวงกว้างออกไปมากกว่าเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนที่ฟ้องคดีจะได้รับ

ส่วนเหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งดังกล่าวระบุว่าที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ 351/2567 วินิจฉัยว่า การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างฯ และใบรับแจ้งการก่อสร้างฯ ที่ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ออกให้แก่บริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด มีผลในทางกฎหมายเพียงว่า บริษัทอนันดาฯ ก่อสร้างและดัดแปลงอาคารชุดโครงการ แอชตัน อโศก โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องไปพิจารณาดำเนินการตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 ต่อไป แต่ไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนการจดทะเบียนอาคารชุด หนังสือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด และการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดของโครงการ แอชตัน อโศก แต่อย่างใด หากข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ใช้อำนาจดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวกับอาคารโครงการแอชตัน อโศก ก็ไม่เป็นการตัดสิทธินิติบุคคลอาคารชุดแอชตันฯและเจ้าของร่วมจะใช้สิทธิทางศาลต่อไป

กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า คำพิพากษาของศาลปกครองในคดีนี้มีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน ฯและเจ้าของร่วมอาคารชุด โครงการแอชตัน อโศก ดังนั้นนิติบุคคลอาคารชุด แอชตันฯ จึงไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีนี้ในอันที่จะมีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองนั้นใหม่ได้ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542

เมื่อไม่ใช่บุคคลภายนอก ผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า มีเหตุที่ศาลปกครองจะพิจารณาคดีนี้ใหม่ได้ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (4) ตามอุทธรณ์ของนิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน ฯหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำขอของนิติบุคคลอาคารชุดแอชตันไว้พิจารณา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครบองค์ประกอบ! เรืองไกรร้องผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลปกครองตีตกดิจิทัลวอลเล็ต

'เรืองไกร' ขอผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลปกครองวินิจฉัยล้มดิจิทัลวอลเล็ต เหตุเลือกปฏิบัติไม่เสมอภาคขัดรัฐธรรมนูญ

ยุ่งแล้ว! อดีตผู้สมัคร สว. จ่อร้องศาลปค.สูงสุด ไต่สวนคุ้มครองประกาศผลเลือก สว.

อดีตผู้สมัครสว. จ่อยื่นศาลปกครองสูงสุด ขอไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราวประกาศผลเลือกสว.ชุดเชื่อมโยงการเมือง ชี้เป็นการเลือกสว.ที่มีการหักหลังกันอย่างน่าเกลียด น่าเวทนา จี้กกต.ฟันสว.นกแล และผู้สมัครแจ้งประวัติไม่ตรงกลุ่มอาชีพ

'ดร.สามารถ' แพร่บทความ บทเรียนสูญ 1.3 แสนล้าน รถไฟฟ้าสายสีส้ม ต้องมีผู้รับผิดชอบ

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ รถไฟฟ้าสายสีส้ม "บทเรียนที่ต้องเรียน" มีเนื้อหาดังนี้

'ศาลปค.สูงสุด' ชี้ขาดแล้ว รฟม.เดินหน้าเซ็นสัญญา BEM ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องในคดี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอส) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562