8 เม.ย.2567 - แพทย์หญิงธนิกา เกตุเผือก แพทย์จากหน่วยวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้โพสต์บทความไขข้อสงสัยว่า PM2.5 นั้นเป็นสาเหตุของมะเร็งปอดจริงหรือไม่
ปัญหามลภาวะทางอากาศของเชียงใหม่ รวมถึงหลาย ๆ จังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทย มีมานานกว่า 10 ปี และมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา มลภาวะทางอากาศในระดับรุนแรงที่ดูกันง่าย ๆ จาก Air quality index (AQI) ว่าเป็นสีแดง สีม่วงนั้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพชัดเจน ทั้งโรคทางเดินหายใจ โรคทางหลอดเลือดสมองและหัวใจ และแน่นอนคือมะเร็งปอด
สำหรับ Particulate matter (PM) 2.5 คือ วัตถุที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ก็คือเล็กกว่ามิลลิเมตรพันเท่า เลยสามารถลงไปในปอดส่วนลึกได้ มะเร็งปอดคนทั่วไปจะเข้าใจว่าสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องและมีความสัมพันธ์กัน ยิ่งสูบเยอะ สูบนาน ยิ่งเพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งปอด แต่ปัจจุบันพบว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่สามารถเป็นมะเร็งปอดได้เช่นเดียวกันและพบได้ไม่น้อย โดยเฉพาะในคนที่มีอายุน้อย เพศหญิงและเป็นชาวเอเชียตะวันออก
เริ่มแรกตั้งแต่ปี 2009 มีการศึกษาพบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่มีลักษณะเช่นนี้ สัมพันธ์กับยีนกลายพันธุ์ที่เรียกว่า EGFR แต่สาเหตุของการเกิดมะเร็งปอดในผู้ป่วยกลุ่มนี้นั้น มีหลายปัจจัยส่งเสริม เช่น พันธุกรรม เชื้อชาติ การได้รับสารก่อมะเร็ง และมลภาวะทางอากาศ มีการศึกษาพบว่า ทุกๆ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น 1 ไมโครกรัมมิลลิเมตร ทำให้อุบัติการณ์ของ มะเร็งปอดที่มียีนกลายพันธุ์ EGFR เพิ่มขึ้น ทั้งจากประชากรในประเทศอังกฤษ เกาหลีใต้และไต้หวัน และพบว่าผู้ที่ได้รับมลภาวะทางอากาศสูงเป็นเวลา 3 ปี เกิดมะเร็งปอดที่มียีนกลายพันธุ์ EGFR มากกว่าผู้ที่ได้รับมลภาวะทางอากาศน้อย 1.08 เท่า ดังนั้นหากอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีมลภาวะทางอากาศสูง 3 ปีก็เพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดมะเร็งปอดชนิดนี้
จากการศึกษาในหนูพบว่า PM เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดมะเร็งปอดในหนูที่มียีนกลายพันธุ์ EGFR และ KRAS อยู่แล้ว โดยกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มขึ้นของเซลล์ที่มียีนกลายพันธุ์ทั้งในปอดปกติที่ยังไม่เกิดมะเร็งและในรอยโรคที่มีแนวโน้มที่จะเกิดมะเร็งในอนาคต ผ่านการกระตุ้นการอักเสบและการสร้างสารอักเสบ (Inflammatory cytokines) IL-1B
นอกจากนี้การศึกษาที่นำเนื้อเยื่อจากปอดปกติของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งและผู้ป่วยที่มีก้อนเล็ก ๆ ที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง 295 คน มาตรวจ พบว่า 18% ของเนื้อเยื่อปอดปกตินี้มียีนกลายพันธุ์ EGFR อยู่แล้ว และ 53% มียีนกลายพันธุ์ KRAS
ดังนั้นจากการศึกษาทั้งหมดที่กล่าวมา สรุปได้ว่า PM2.5 เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดมะเร็งปอด โดยเฉพาะในคนที่มีการกลายพันธุ์ของยีน EGFR และ KRAS อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่า PM2.5 นั้นเป็น “ปัจจัยกระตุ้น” ไม่ใช่สาเหตุ และในปัจจุบันเราไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า ในผู้ป่วยคนหนึ่งที่เป็นมะเร็งปอดนั้นมีสาเหตุจากอะไรได้แน่นอน เนื่องจากกระบวนการเกิดมะเร็งดังกล่าวซับซ้อนและเกิดได้จากหลายปัจจัยกระตุ้นดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เมื่อทราบดังนี้แล้ว จึงไม่ควรอยู่ในบริเวณที่มีมลภาวะทางอากาศสูง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใส่หน้ากากที่ป้องกัน PM2.5 ได้แก่ หน้ากาก N95 เป็นต้นไป จึงจะสามารถกรองอนุภาคเหล่านี้ได้ งดกิจกรรมกลางแจ้ง อยู่ในอาคารและเปิดเครื่องฟอกอากาศ
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
PM2.5 มาแล้ว พบ ‘กทม.’ ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่
ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ พบเกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพฯ
คนกรุงอ่วม! ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน 27 พื้นที่
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้
คุณภาพอากาศทั่วไทยอยู่ระดับปานกลางถึงดีมาก!
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ