4 เม.ย.2567 - จากกรณีองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ใช้รถกอล์ฟอัญเชิญพระเกี้ยว ในขบวนพาเหรดงานฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬา-ธรรมศาสตร์ CU-TU Unity Football Match 2024 ที่สนามศุภชลาศัย
ล่าสุด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของเพจ "เลี้ยงลูกนอกบ้าน" ได้โพสต์ข้อความว่า #ว่าด้วยเรื่องอัญเชิญพระเกี้ยว
วันนี้มีอาจารย์มาทักถามว่า ในฐานะหมอที่ทำงานกับวัยรุ่น คิดเห็นยังไงเรื่องเชิญพระเกี้ยวและมอง “นิสิตนักศึกษาสมัยนี้” ยังไง พอดีได้มีโอกาสคุยกับน้องๆ นิสิตนักศึกษาอยู่เรื่อยๆ เลยมีอะไรอยากมาแลกเปลี่ยนประมาณนี้นะคะ
1. การเปลี่ยนแปลง คือหนึ่งในกฏหลักของจักรวาล “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป” พระพุทธเจ้าท่านกล่าวไว้แบบผู้เข้าใจถึงความจริง
2. การเป็นนิสิตนักศึกษา การใช้ชีวิตใน “รั้วมหาวิทยาลัย” คือพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ทดลอง ลองผิดลองถูก เพื่อการเติบโตออกไปเป็นผู้ใหญ่ในภายภาคหน้า
3. “การแบกเสลี่ยง” มีความหมายทั้งแค่การแบกตราสัญลักษณ์ ไปจนถึงการแบกคุณค่า ความเชื่อ ความศรัทธา ซึ่งเราอาจมองคุณค่าสิ่งเหล่านี้แตกต่างกัน
4. การเชิญพระเกี้ยวและการแปรอักษร เป็นปัญหากับนักศึกษามาหลายปี ทั้งหาคนมาทำไม่ได้ หลายคนมองว่าเป็นเรื่อง beauty standard การใช้เส้นสาย เป็นการมองคนสูงต่ำไม่เท่ากัน ไปจนถึงเคยมีกติกาทำให้เกิดการบังคับกัน (ไม่ได้อยู่หอใน ถ้าไม่ขึ้นแสตนด์เชียร์?)
5. ตอนนี้คนที่ได้เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย ทั้งจุฬาและธรรมศาสตร์ “ส่วนใหญ่” คือคนที่อยู่บนยอดปิระมิดแห่งความเหลื่อมล้ำ ซึ่งก็คือเด็กที่มีชีวิตค่อนข้างสุขสบายในสังคม (ก็เป็นไปได้ที่คนเหล่านี้จะไม่อินกับการไปนั่งแปรอักษรท่ามกลางอากาศ 40 องศา)
6. “นิสิตปัจจุบัน” มีหน้าที่แก้ปัญหา ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ลองผิดลองถูก กับการแก้ปัญหาขาดแรงงานและการ “สร้างสมดุล” ให้กับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย
7. ได้คุยกับนิสิตจุฬาบางคน เค้าบอกว่าความภูมิใจในสถาบันไม่ได้อยู่ที่การมี “พระเกี้ยว” ที่ทำให้อยู่เหนือใคร แต่เป็นความภูมิใจ ถ้าสถาบันได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับสังคม
8. เป็นธรรมดามากๆ ที่คนส่วนหนึ่งในสังคมจะรู้สึกไม่เห็นด้วย รู้สึกไม่พอใจ เพราะเราก็เติบโตมากับคนที่ให้คุณค่ากับเรื่องคนละเรื่อง แต่ช่วยระวังไว้ว่าการไปแปลว่าเขา “ด้อยค่า” อาจแปลไปตามอคติในใจของเราเอง
9. เราสามารถแสดงความไม่เห็นด้วย เพราะการที่มีคนในสังคมไม่เห็นด้วย ก็เป็นการเรียนรู้ของการอยู่ร่วมกันในรูปแบบหนึ่ง (เชื่อสิ เค้าก็อาจจะมองว่าเป็นการเรียนรู้ของผู้ใหญ่เหมือนกันนะ)
10. สำหรับศิษย์เก่าที่รู้สึกไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น แทนการด่าทอโวยวาย เราอาจมาช่วยกันทำให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ เช่น จัดอาสาสมัครศิษย์เก่าขึ้นสแตนเชียร์ เปิดรับบริจาคจ้างคนแบกพระเกี้ยวให้สมพระเกียรติ ฯลฯ เพื่อเป็นแบบอย่างให้นิสิตปัจจุบันได้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา
11. เราบังคับคนทุกคนคิดเห็นเหมือนเราไม่ได้ เราสามารถเป็นตัวอย่างของการอยู่ร่วมกับความแตกต่างด้วยการแสดงออกทางความคิดอย่างมีวุฒิภาวะได้ เช่น “ในฐานะศิษย์เก่า รู้สึกไม่สบายใจ อยากได้รับความเข้าใจว่าพระเกี้ยวยังเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ให้ความเคารพ อยากให้น้องๆ พิจารณาเรื่องรถตกแต่งพระเกี้ยวให้ดูสมพระเกียรติมากกว่านี้” (เด็กรุ่นนี้เค้าจะได้เห็นตัวอย่าง และเก็บเอาไปใช้ในวันข้างหน้า)
12. เรายังต้องเจอการต่อสู้กันทางความคิดและการให้คุณค่าในเรื่องที่แตกต่างอีกมากมายในกาลข้างหน้า… ขึ้นกับว่าเราจะอยู่กับคนรุ่นใหม่แบบเป็น “ศัตรู” หรือจะอยู่แบบคนที่อยาก “เรียนรู้ร่วมกัน”
13. ถ้าเราเลือกจะอยู่กันแบบเป็นศัตรู สิ่งที่เราต้องรู้ คือ ส่วนใหญ่คนรุ่นเราจะตายก่อน
14. ของบางอย่างเมื่อทำให้เอื้อมถึงได้ ปรับเปลี่ยนได้ ก็อาจจะมีคุณค่า มีความหมาย และ “ดำรงอยู่ได้” ในความงดงามอีกรูปแบบหนึ่ง
15. อะไรที่ไม่ต้องแบกไว้ บางทีก็เบาสบายดี
ขออภัยที่บทความอาจจะไม่ตรงใจใครหลายคนนะคะ เขียนจบ ก็พบว่า อยากตอบอาจารย์ไปแบบนี้จริงๆ ว่า “มันก็เป็นเรื่องของพวกเค้านะคะอาจารย์ เราก็ไม่ได้ไปทนแดดทนร้อนกับพวกเขาซักกะหน่อย เขาก็คงต้องค่อยๆ เรียนรู้กันไปนะคะ”
#หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ผู้มีความรักและภูมิใจในพระเกี้ยวน้อยอยู่เสมอ… แม้ไม่มีใครแบก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จุฬาฯ จับมือกรม Climate Change และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน เปิดตัวหลักสูตร “TOP Green” หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้าน Sustainability
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ UN Global Compact Network Thailand
จุฬาฯ “เปิดแพลตฟอร์ม ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” นวัตกรรมเตือนพื้นที่น้ำท่วมและแนวดินถล่มจากอุทกภัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 25 เรื่อง “แพลตฟอร์มจุฬาฯ ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” เพื่อนำเสนอนวัตกรรมจากคณาจารย์นักวิจัยจุฬาฯ
จุฬาฯ อันดับ 1 มหาวิทยาลัยไทย Top ของประเทศ 3 ด้าน จากการจัดอันดับโดย THE WUR 2025
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของไทย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกโดย The Times Higher Education World University Rankings 2025 (THE WUR 2025) จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลกที่ได้รับการจัดอันดับกว่า 2,000 แห่ง กว่า 115 ประเทศ