19 เด็กไร้สัญชาติถูกออกเรียนกลางคันอีก พม.จับมือตม.เตรียมส่งกลับฝั่งพม่าหลังพบไปเรียนอยู่ลพบุรี มูลนิธิบ้านครูน้ำ ยื่น กสม.สอบด่วน เผยละเมิดสิทธิเด็กซึ่งหนีภัยการสู้รบ-ยาเสพติด
23 มี.ค.2567 - น.ส.นุชนารถ บุญคง ผู้ก่อตั้งมูลนิธิบ้านครูน้ำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ทางมูลนิธิบ้านครูน้ำ ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)เพื่อขอให้ กสม. ตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิและคุ้มครองหน่วยงานที่ทำงานด้านเด็ก เนื่องจากเมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา เด็กชายไร้สัญชาติจำนวน 19 คน อายุระหว่าง 5-17 ปี ถูกส่งกลับมาจาก วัดสว่างอารมณ์ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี มายังมูลนิธิบ้านครูน้ำ และถูกนำตัวไปยังบ้านพักเด็กในกลางดึกคืนทันที ทำให้ทางมูลนิธิมีความกังวลใจเนื่องจากตอนแรกมีข้อตกลงร่วมกันตรวจสอบและดำเนินการอย่างละมุนละม่อมในการคุ้มครองดูแลเด็กตามกระบวนการ
น.ส.นุชนารถกล่าวว่า เมื่อเด็กชายทั้งหมดมาถึงกลับไม่เป็นไปตามข้อตกลง โดยมีการควบคุมตัวเด็กอย่างเข้มงวด แยกเด็กไม่ให้พบญาติพี่น้องและมูลนิธิฯ ไม่ให้พักที่บ้านพักมูลนิธิฯ 1 คืนตามที่ตกลง และสิ่งที่ทางมูลนิธิฯพยายามเจรจาผ่านพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด(พมจ.)คือขอให้เด็กได้เรียนจบชั้น ป.1 ก่อนแล้วจึงนำกลับมาจากจังหวัดลพบุรีเพื่อให้เด็กสามารถศึกษาต่อในที่ใหม่ได้
“เราทราบว่าเขากำลังจะตรวจสอบมูลนิธิฯซึ่งทำให้เสี่ยงที่จะถูกสั่งปิด และดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด ในขณะที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาก็มีการทำงานช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนตามตะเข็บชายแดนและคุ้มครองเด็กให้พ้นจากความเสี่ยงการค้ามนุษย์ และทำงานร่วมกับทางการหลายกรณี แต่ตอนนี้ไม่สามารถติดต่อเด็ก ๆ ได้ และทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขออย่าเพิ่งติดต่อไป ขอดำเนินการสอบเด็ก ๆ และขอเอกสารข้อมูลการเกิด พ่อแม่ เพื่อยืนยันเพื่อส่งกลับ”ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯกล่าว
น.ส.นุชนารถ กล่าวว่า เด็กทั้ง 19 คน เป็นเด็กถูกพ่อแม่ญาติพี่น้องที่เป็นแรงงานข้ามชาตินำออกมาจากสถานการณ์สู้รบในประเทศพม่า และขอร้องให้ทางมูลนิธิฯช่วยดูแลไว้ก่อนจำนวน 16 คน โดยผ่านบ้านป้าอำ ซึ่งเป็นคนที่รับดูแลเด็ก ๆ เร่ร่อนหรือลี้ภัยที่อำเภอแม่สายที่เป็นเครือข่ายมูลนิธิฯ และเป็นเด็กชายจำนวน 3 คน ที่พ่อแม่ถูกจับที่ สปป.ลาว โดยลุงพามาฝากที่มูลนิธิฯ แต่เนื่องด้วยในเวลานั้นเด็กทะลักเข้ามามากและเกินกำลังที่จะดูแลได้ เพราะขณะนี้ดูแลเด็กอยู่จำนวน 82 คน และต้องการให้พ้นจากพื้นที่เสี่ยงชายแดน และในช่วงนั้นต้นปี 2566 ได้รู้จักพระอาจารย์จากวัดสว่างอารมณ์และทราบว่ามีโครงการบวชสามเณรภาคฤดูร้อนได้ส่งไปบวชภาคฤดูร้อนจึงประสานไปเพื่อให้เด็กได้บวชและอยู่ในที่ปลอดภัยอย่างน้อย 1 เดือน แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาสึกทางสามเณรไม่ต้องการสึก และทางพระอาจารย์ที่มารับเด็กไปบวชแจ้งว่าเด็ก ๆ ปรับตัวกับพื้นที่ได้ดีสามารถอยู่เพื่อเรียนต่อได้ จึงได้ไปเยี่ยมเด็ก ๆ ทราบว่าเด็กอยากอยู่และเรียนที่ลพบุรี จึงมีการไปเยี่ยมทุก 2 เดือน และเห็นว่าทางวัดได้ดูแลเด็ก ๆ เป็นอย่างดี
น.ส.นุชนารถกล่าวว่า จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์นำเด็กต่างด้าว 126 กลับจาก จ.อ่างทองในเดือนกรกฎาคม 2566 ส่งกลับเมียนมา ทางมูลนิธิฯ จึงได้พยายามประสานพ่อแม่ญาติพี่น้องของเด็ก เพื่อเตรียมตัวนำกลับมาที่ จ.เชียงราย และกลับมาทำหนังสือให้ถูกต้องตามกฎหมาย หาแนวทางให้เด็กได้เรียนต่อ จึงติดต่อไปกับทางวัดสว่างอารมณ์เพื่อส่งเด็กกลับมา แต่ทางพระอาจารย์ที่วัดให้เข้าไปคุยกับเด็กๆ เอง ในเดือนกันยายน 2566 จึงได้ไปพูดคุยกับเด็ก ๆ อีกครั้ง ปรากฎว่าเด็ก ๆ ยืนยันที่จะอยู่ที่วัดต่อ เราจึงได้พาสามเณรกลับมาได้ 1 คนซึ่งป่วยที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดและรักษาต่อเนื่อง
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯกล่าวว่า ครั้งสุดท้ายที่ไปพบปะเยี่ยมสามเณรคือเดือนมกราคม 2567 และปรากฏว่าในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ทาง พมจ.ลพบุรีได้เข้าปูพรมตรวจสอบพื้นที่ในจังหวัดลพบุรี โดยได้เข้าตรวจค้นที่วัดสว่างอารมณ์ด้วย และได้สอบเด็ก และพระอาจารย์ที่ดูแล ซึ่งเราได้รับการติดต่อจากบ้านพักเด็กเชียงราย ขอข้อมูลที่ส่งเด็กจาก จ.เชียงรายไปยัง จ.ลพบุรี มูลนิธิฯก็ได้ให้ความร่วมมือให้ข้อมูลและเข้าพบหัวหน้าบ้านพักเด็ก จ.เชียงราย เพื่อเตรียมความพร้อมให้ส่งเด็กกลับมาในช่วงปิดเทอม เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก แต่ปรากฏว่าทุกอย่างไม่เป็นไปตามนั้น
น.ส.นุชนารถกล่าวว่า ในคืนวันที่ 10 มี.ค.เราได้รับการติดต่อจากวัดว่าจะนำเด็กกลับทั้งที่อีกไม่กี่วันเด็กจะสอบปิดภาคเรียนแล้ว แต่หลังจากนั้นก็ติดต่อกับทางวัดไม่ได้อีกเลย จนกระทั่งคืนวันที่ 12 มี.ค. ได้รับการติดต่อมาจาก พมจ.เชียงราย และ ต.ม.เชียงแสนว่าจะเข้ามารับเด็ก ๆ ไปยังบ้านพักเด็กเมื่อเด็กมาถึง เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมาย
“ในการช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน ลี้ภัยสงคราม ตามตะเข็บชายแดน ให้พ้นจากความเสี่ยงการค้ามนุษย์ ความเสี่ยงการขายบริการ และเสี่ยงจากการเป็นเครือข่ายยาเสพติด รู้ว่าการทำงานของมูลนิธิฯ และเครือข่ายไม่ว่าจะเป็น Drop in ศูนย์เรียนรู้เด็กเร่ร่อนแม่สายที่ดูแลเด็กที่แวะเวียนมาเรียนกว่า 50 คน บ้านป้าอำ อ.แม่สาย และเครือข่ายอีกจำนวนมาก ที่คอยคัดกรอง และการให้การสนับสนุนกัน ในการคุ้มครองเด็ก ต่างมีความเสี่ยงผิดกฎหมายไปแล้วครึ่งหนึ่ง แต่ทำงานกันมากกว่า 35 ปี ช่วยเด็กมากกว่า 358 คน ไม่รวมเด็กเร่รอนที่ไปกลับเวียนมา เด็ก ๆ เหล่านี้ได้เรียนต่อตามความสามารถ ซึ่งได้ช่วยเด็กพ้นจากความเสี่ยงและลดอาชญากรรมตามชายขอบที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทยด้วย” น.ส.นุชนารถกล่าว
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิบ้านครูน้ำ กล่าวว่า การเกิดทุนสีเทา เวปพนัน คอลเซ็นเตอร์ การค้ามนุษย์ ยาเสพติดรุนแรงขึ้น ในทุกด้านของชายแดน ทำให้เด็กมีความเสี่ยงสูงขึ้นมากมีการทะลักเข้ามาเป็นจำนวนมากอย่างน่ากังวล ต่างกับเมื่อก่อนที่จะมีเพียงปัญหาถูกกระทำภายในครอบครัว แต่ตอนนี้ปัญหารอบด้านทีตะเข็บชายแดน หากยังติดเรื่องหลักเกณฑ์ รอช่วยเหลือที่ปลายทางไม่สามารถรับมือกับหาได้ จึงอยากให้รัฐบาลได้เห็นถึงสภาพปัญหาที่รุนแรงเพื่อรับมือให้ทันกับการทะลักของคนเร่ร่อน ลี้ภัยที่ตะเข็บชายแดน แก้ปัญหาอย่างตรงจุด
ด้านแหล่งข่าว ตม.เชียงแสน กล่าวว่า ขณะนี้การดำเนินการอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของสหวิชาชีพ ทำงานร่วมกับ พมจ.เชียงราย ได้ประสาน ตม.แม่สาย ติดต่อทาง ตม.ท่าขี้เหล็กเพื่อประสานหาผู้ปกครองเด็ก ๆ เพื่อส่งกลับสู่พ่อแม่และส่งกลับประเทศพม่า หากไม่สามารถติดต่อผู้ปกครองได้ก็เข้าสู่ขบวนการการสงเคราะห์ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
การเคหะแห่งชาติเข้าร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวง พม. ครบรอบ 22 ปี
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีสงฆ์และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
สภาฯเถียงกันวุ่น 'กฎหมายห้ามตีเด็ก' ก่อน กมธ.ยอมถอนร่างกลับไปทบทวนใหม่
ที่รัฐสภา มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ... ซึ่งมีนายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ ในวาระสอง
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ศรส.พม.เปิดตัว "น้องโอบอุ้ม" ฮีโร่ตัวเล็กใจใหญ่ หน้าใหม่ไฟแรง
จากปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นกับประชาชนทุกเพศทุกวัยมากมายในหลากหลายรูปแบบ ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส.ภายใต้สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
พม. จับมือเครือข่าย ปฏิบัติการต่อเนื่อง “พม. ร่วมใจ สานสายใย พี่น้องเปราะบาง ชุมชนริมคลองเปรมประชากร” ยกระดับชาวรังสิตเข้มแข็งถ้วนหน้า
วันที่ 5 กันยายน 2567 เวลา 09.00 น. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานในพิธีปิดปฏิบัติการ
ร้อยดวงใจ จิตอาสา พัฒนาชุมชนท้องถิ่น “ปลูกป่า เฉลิมพระเกียรติ ในหลวง ร. 10” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา
นครพนม/ วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2567 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)