กสม. ชี้กรณีประกันภัยโรคโควิด 19 ละเมิดสิทธิผู้บริโภค แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข เยียวยาผู้เอาประกันภัยที่ไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทน
15 มี.ค. 2567 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 และเดือนมกราคม 2566 ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เห็นชอบให้บริษัทประกันวินาศภัยขายกรมธรรม์ประกันภัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยไม่พิจารณาให้รอบคอบ และปล่อยให้บริษัทประกันวินาศภัย 5 แห่ง ขายกรมธรรม์จนประสบปัญหาการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ต่อมาบริษัทประกันวินาศภัย 4 แห่ง ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ คปภ. จึงได้แต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เป็นผู้ชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยของบริษัททั้งสี่ ผู้ร้องเห็นว่า คปภ. คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ กปว. คณะกรรมการบริหารกองทุนประกันวินาศภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจดังกล่าว ไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเหมาะสมและเพียงพอเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค เมื่อผู้ร้องติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และได้ยื่นเอกสารเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ประกันภัยประเภท “เจอจ่ายจบ” ผ่านช่องทางออนไลน์ของบริษัทประกันวินาศภัย 4 แห่งที่ได้ซื้อกรมธรรม์ไว้ ซึ่งต่อมาผู้ร้องต้องยื่นคำทวงหนี้ค่าสินไหมทดแทนต่อ กปว. แทนนั้น ผู้ร้องได้สอบถามความคืบหน้าไปยัง กปว. หลายครั้งแต่ไม่เคยได้รับแจ้ง และเห็นว่าการชำระหนี้คืนเป็นไปด้วยความล่าช้า จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองให้บุคคลมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ เสนอเรื่องราวร้องทุกข์และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว และรับรองสิทธิของผู้บริโภค โดยรัฐต้องจัดให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค
จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2565 บริษัทประกันวินาศภัย 36 แห่ง ได้ขายกรมธรรม์ประกันภัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมประมาณ 50 ล้านฉบับ โดยมี คปภ. เป็นผู้ให้ความเห็นชอบแบบ ข้อความ และอัตราเบี้ยประกันภัย ภายหลังปรากฏว่า มีผู้เอาประกันภัยจำนวนมากไม่ได้รับความสะดวกในการขอค่าสินไหมทดแทน มีการปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือบอกเลิกสัญญากรณีตามคำร้องนี้เมื่อบริษัทประกันวินาศภัย 4 แห่ง จาก 5 แห่ง ไม่สามารถชำระค่าสินไหมทดแทนได้และถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ โดย คปภ. ได้แต่งตั้ง กปว. เป็นผู้ชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้แทนนั้น ปรากฏว่า มีผู้มายื่นคำทวงหนี้จาก กปว. กว่า 683,000 ราย รวมเป็นเงินมากกว่า 60,000 ล้านบาท แต่เงินกองทุนของ กปว. มีไม่เพียงพอ และมีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถกู้เงินเพื่อนำมาชำระหนี้ได้ ส่งผลให้อาจต้องใช้เวลาถึง 40 ปี จึงจะชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยทุกรายได้ ขณะที่บริษัทประกันวินาศภัยแห่งที่ 5 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ มีคำสั่งให้บริษัทประกันวินาศภัยแห่งที่ 5 หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว อย่างไรก็ดี การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หากผู้เอาประกันภัยยื่นเอกสารครบถ้วน ถูกต้อง บริษัทยังสามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว มีประเด็นที่ต้องพิจารณา 3 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่ 1 กรณีที่บริษัทประกันวินาศภัย 5 แห่ง เสนอขายกรมธรรม์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย เห็นว่า บริษัทประกันวินาศภัยย่อมเห็นความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ แต่ยังคงขายกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และประกอบกิจการโดยไม่มีมาตรการรองรับความเสี่ยงหรือประเมินความสามารถในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของตน จนไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย จึงเป็นการดำเนินการที่กระทบสิทธิของผู้บริโภค อีกทั้งยังไม่เป็นไปตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UNGPs) จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทประกันวินาศภัย 4 แห่ง ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ กสม. จึงไม่อาจมีข้อเสนอแนะไปยังบริษัททั้งสี่ได้ แต่เห็นควรมีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อบริษัทประกันวินาศภัยแห่งที่ 5
ประเด็นที่ 2 กรณีที่ คปภ. และคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ให้ความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ไม่มีการกำกับดูแลบริษัทประกันวินาศภัยอย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้บริษัทประกันวินาศภัย 4 แห่ง ถูกเพิกถอนใบอนุญาต และผู้เอาประกันภัยไม่ได้รับความสะดวกในการยื่นเรื่องขอรับค่าสินไหมทดแทนและติดตามเรื่อง เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ประเด็นที่ 3 กรณีที่กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) และคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันวินาศภัย (ผู้ถูกร้องที่ 9) ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยล่าช้า และไม่แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการ เห็นว่า ผู้ถูกร้องทั้งสองมีหน้าที่ต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด รวมถึงแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการแก่เจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัย เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองไว้ การที่ กปว. ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยล่าช้าและไม่แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการให้ผู้ร้องทราบ จึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 จึงมีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ว่า
(1) ให้บริษัทประกันวินาศภัยแห่งที่ 5 เร่งชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย และให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในฐานะนายทะเบียนกำกับดูแลการดำเนินการดังกล่าวให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ หากบริษัทไม่สามารถชำระค่าสินไหมทดแทนได้ ให้ คปภ. ร่วมกับคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจอย่างเคร่งครัด
(2) ให้ คปภ. และคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เร่งแก้ไขพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อกำกับดูแลและเข้าแก้ไขปัญหาการดำเนินกิจการของบริษัทประกันวินาศภัยได้อย่างทันท่วงที โดยกำหนดแนวทางในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เอาประกันภัยที่ร้องเรียนเกี่ยวกับการยื่นขอรับชำระค่าสินไหมทดแทนและมีกระบวนการติดตามเรื่องที่มีประสิทธิภาพ
(3) ให้กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) และคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันวินาศภัย เร่งกู้เงินหรือจัดหาเงินจากสถาบันการเงินตามหน้าที่และอำนาจ เพื่อชำระหนี้ให้แก่ผู้เอาประกันภัย และหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงความเป็นไปได้ในการออกตราสารหนี้และกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้ในการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการเพิ่มอัตราเงินสมทบจากการขายเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย
(4) ให้กระทรวงการคลังและสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเร่งพิจารณาจัดหางบประมาณ แหล่งเงินทุน หรือแนวทางการช่วยเหลืออื่น เพื่อให้ กปว. มีเงินเพียงพอสำหรับนำไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัย
นอกจากนี้ มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไปยัง คปภ. และคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ให้กำหนดหลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัยที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยขึ้นอีกในอนาคต และกำหนดให้บริษัทประกันวินาศภัยจัดทำสรุปรายละเอียดของกรมธรรม์ประกันภัยที่เสนอขายด้วยถ้อยคำที่เข้าใจได้ง่าย รวมทั้ง แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับงบการเงินและรายงานการดำรงเงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัย ให้ผู้บริโภคใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งนี้ ให้หารือร่วมกับ กปว. เพื่อกำหนดประเภทของเอกสารที่ คปภ. ต้องส่งให้ กปว.โดยเร็วหลังจากมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย เพื่อให้ กปว. ใช้ประกอบการพิจารณาชำระบัญชีและชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยได้ภายในกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ ยังมีข้อเสนอแนะให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กำหนดนโยบายที่เป็นรูปธรรมและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการควบคุมดูแลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้ปฏิบัติตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ โดยเฉพาะการเยียวยาผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะเดียวกันขึ้นอีกในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กสม. ชื่นชมรัฐบาล เร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะบุคคลแก่ผู้ที่ยังมีปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ตามที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ (High-Level Segment on Statelessness) เ
กสม.ขยับ! ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 3 ข้อในคดีตากใบ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์
กสม. ชี้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ
กสม. ชี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ตร. อบรมเสริมความรู้ด้านการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ
จองเวรต่อ! ยกผลสอบ กสม. สอย 'นายกฯอิ๊งค์' พ่วง 2 รมต.
'เรืองไกร' จองเวรต่อ! ยกคำวินิจฉัย กสม. ร้อง กกต. ส่งศาลรัฐธรรมนูญ สอย 'นายกฯอิ๊งค์' พ่วง 'สมศักดิ์-ทวี' ส่อขัด ม.160 ฝ่าฝืนจริยธรรมข้อ 8
กสม.ส่งมอบแผนพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมาน-การปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม
กสม. ส่งมอบแผนพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ตร. ขานรับพร้อมยกระดับการคุ้มครองสิทธิประชาชนในสถานที่ควบคุมตัว
กสม.แนะแก้ระเบียบราชทัณฑ์ให้ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ สวมเสื้อชั้นในได้
กสม. แนะแก้ระเบียบราชทัณฑ์ว่าด้วยการแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถสวมเสื้อชั้นในหรือแต่งกายตามเพศสภาพได้ เพื่อป้องกันการถูกคุกคามทางเพศและขจัดการเลือกปฏิบัติในเรือนจำ