ครม. มีมติรับทราบผลดำเนินการสิทธิของมารดา กรณีบริโภคโฟลิก เอซิด

27 ก.พ.2567 - นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบตามที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เสนอสรุปผลการพิจารณา ผลการดำเนินการ ความเห็นในภาพรวมของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง กรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เรื่อง สิทธิของมารดา ในช่วงระหว่างก่อน และหลังการคลอดบุตร กรณีการบริโภคโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) มาเพื่อดำเนินการ

โดย นางรัดเกล้า กล่าวว่า กระทรวง สธ. ได้รวบรวม และสรุปผลพิจารณา ในภาพรวม ซึ่งสรุปได้ ดังนี้ 1. การผลักดันเรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิดเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ สธ. เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนานโยบายและแผนการดำเนินงานด้านการป้องกันความพิการแต่กำเนิดในระดับชาติ โดยได้จัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิด และการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ

2. การจัดให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงาน สธ. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนงานระดับประเทศในการดูแลรักษาและป้องกันเด็กพิการแต่กำเนิด นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างจัดทำคำสั่ง สธ. เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการควบคุมและป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและกรดโฟลิกอีกด้วย

3. การผลักดันให้มีการจัดทำกฎหมายสิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อน และหลังการคลอดบุตร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดให้มีรายการเพื่อป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และลดความพิการแต่กำเนิดอยู่ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

4. การสนับสนุนงบประมาณในด้านการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในระยะยาว สธ. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดสรรงบประมาณ และหาแหล่งเงินทุนเพื่อการวิจัยเกี่ยวกับวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) รวมทั้งสนับสนุนโครงการสร้างเสริมสุขภาพต่างๆ

5. การให้หน่วยงานของรัฐบูรณาการความร่วมมือในการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้หญิงวัยเจริญพันธุ์และมารดาในช่วงระหว่างก่อน และหลังการคลอดบุตรทราบถึงประโยชน์ของโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) สธ. ได้รณรงค์และประชาสัมพันธ์ ในเรื่องสิทธิและประโยชน์ของการได้รับบริการยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) กระทรวงศึกษาธิการจัดทำกรอบหลักสูตร และพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาการเรียนรู้ด้านสุขศึกษา แก่เยาวชนทุกระดับ กระทรวงแรงงานสนับสนุนการบูรณาการการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวในสถานประกอบการ และกำกับ ดูแล และส่งเสริมให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

6. การเร่งรัดดำเนินการจัดเก็บข้อมูลสุขภาพเข้าสู่ระบบคลังข้อมูลสุขภาพ (HDC) สธ. พัฒนาระบบเฝ้าระวังความพิการแต่กำเนิดระดับประเทศ จากแหล่งข้อมูลความพิการแต่กำเนิดที่เก็บรวบรวมข้อมูลจากโรงพยาบาล สังกัด สธ. ทั่วประเทศ

7. การให้มีการอบรมให้ความรู้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในชุมชน สธ. ได้ผลิตสื่อสำหรับ อสม. เพื่อใช้สื่อสารและติดตามการดำเนินงานในพื้นที่ รวมทั้งพัฒนาทักษะและให้คำปรึกษาเรื่องการเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์และความสำคัญของการได้รับวิตามินโฟลิก เอซิด (วิตามิน B9) แก่ อสม.

8. ให้ทุกจังหวัดให้ความสำคัญในเรื่องของการป้องกันความพิการแต่กำเนิด และ 9.ให้ สธ. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีจำหวัดนำร่องเรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิด ทั้งนี้ ข้อ 8 และ ข้อ 9 สธ. อยู่ระหว่างเตรียมการจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาหารือต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลขีดเส้น 30 วัน เร่งเยียวยาเกษตรกรใต้ 9.4 หมื่นราย

'อนุกูล' เผยรัฐบาลเร่งเยียวยาเกษตรกรชาวใต้หลังน้ำท่วม ตีกรอบสำรวจความเสียหาย 30 วัน รับเงินช่วยเหลือภายใน 10 วัน หลัง ธกส. อนุมัติ

ครม.อนุมัติร่างประกาศ มท. กำหนดจำนวนคนต่างด้าวขอมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ.

'นายกฯอิ๊งค์' ตอกย้ำ 'ทักษิณ' มีอิทธิพลเหนือรัฐบาล-เพื่อไทย

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เสียโอกาส การที่นายทักษิณออกมาสับแหลกพรรคร่วมรัฐบาล