กรมอุตุฯ ประกาศข้อมูลใหม่ คาดหมายลักษณะอากาศ 'ฤดูร้อน 2567'

24 ก.พ.2567 - กรมอุตุนิยมวิทยา เผยแพร่ประกาศการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ.2567 ฉบับปรับปรุงใหม่ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567

ฤดูร้อนของประเทศไทยปีนี้ เริ่มต้นในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ซึ่งจะช้ากว่าปกติประมาณ 1 สัปดาห์ และจะสิ้นสุดช่วงกลางเดือนพฤษภาคม โดยลักษณะอากาศจะร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ โดยอุณหภูมิสูงที่สุด 43.0 - 49.5 องศาเซลเซียส ส่วนมากช่วงตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม แต่จะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ในบางช่วง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลงได้ สำหรับอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน 36.0-37.0 องศาเชลเซียส ซึ่งจะสูงกว่าค่าปกติ 1.0-1.5 องศาเชลเซียส (ค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส) และจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา (ช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ.2566 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.8 องศาเซลเชียส) ส่วนปริมาณฝนรวมเฉลี่ยจะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 20

อนึ่ง ในช่วงฤดูร้อนของทุกปี มักจะเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกบางแห่ง ซึ่งสภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรได้ ส่วนปริมาณฝนที่ตกนั้น มีไม่เพียงพอกับความต้องการในหลายพื้นที่ ทั้งด้านอุปโภคและบริโภค รวมทั้งด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะพื้นที่ที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ดังนั้นประชาชนจึงควรใช้น้ำอย่างประหยัด และให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเตรียมการป้องกันสภาวะดังกล่าว

บริเวณประเทศไทยตอนบน ช่วงต้นเดือนมีนาคม จะมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ตอนกลางวัน กับมีหมอกหนาหลายพื้นที่ แต่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่จะมีกำลังอ่อน

ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนเป็นระยะๆ ประกอบกับในบางช่วงจะมีลมตะวันออกเฉียงใต้หรือลมใต้พัดพาความชื้นจากทะเลอ่าวไทยเข้าปกคลุม ทำให้มีอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ โดยอุณหภูมิสูงสุด 43.0 - 44.5 องศาเซลเซียส และจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในบางช่วง โดยจะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโซกแรง รวมทั้งอาจมีลูกเห็บตกลงในบางแห่ง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลง

ส่วนในช่วงกลางและปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนฤดู จะมีลักษณะอากาศแปรปรวน โดยยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าวเกือบทั่วไป กับมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากลมตะวันออกเฉียงใต้หรือลมใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะเริ่มเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

ภาคใต้ ช่วงเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมษายน ลมตะวันออกหรือลมตะวันออกเฉียงใต้จะพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เกือบตลอดช่วง ทำให้มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 - 30 ของพื้นที่ คลื่นลมทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร จากนั้นจนถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม จะมีฝนตกเพิ่มขึ้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคใต้เฝั่งตะวันตกจะมีฝนตกร้อยละ 60 - 80 ของพื้นที่ กับจะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง คลื่นลมในทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น บางช่วงจะมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้

ข้อควรระวัง อัคคีภัยและไฟป่า ในช่วงฤดูร้อนนี้ ลักษณะอากาศจะเอื้ออำนวยต่อการเกิดอัคคีภัยและไฟป่าได้ง่าย ประชาชนจึงควรต้องระมัดระวังการใช้เชื้อเพลิงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไว้ด้วย

อากาศร้อนจัด ช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคมจะมีอากาศร้อนจัดต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจจะทำให้เกิดภัยและโรคที่มีสาเหตุมาจากอากาศร้อน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและเปราะบาง เช่น ผู้ป่วย ผู้สูงอายุและเด็กจึงขอให้ประชาชนควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัดเป็นเวลานานๆ และหมั่นตรวจสอบดูแลคนในครอบครัวให้เตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 3 เตือนฝนถล่มภาคใต้ คลื่นลมอ่าวไทย-อันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ ฉบับที่ 3 (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567)

ลมหนาวมาต่อเนื่อง กรมอุตุฯ เผยเหนือ-อีสาน อุณหภูมิลดฮวบ 2-4 องศา

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ในช่วงวันที่ 18 - 22 พ.ย. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้

กรมอุตุฯ ออกประกาศ ฉ.1 พายุไต้ฝุ่น ‘หม่านหยี่’ บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน

พายุไต้ฝุ่น “หม่านหยี่” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 17.9 องศาเหนือ ลองจิจูด 118.9 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อากาศเปลี่ยนแปลง ‘กทม.’ อุณหภูมิลดลง ‘เหนือ-อีสาน’ หนาวเย็น ‘ภาคใต้’ ฝนตก

พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้แล้ว