23 ก.พ. 2567 – ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กำหนดให้ประเด็นสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญในปี 2567 และได้ติดตามสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก หญิงมีครรภ์ คนพิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ มาอย่างต่อเนื่อง กสม. เห็นว่า สิทธิที่จะหายใจในอากาศสะอาด (Right to breathe clean air) เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน ซึ่งรับรองโดยข้อมติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือนตุลาคม 2564 และข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 สิทธิดังกล่าวเชื่อมโยงกับสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่แล้วตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายในประเทศ โดยเฉพาะสิทธิในชีวิตและสิทธิด้านสุขภาพ ดังนั้น รัฐจึงมีพันธกรณีในการเคารพ คุ้มครอง และทำให้สิทธิดังกล่าวเป็นจริงด้วยมาตรการทางกฎหมาย บริหาร และตุลาการ
สำหรับความก้าวหน้าของประเทศไทยในการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี ล่าสุด เป็นที่น่ายินดีว่าสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 มีมติรับหลักการร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด 7 ฉบับ อันประกอบด้วย ฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ฉบับเข้าชื่อโดยภาคประชาชน และฉบับของพรรคการเมืองอีก 5 พรรค โดยปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. วาระที่สอง ซึ่ง กสม. เห็นว่าร่างกฎหมายทั้ง 7 ฉบับ โดยภาพรวมมีเนื้อหาสาระเชิงบวกที่จะช่วยให้รัฐปฏิบัติตามพันธกรณีในการส่งเสริม คุ้มครอง และทำให้ประชาชนบรรลุสิทธิที่จะหายใจในอากาศสะอาดได้
อย่างไรก็ดี กสม. มีความกังวลว่าหากการจัดทำกฎหมายไม่ได้ถูกพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการกำหนดข้อห้ามและบทลงโทษตามกฎหมายต่อกิจกรรมบางอย่าง เช่น การห้ามเผา หรือห้ามการใช้ยานพาหนะ อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต การประกอบอาชีพและสิทธิของประชาชนบางกลุ่มอย่างไม่ได้สัดส่วน และเพื่อให้มาตรการทางกฎหมายมีความครอบคลุม สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน และหลักการในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น กสม. จึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการตรากฎหมายอากาศสะอาดในประเด็นสำคัญ สรุปได้ดังนี้
การรับรองสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางสิ่งแวดล้อมไว้ในกฎหมาย ควรบัญญัติรับรองสิทธิที่จะหายใจในอากาศสะอาด สิทธิของผู้ได้รับอันตรายด้านสุขภาพจากภาวะมลพิษทางอากาศในการเข้าถึงระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและไม่เสียค่าใช้จ่าย สิทธิของกลุ่มเปราะบางที่จะได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือจากรัฐเพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิได้เท่าเทียมกับคนอื่น และสิทธิเชิงกระบวนการ (Procedural Rights) ที่อย่างน้อยควรครอบคลุมสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อม และสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เห็นควรบัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวในขั้นตอนของการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ตามกฎหมายด้วย
การปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการตามกฎหมาย ทั้งในส่วนคณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด และคณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร เห็นควรให้มีกรรมการโดยตำแหน่งไม่มากจนเกินไป นอกจากนั้นควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศอย่างสมดุล
การลดและควบคุมมลพิษในอากาศจากแหล่งกำเนิด ควรเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดมาตรฐานและวิธีปฏิบัติในการลดและควบคุมมลพิษในอากาศจากแหล่งกำเนิดประเภทต่าง ๆ และในส่วนของการห้ามเผาในที่โล่ง ควรให้บทบาทแก่ท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณาอนุญาต โดยให้คำนึงถึงความรุนแรงของสภาวะมลพิษ วิถีวัฒนธรรม ความเป็นธรรมและเหลื่อมล้ำทางสังคม ความจำเป็นในการเผาในที่โล่ง และผลกระทบต่อประชาชนในบริเวณใกล้เคียง ส่วนการสั่งห้ามใช้ยานพาหนะ ควรเปิดช่องให้มีการออกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นนอกจากการสั่งห้ามใช้ยานพาหนะ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการบังคับใช้มาตรการและไม่ให้เกิดผลกระทบจนเกินสมควรต่อกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยานพาหนะในการประกอบอาชีพ
การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน ควรพิจารณาทั้งในมิติการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจากประเทศอื่นที่ส่งผลกระทบเข้ามายังประเทศไทยและจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่น
การกำหนดเขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษทางอากาศ ควรให้ภาคส่วนอื่น รวมถึงองค์กรเอกชนหรือองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา หรือภาคประชาสังคม มีสิทธิเสนอให้คณะกรรมการอากาศสะอาดฯ พิจารณาประกาศเขตดังกล่าวได้
การกำหนดเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด เพื่อการจูงใจให้มีการปรับเปลี่ยนวิถี การผลิต หรือกิจกรรมที่ก่อมลพิษเพื่อนำไปสู่มาตรฐานที่ลดการสร้างมลพิษทางอากาศ กสม. เห็นด้วยกับการเน้นย้ำถึงความรับผิดชอบของผู้ก่อมลพิษตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle) ซึ่งร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีได้กำหนดไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ควรนำร่างกฎหมายของภาคประชาชนมาเป็นแนวทางในการบัญญัติเพิ่มเติมในส่วนนี้
การจัดตั้งกองทุนอากาศสะอาด เห็นควรจัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เป็นแหล่งเงินทุนรองรับเงินที่ได้จากผู้ที่ก่อหรือมีแนวโน้มที่จะก่อมลพิษทางอากาศ และเป็นแหล่งเงินทุนที่สามารถใช้จ่ายในการดำเนินการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ทั้งในเชิงการป้องกัน แก้ไขปัญหา และฟื้นฟูเยียวยาความเสียหาย
นอกจากนี้ ในเรื่องความรับผิดและบทกำหนดโทษตามกฎหมาย ควรคำนึงถึงหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย และหลักความเป็นธรรม รวมถึงควรยกเลิกการใช้โทษทางอาญา และเปลี่ยนโทษปรับเป็นพินัย ซึ่งเอื้อให้เกิดการบังคับโทษอย่างเป็นธรรมและเหมาะสมกับผู้กระทำความผิดแต่ละรายมากกว่า นอกจากนี้ ควรยกเลิกความผิดฐานแพร่หรือไขข่าวที่ไม่เป็นความจริง (ร่างมาตรา 81) เพราะเสี่ยงที่จะถูกใช้ฟ้องเพื่อปิดปาก (SLAPP) นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งยังซ้ำซ้อนกับกฎหมายที่มีอยู่แล้ว
ทั้งนี้ กสม. จะแจ้งข้อเสนอแนะดังกล่าวไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สภาสูง ยั๊วะ รัฐบาล ข้ามหัว เทตอบ 5 กระทู้ ‘ยุคล’ ตั้งฉายา ‘นายกฯนินจา’ หนีสภา
‘สภาสูง’ ยั๊วะ รบ.ข้ามหัว เทตอบ 5กระทู้ ‘ยุคล’ ตั้งฉายา ‘นายกฯ นินจา’ หนีสภา ‘หมอเปรม’ อาลัย ‘แพทองโพย’ ไร้รับผิดชอบ แขวะใส่ชุดนอนตรวจทหาร หิ้วผัวใต้ออกงาน
‘กนก’ สะท้อน ปัญหาความยุติธรรมโดยกฎหมาย บังคับใช้ กม.มากกว่าตัวบทของ กม.
ประเด็นที่เกิดคำถามต่อไป คือกฏหมายมุ่งเน้นบังคับไม่ให้คนกระทำผิด มากกว่าการทำให้คนกระทำผิดเป็นคนดี ใช่หรือไม่
'กทม.-20 จังหวัด' อ่วม! ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้
ดร.ณัฏฐ์ ชี้ชัด 'ประชามติชั้นเดียว' แค่ยกแรก 'แก้รธน.ทั้งฉบับ' เจอด่านหิน-นโยบายขายฝัน!
“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ กลไกแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับผ่านด่านหินยาก แม้เพื่อไทยใช้เทคนิคช่องทางพ้น 180 วัน ผ่านร่าง พรบ.ประชามติ เป็นเพียงนโยบายในฝัน
เอาแล้ว! ชำแหละผลโหวตประชามติ รทสช. 25 คนล่องหน
เปิดผลโหวตกม.ประชามติ ภท.งัดมติวิปรัฐบาล ไฟเขียวร่าง กม.ประชามติ ฉบับกมธ.ร่วมฯ พบ 2 สส.ไทยสร้างไทยเอาด้วย ผงะ รทสช. 25 คนล่องหน
'พริษฐ์' ชักแม่น้ำทั้งห้าชวนรัฐบาลยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประกบ
'พริษฐ์' แนะ 'รัฐบาล' ควรยื่นร่างแก้ไข รธน.เกี่ยวข้องกับ ส.ส.ร. ประกบฝ่ายค้าน มอง มี 2 ด่านต้องผ่าน ชี้ 'นายกฯ' ต้องเป็นผู้ยุติร้อยร้าว เชื่อยิ่งร่วมมือฝ่าฟันเท่าไหร่ โอกาสสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น