เอกชนปลื้ม 'จุรินทร์' ดัน SMEs กลุ่ม BCG ทั่วไทย สู่เวทีการค้ายุคใหม่

“จุรินทร์”  ชูสองยุทธศาสตร์  “BCG” และ  “E-Commerce” เป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนผู้ประกอบการไทยให้ตอบโจทย์ตลาดโลก สร้างนักธุรกิจยุคใหม่ที่ต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับจุดแข็งของท้องถิ่นทั้งด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม

26 ธ.ค.2564 – นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการค้าอย่างยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการไทยจากทั่วทุกภูมิภาคเพื่อตอบสนองต่อแนวโน้มการค้าโลกและความต้องการของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เช่น Climate Change, Green Trade, Carbon Neutrality, Sustainability เป็นต้น

นางมัลลิกา กล่าวว่า โดยนายจุรินทร์ได้วางกลยุทธ์ดันประเทศไทยให้มีภาพลักษณ์ทางการค้าที่ดีในเวทีสากล เป็นที่เชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลก โดยยกโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวทางที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพ SMEs ไทยในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมของไทย นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งเสริมการขยายตลาดสินค้ากลุ่ม BCG ในยุค New Normal ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ การเจรจาการค้าออนไลน์ (OBM) เป็นต้น ซึ่งนับว่าได้รับการตอบรับจากภาคเอกชนอย่างดี มีผู้ประกอบการให้ความสนใจมากเกินคาด

“ล่าสุด ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ ดำเนินโครงการ เศรษฐกิจแพลตฟอร์มขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ผู้นำ BCG ยุคใหม่ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้ปรับตัวสู่การเป็นผู้ประกอบการ BCG เป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการกว่า 2,000 ราย สร้างมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ผ่าน 61 กิจกรรม อันนี้คือเป้าระยะสั้นที่เห็นอยู่ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาองค์ความรู้ผู้ประกอบการ การพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรม การออกแบบ และการสร้างแบรนด์ ตามแนวคิด BCG การพัฒนาช่องทางการตลาดออนไลน์ และการประชาสัมพันธ์ยกระดับภาพลักษณ์ประเทศไทยด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการภายใต้บริบทการค้ายุคใหม่ ที่กระแสรักษ์โลก และเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นเมกะเทรนด์ของโลก และช่วยขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ” นางมัลลิกา กล่าว

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุด้วยว่า นโยบายของรองนายกฯจุรินทร์  สำหรับการดำเนินโครงการ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ (1) การพัฒนาคนและสินค้า เช่น เพิ่มองค์ความรู้ด้าน BCG ในหลักสูตร NEA รวมทั้งเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ประกอบการระหว่างกรมเพื่อส่งต่อให้ได้รับการพัฒนารอบด้าน อาทิ GI OTOP Select เกษตรกร FARM OUTLET APi ตลอดจนเชื่อมโยงกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามนโยบาย เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด  รวมถึงหน่วยงานวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้กรอบความร่วมมือ MOU ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และอีก 7 หน่วยงานภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว.

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า ระยะที่ (2) การประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์และสร้างความรู้ความเข้าใจ อาทิ การเผยแพร่วิดิโอให้ความรู้  BCG คืออะไร ฉบับผู้ประกอบการ” การจัดทำ Checklist และการรวบรวมแคตตาล็อกรวมรายชื่อผู้ประกอบการ BCG Heroes ตลอดจนการจัดทำแคมเปญเชิญชวนร่วมเป็นผู้ประกอบการ BCG #BetheChanGe และระยะที่ (3) การส่งเสริมการขายผ่านช่องทางออนไลน์ อาทิ การจัดเจรจาการค้าออนไลน์ผ่าน Thaitrade.com Shoppee Lazada รวมถึงพันธมิตรในต่างประเทศ โดยมีสินค้านำร่องศักยภาพ 5 กลุ่ม คือ อาหารแห่งอนาคต อาหารสัตว์เลี้ยง บรรจุภัณฑ์ ไลฟ์สไตล์ และเครื่องสำอางสมุนไพร และกลุ่มคนเป้าหมาย อาทิ ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ เป็นต้น

นางมัลลิกา บอกว่า สำหรับ BCG Model หรือ Bio – Circular – Green Economy คือ โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว เป็นแนวคิดขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่รัฐบาลได้หยิบยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติเมื่อต้นปี 2564 มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมสูงได้อย่างคุ้มค่า เกิดการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบต่างๆ ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เกิดการสร้างงานและการพัฒนาที่ทั่วถึง มีความรับผิดชอบ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาสภาพแวดล้อมให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์ต่อไป ช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นประเด็นหลักในเวทีการค้าโลกปัจจุบัน โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นายจุรินทร์  ให้ความสำคัญเป็นนโยบายหลักกระทรวงพาณิชย์เนื่องจากต้องเจรจาการค้ากับคู่ค้าทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญกับ Bio – Circular – Green Economy หรือโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว เป็นเทรนด์ของโลกและความยั่งยืนของภาคธุรกิจที่รัฐบาลทั่วโลกส่งเสริมและเป็นพันธกิจร่วมกันในหลายข้อตกลงของกลุ่มประเทศต่างๆ สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อไปยังกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1169 หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์  www.ditp.go.th

“ความจริงแล้วเมื่อพูดถึงด้านนี้ ในระดับโลกจะพูดถึงเรื่องการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ประเทศเศรษฐกิจ​สำคัญมีการผลักดันพลังงานสะอาดอย่างจริงจัง ทำให้ clean energy เป็นวาระหลักของหลายประเทศ มีการส่งเสริม Solar roof,Solar farm ,Biogas, Biomass และพลังงานสีเขียวอื่นๆ  เป็นต้น เพราะเป็นเรื่องที่สามารถจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศได้ แต่ในส่วนนี้เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงอื่น ๆ และถ้าต้องการความร่วมมือตามโมเดลนี้ ทางกระทรวงเกษตรและพาณิชย์ก็พร้อมที่จะยกระดับพื้นที่ของเกษตรกรให้มีทางเลือกในการปลูกพืชทางเลือกด้านพลังงานเช่นกัน และสำหรับหน้าที่ซึ่งอยู่ตรงหน้าของเราเวลานี้คือกระทรวงพาณิชย์ในส่วนที่เรารับผิดชอบจุดนี้เราเดินหน้านโยบายส่งเสริมการผู้ประกอบการและสร้างโอกาสทางการค้าตามโมเดลด้วยความรับผิดชอบ เพราะถือเป็นพันธกิจระดับโลกและนโยบายรัฐบาลไทยที่สอดคล้องกันโดยเราจะดำเนินนโยบายรองนายกฯจุรินทร์ อย่างสุดความสามารถ ”  นางมัลลิกา กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ททท. จัดประกวดกระทงสร้างสรรค์รักษ์โลก ในงาน 'สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ปี 2567'คลองผดุงกรุงเกษม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงานลอยกระทง “สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ปี 2567” ระหว่างวันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2567 โดยไฮไลท์วันสุดท้าย มีการประกวดกระทงสร้างสรรค์รักษ์โลก