ผงะ! กาชาด 11 วันที่สวนลุมฯ ทิ้งขยะรวม 318 ตัน

20 ธ.ค.2566 – เพจกรุงเทพมหานครโพสต์เนื้อหาและรูป ว่า กทม.ขอบคุณประชาชนร่วมแยกขยะในงานกาชาด 2566 ตามแนวทาง “ไม่เทรวม” และ “กรีนอีเวนต์” เผยสถิติ 11 วัน 318 ตัน

นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและโฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยสถิติขยะภายหลังสิ้นสุดงานกาชาดประจำปี 2566 ว่า กรุงเทพมหานครโดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้ทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลรักษาความสะอาดและจัดการขยะภายในงานร่วมกับสำนักงานเขต 50 เขต ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการขยะแบบ “ไม่เทรวม” และ “กรีนอีเวนต์” โดยมีการขอความร่วมมือหน่วยงาน ร้านค้า ผู้มาเที่ยวงาน คัดแยกขยะ และจัดเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำการคัดแยกขยะตามจุดต่าง ๆ รวม 44 จุด เพื่อให้ทุกคนสามารถทิ้งขยะลงถังได้ถูกประเภท

สำหรับประเภทของถังขยะในแต่ละจุดภายในงาน ประกอบด้วย ถังสีเหลือง สำหรับขยะรีไซเคิล ถังสีเขียว สำหรับขยะอินทรีย์ ถังสีฟ้า สำหรับขยะทั่วไป ซึ่งขยะที่มีการแยกประเภทเรียบร้อยแล้วจะถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี โดยขยะเศษอาหาร สำนักงานเขตนำไปทำปุ๋ย ส่วนที่เหลือนำเข้าโรงงานหมักทำปุ๋ยอินทรีย์ของกรุงเทพมหานคร ขวดพลาสติกใส คัดแยกเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ขยะรีไซเคิลประเภทอื่น ส่งกลับเข้าสู่ระบบกระบวนการรีไซเคิลให้ใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ส่วนขยะทั่วไป ได้รวบรวมส่งกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะ

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการจัดงานกาชาดที่สวนลุมพินี ตั้งแต่วันที่ 8-18 ธันวาคม 2566 รวมทั้งสิ้น 11 วัน กรุงเทพมหานครสามารถจัดเก็บขยะได้ทั้งหมด 318 ตัน หรือ 317,904.2 กิโลกรัม เฉลี่ยวันละ 28,900.38 กิโลกรัม (28.90 ตัน) แบ่งเป็น ขยะทั่วไป 293,989 กิโลกรัม (92.48%) ขยะรีไซเคิล 14,984.5 กิโลกรัม (4.71%) ขยะเศษอาหาร 8,930.7 กิโลกรัม (2.81%)

“การแยกขยะนอกจากจะช่วยให้เกิดความสะอาด รักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการช่วยลดโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย ต้องขอขอบคุณประชาชนที่ช่วยกันแยกขยะและทิ้งในจุดที่จัดเตรียมไว้ ทำให้สามารถบริหารจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพตามแนวทางไม่เทรวมและกรีนอีเวนต์ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการบริหารจัดการขยะงานแฟร์และงานมหกรรมอื่น ๆ ต่อไป” นายเอกวรัญญู กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กทม. เฝ้าระวัง16 ชุมชน 731 ครัวเรือน รับมือน้ำล้นตลิ่ง

กรุงเทพมหานคร แจ้งการเฝ้าระวัง 13-23 ต.ค. 67 เฝ้าระวัง 16 ชุมชน 731 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต นอกคันกั้นน้ำ ยกของขึ้นที่สูง ตรวจสอบปลั๊กไฟและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด